posttoday

"ศิธา" ชูนโยบาย 3 P - บำนาญประชาชน

06 เมษายน 2565

"ศิธา ทิวารี" ผู้สมัครผู้ว่ากทม.หมายเลข 11 ชูนโยบาย 3 P "People-Profit-Planet ผลักดันแจก "บำนาญประชาชน" ประกาศแพ็คเกจนโยบายทางสังคม โดยคนกรุงร่วมกำหนด

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 65 น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่า กทม. หมายเลข 11 กล่าวเสนอนโยบายทางสังคม บนเวทีสาธารณะ "เสนอไป-แถลงมา นโยบายทางสังคมของผู้ว่าฯ กทม." จัดโดย สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ฯ

น.ต.ศิธา กล่าวถึงนโยบาย 3 P คือ people การสร้างคน , Profit สร้างมหานครแห่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และ Planet สร้างคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพอย่างยั่งยืน ซึ่งคนทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างเมือง ผ่านการเสนอโครงการที่ตรงกับความต้องการของพื้นที่, การมีส่วนจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนการปรับลดปลดย้ายข้าราชการ ด้วย

"เมืองไม่สามารถสร้างได้ด้วยซุปเปอร์ฮีโร่ 1 คน ผู้คนต่างหากที่เป็นคนสร้างเหมือง NGO ,คนที่ทำงานเพื่อสังคม คุณคือคนที่มีความรู้มีความคิดดีๆที่ทำให้กับเมือง กฎหมายอันไหนที่บล็อก ก็ต้องแก้ไข อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เราจะร่วมสร้างคนสร้างเมืองไปด้วยกัน คือแคมเปญที่บอกว่า ผมจะทำในสิ่งที่ผู้ว่า กทม.ไม่เคยทำ"

น.ต.ศิธายืนยันว่า ต้องให้โอกาสผู้หญิงในการเปลี่ยนและสร้างประชาชนที่มีคุณภาพให้กับประเทศ การลงทุนกับเด็กและการศึกษา ที่คนมักจะพูดถึง ความเป็นเลิศทางด้านการศึกษา แต่ความเป็นเลิศอาจจะเป็นบ่อเกิดของความไม่เท่าเทียมกันได้ ดังนั้น ตนจะทำให้โรงเรียน กทม.ทุกแห่งมีคุณภาพทัดเทียมเท่ากับโรงเรียนเอกชน มีอาหารที่ปลอดภัยถูกสุขลักษณะ

น.ต.ศิธา ระบุว่า ผู้พิการคือคนที่กำลังถูกทิ้งไว้อยู่ข้างหลัง การลงทุนผ่านสิ่งปลูกสร้างที่ลงทุนเป็นพันเป็นหมื่นล้าน ถ้าเจียดมาแค่ไม่ถึง 5 % ที่ใช้มาดูแลก็เพียงพอและทำในสิ่งปลูกสร้างให้สามารถไปใช้ร่วมกันได้ ดังนั้น ผู้ว่า กทม.ทำได้ 2 อย่างคือ ไม่กดทับอัตลักษณ์ที่แตกต่าง กับปลดปล่อยให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนอื่น

"ความคิดความอ่านของคนพิการไม่ได้ด้อยกว่าคนปกติเลย เราจะเห็นว่าคนที่เขาเสียเปรียบบางอย่างในสังคม เขาจะทุ่มเทในทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อทำให้เขาสามารถที่จะกลับเข้ามาอยู่กับมันได้ เขามีความคิดที่จะพัฒนา แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองตั้งแต่ระดับรัฐบาล ,กทม.ไม่เคยเห็นความสำคัญ"

พร้อมย้ำว่า จะเปลี่ยนเจ้าหน้าที่เทศกิจจากคนที่ไปตรวจสอบเอาผิดหาบเร่แผงลอยให้มาสนับสนุนให้ชาวบ้านทำมาหากินได้ ส่วนคำถามที่บอกว่า อยากเป็นหุ้นส่วนในการสร้างกรุงเทพฯ เวลาได้เป็นผู้ว่าแล้วจะได้เจอกันไหมนั้น

"ผมบอกเลยว่า ท่านจะเจอจนเบื่อ กระทั่งบอกว่าผู้ว่าฯมาอีกแล้วเหรอ?...คลังสมองของผมคือคนที่ทำงานเพื่อสังคมทุกคน คือ NGO คือคนกลุ่มต่างๆ โดยใช้ระบบเทคโนโลยีเอาความคิดเห็นทั้งหมดมาช่วยในการกำหนดงบประมาณของ กทม.มาช่วยในการ เลื่อนลดปลดย้ายข้าราชการ กทม .ในทุกส่วน"

น.ต.ศิธากล่าวด้วยว่า ตนเป็นอดีตข้าราชการเข้าใจระบบงานราชการและเป็นอดีต ส.ส.ซึ่งคลุกคลีกับชุมชนเมือง โดยเฉพาะพื้นที่คลองเตย รวมถึงเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงเข้าใจความทุกข์ยากโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและต้องการสร้างสวัสดิการให้ประชาชน ตนลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่สังกัดพรรคการเมืองอย่างเปิดเผย โดยพรรคไทยสร้างไทย เสนอและจะผลักดัน "บำนาญประชาชน" เป็นพรรคแรก ตาม concept ที่ไม่ได้ช่วยผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่จะ "สร้างความมั่นคงให้ผู้สูงวัยและจะสร้างความสุขใจให้ลูกหลาน" ส่วน "กองทุนพัฒนาสตรี" ยืนยันว่า สามารถจัดงบฯไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทจาก 80,000 ล้านบาทที่ กทม.มีอยู่มาดำเนินการได้อย่างแน่นอน

"ผมว่าต่ำกว่าร้อยล้านไม่ได้และก็บอกเลยว่ามีความจำเป็นต้องใช้ ผมเชื่อว่ามากกว่า ส่วนจะมากกว่าเท่าไหร่ตัดสินใจอย่างไร มีระบบเทคโนโลยีมาใช้ เอาพี่น้องประชาชน เอาคนที่มีส่วนร่วม คนที่มีส่วนได้เสีย คนที่มีความรู้ในแต่ละด้าน คนที่มีจิตอาสาในเรื่องที่ตัวเองทำมาทั้งชีวิตแล้วไม่เคยได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ มาเป็นผู้ที่ร่วมใจร่วมคิดร่วมทำกับ กทม.และกำหนดนโยบายถ้ากำหนดออกมาแล้ว ในการจัดสรรงบฯ ถ้าไม่พอก็ต้องขอจากรัฐบาลหรือว่าจัดเตรียมงบฯตรงไหนมา เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำได้แน่ๆและเราให้มากกว่า 100 ล้านแน่ๆ"

ส่วนจุดเสี่ยงใน กทม. ซึ่งมีภาคประชาสังคมสำรวจแล้วพบกว่า 600 จุด แนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเป็นความล้มเหลวของระบบราชการ ถ้าตนเป็นผู้ว่าฯ กทม.จุดเสี่ยงที่เพิ่มเข้าไม่ว่าเท่าไหร่ จะต้องลดลงตลอด ซึ่งมีการวางระบบและบุคลากรดูแลใช้งบประมาณจุดละ 10,000 บาทต่อเดือน หากมี 600 จุดก็เท่ากับ 6 ล้านบาทซึ่งความจริงสามารถจัดงบประมาณดูแลแต่ละแห่งให้มากกว่านี้ได้

น.ต.ศิธา ยังกล่าวถึงศูนย์เด็กเล็กใน กทม .ด้วยว่า เกี่ยวพันกับปากท้องของประชาชนที่เป็นพ่อแม่ จึงจะต้องบริหารให้พ่อแม่อุ่นใจว่าลูกได้ทั้งความรู้ความปลอดภัยโภชนาการและมีการออกกำลังกาย ส่วนผู้หญิงที่มีลูกจะต้องได้ลดเวลางาน เพื่อที่จะกลับไปดูแลลูก โดยจะนำนโยบายด้านสังคมของพรรคไทยสร้างไทย เข้ามาบรรจุใน กทม.และเสนอต่อรัฐบาลด้วย

น.ต.ศิธา ยืนยันด้วยว่า หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะ ผลักดันบทบาทของสตรี ในองค์กรต่างๆ ให้ขึ้นมาทำหน้าที่มากยิ่งขึ้น โดยนำร่องระบบบริหารองค์กรอัตโนมัติ หรือองค์กรที่กระจายอำนาจ ให้องค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิง เป็นผู้เสนอตัวบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาทำงาน ซึ่งจะมีเทคโนโลยี 'บล็อกเชน' ที่ทุกคนสามารถออกความเห็นโดยที่ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขหรือบิดเบือนได้ และคณะทำงานต้องทำงานเพื่อคน กทม.โดยคน กทม.เป็นผู้กำหนด ซึ่งจำเป็นต้องทุบหม้อข้าวของนักการเมืองหรือผู้แสวงหาประโยชน์ทางการเมือง โดยหลักคิดพรรคไทยสร้างไทย ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และสร้างพลังให้ประชาชน EMPOWER และการปลดปล่อย LIBERATE พันธการจากรัฐราชการ และกฎหมายที่กดทับโอกาสโดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย

"ผมไม่ได้ต้องการที่จะตั้งคณะทำงานของผู้ว่าฯ กทม.มาเพื่อจะมาสนับสนุนพรรคการเมือง ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อจะมาถอนทุน และผมไม่ต้องไปตอบแทนบุญคุณใครหรือนายทุน เพราะ พรรคไทยสร้างไทย เราทำของเรา ในระบบของเราเอง"

"ผมจะแก้ปัญหาของ กทม.ที่เป็นภูเขาน้ำแข็ง จะทลายจากข้างล่าง จะทุบหม้อข้าวของนักการเมืองที่ทำงานเหมือนลูบหน้าปะจมูก,ปากว่าตาขยิบ หรือ ทำงานแบบไก่เห็นตีนงูงูเห็นนมไก่..ผมจะทุบหม้อข้าวเหล่านี้ให้หมด ผมยืนยันว่า ผมจะทำในสิ่งที่ผู้ว่า กทม.ไม่ทำและจะกระจายอำนาจให้ประชาชนเข้ามาร่วมบริหาร กทม.ทำให้เมืองหลวงของประเทศไทย เจริญทัดเทียมกับมหานครฯทั่วโลก " น.ต.ศิธา กล่าว /