ความเปลี่ยนแปลงของสยามประเทศในสมัย ร.4 สู่ความรุ่งเรืองแบบวิชาการสมัยใหม่
โดย...สมาน สุดโต
คนไทยหรือชาวสยามเข้าสู่ยุคเปลี่ยนแปลงทางความคิดใหม่ๆ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อพระองค์ทรงศึกษาและรับวิทยาการสมัยใหม่ (ทันโลก) จากบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่มาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ 4
ผมฟังข้อมูลนี้และดูพื้นที่จริงเมื่อกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดโครงการศึกษาและดูงานทางน้ำ ฝรั่งในบางกอกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2565 โดยเริ่มต้นที่วัดสมอราย หรือวัดราชาธิวาส ที่เคยเป็นที่ประทับ พระวชิรญาณภิกขุ หรือพระเจ้าฟ้ามงกุฎ
ในช่วงสมัยนั้นได้เกิดรอยต่อทางความคิดแบบวิชาการสมัยใหม่ ที่ทันโลกขึ้นมา เมื่อวชิรญาณภิกขุได้ยินกิตติศัพท์ว่าบาทหลวงปาเลอกัว ประมุขมิสซังสยาม นิกายโรมันคาทอลิก มีความรู้ทางด้านวิทยาการสมัยใหม่ วิทยาศาตร์ และภาษาต่างๆ ประกอบกับท่านอยู่ที่โบสถ์คอนเซปชัญ ติดกับวัดสมอรายที่มีลำคลองเล็กๆ เป็นเส้นแบ่งระหว่างวัดไทยกับวัดคาทอลิกเท่านั้น
พระวชิรญาณภิกขุจึงเชิญบาทหลวงปาเลอกัว มายังวัดสมอราย เมื่อนักปราชญ์เจอนักปราชญ์ จึงเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พระวชิรญาณภิกขุทรงเรียนวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และละติน จากบาทหลวง ส่วนบาทหลวงก็ขอเรียนภาษาไทย ภาษาบาลี จากวชิรญาณภิกขุ
วิธีการเรียนนั้น บางครั้งพระวชิรญาณภิกขุเสด็จวัดคอนเซ็ปชัญ เช่นเดียวกัน สังฆราชปาเลอกัว ก็เดินทางมาถวายความรู้ถึงที่ประทับในวัดสมอรายไม่มีข้อมูลทั้ง 2 แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนานแค่ไหน ส่วนความรู้ความสามารถวัดได้หลังจากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะมีของจริงพิสูจน์ให้เห็น
เมื่อพระวชิรญาณภิกขุ จากวัดสมอราย ไปครองวัดบวรนิเวศวิหาร (เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารรูปแรก) ตามพระบรมราชโองการรัชกาลที่ 3 และเมื่อรัชกาลที่ 3 สวรรคตก็ได้รับความไว้วางใจจากอำมาตย์ มนตรีทั้งหลายให้ทรงลาสิกขาไปครองราชสมบัติ เป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2394
ในระหว่างทรงครองราชเป็นยุคสมัยความรุ่งเรืองทางการทูต การค้า และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น พระราชินีแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษส่งเซอร์จอห์น เบาริ่ง มาเป็นเอกอัครราชทูต พ.ศ.2398 มีการลงนามในสัญญาเรียกว่า สัญญาเบาริ่ง มีผลให้สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรปทยอยมาลงนามในสัญญากับราชอาณาจักรสยามหลายประเทศด้วยกัน
เมื่อ พ.ศ. 2411 ทรงใช้วิชาดาราศาสตร์คำนวนสุริยุปราคาเต็มดวง ได้แม่นยำ และเสด็จไปทอดพระเนตร ณ ตำบลหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งนานาชาติสรรเสริญพระอัจฉริยภาพกันมาก
ต่อมาทรงได้รับถวายพระราชสมัญญานามว่า พระบิดาวิทยาศาสตร์ไทย กล่าวถึงสังฆราชปาเลอกัว เมื่อกลับประเทศฝรั่งเศส ได้นำความรู้ภาษาไทยและบาลีที่ศึกษาจากวชิรญาณภิกขุ หรือ เจ้าฟ้ามงกุฎ ไปแต่งพจนานุกรม 4 ภาษาคือ ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส และละติน พิมพ์ที่ฝรั่งเศส ชื่อว่า สัพะ พะจะนะ พาสาไท เมื่อ พ ศ.2397 เป็นพจนานุกรมขนาดใหญ่ หนา 897 หน้า ท่านจึงได้รับสมัญญานามว่า ปฐมาจารย์ด้านพจนานุกรม 4 ภาษา ของประเทศไทย
ผมแวะไปโบสถ์คอนเซปชัญเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม พบข้อความว่า ที่ตั้งของโบสถ์เป็นที่ดินที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา พระราชทาน เพื่อสร้างโบสถ์หลังแรกเมื่อ พ.ศ.2219 ส่วนโบสถ์หลังปัจจุบันสร้าง พ.ศ.2397
ที่เล่ามานี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาดูงานทางน้ำ จากย่านวัดญวน สามเสน ถึงวัดกาลหว่าร์ ตลาดน้อย เพื่อศึกษางาน ฝรั่งในบางกอก จัดโดยกรมสารนิเทศ ที่มีท่านทูตธานี แสงรัตน์ เป็นอธิบดีอยู่ ก็ขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ