posttoday

เปิดข้อสรุปสถานการณ์ "โอมิครอน" มีโอกาสเข้าสู่ช่วงปลายของการระบาด

25 มกราคม 2565

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ เผยข้อสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ของสายพันธุ์โอมิครอน ย้ำกุญแจสำคัญในการเอาชนะเชื้อคือการฉีดวัคซีนให้ครบ ระบุแนวโน้มมีโอกาสสูงที่เข้าสู่ช่วงปลายการแพร่ระบาดของโควิด

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 65ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของสายพันธุ์ โอมิครอน ทั่วโลก 2 เดือนหลังการแพร่ระบาด โดยระบุว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า โอมิครอนระบาดหนักในทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นสายพันธุ์หลักในการระบาดแล้ว ขณะที่ทวีปอื่นก็ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นของการระบาด ส่วนทวีปแอฟริกา อยู่ในช่วงขาลงของการระบาดแล้ว

สถานการณ์ระบาดในไทย วันนี้มีผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับ 7,000-8,000คน ขณะที่อัตราเสียชีวิตอยู่ในในยังไม่แตะถึงหลัก 20 หวังว่า ตัวเลขจะค่อยๆลดลง วันนี้เราฉีดวัคซีนไปจำนวนมาก และไม่ได้ด้อยไปกว่าคนอื่นในการบริหารจัดการโควิด-19

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ยังได้ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับโอมิครอนไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

-โอมิครอนแพร่ระบาดได้เร็วกว่า เดลต้า โดยไม่ได้สัมพันธ์กับปริมาณไวรัสในผู้ติดเชื้อ

-ความจำเป็นต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล น้อยกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ เดลต้า (ประมาณเพียง 1/3 ถึง 1/2) และอาการรุนแรงน้อยกว่า

-ความสามารถหลบจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (ทั้งภูมิที่เกิดจากการหายจากการติดเชื้อหรือที่เกิดจากการฉีดวัคซีน) ได้มากกว่า สายพันธุ์ เดลต้า เป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งของการแพร่ระบาดได้เร็วของ โอมิครอน

-อาการที่พบบ่อยในการติดเชื้อสายพันธุ์ โอมิครอน คือ น้ำมูกไหล ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัว จามบ่อยและเจ็บคอ ส่วนอาการไข้สูง ไม่ได้กลิ่นหรือไม่ได้รสพบไม่บ่อยเหมือน เดลต้า

-การศึกษาในสัตว์พบว่าเชื้อ โอมิครอน มักก่อนให้เกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงปอดมากเหมือนเดลต้า (เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาการ ความรุนแรง ไม่ค่อยเหมือนกัน)

-การศึกษาจาก Imperial College ในกรุงลอนดอน พบว่า การจะมีภูมิคุ้มกันที่ช่วยลดการติดเชื้อ หรือการติดเชื้อที่มีอาการมาก จำต้องได้รับการฉีดวัคซีน 3 เข็ม (2เข็ม พื้นฐาน และกระตุ้น 1 เข็ม) และระยะห่างจากเข็มที่สองประมาณ 3 เดือน แต่ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อเสนอแนะว่าให้ฉีดทุก 3-6 เดือน

-งานการศึกษาผลของการฉีด Az และ Pfizer ที่ Imperial College พบว่าจะป้องกันการเกิดการติดเชื้อที่มีอาการของ โอมิครอน ได้ผล 0-20% แต่จะเพิ่มเป็น 55-80% เมื่อได้รับการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3

-ในการจะชนะ โอมิครอน พลโลกส่วนใหญ่ควรได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบ ไม่ใช่มีการฉีดเฉพาะในประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจสังคมที่ดีเท่านั้น

-การหวังให้เกิดมีภูมิคุ้มกันโดยการติดเชื้อ เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เพราะอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต

-Long COVID เป็นกลุ่มอาการที่พบได้หลังจากการติดเชื้อ COVID อาจพบได้เป็นสัปดาห์ หรือ เป็นเดือนๆ มีมากกว่า 50 อาการที่ พบ ระยะเวลาที่มีอาการที่จะถือว่าเป็น Long COVID ในสหราชอาณาจักร ถือว่าไม่น้อยกว่า 3 เดือน แต่ในสหรัฐอเมริกา 4สัปดาห์ขึ้นไป ถือว่าเป็นแล้ว การได้รับการฉีดวัคซีนครบ ช่วยลดโอกาสเกิด Long COVID ได้ถึง 49%

-ยาที่มีรายงานว่าได้ผลดีต่อ โอมิครอย คือ Favipiravir, Molnupiravir, Nirmatrelvir,Paxlovid กลุ่ม Monoclonal antibody ตามรายงานของ US-FDA ที่ได้ผลดีต่อ โอมิครอนคือ Sotrovimab ส่วนยาที่มีรายงานว่าอาจไม่ได้ผลคือ Regeneron

เปิดข้อสรุปสถานการณ์ "โอมิครอน" มีโอกาสเข้าสู่ช่วงปลายของการระบาด

สถานการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้น

จากข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา พอจะสรุปได้ดังนี้

-ผลจากการแพร่ระบาดที่เร็วมากของ โอมิครอน แต่ก่อให้เกิดอาการ/ความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า ทำให้มีโอกาสสูงที่เข้าสู่ช่วงปลายของการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากผลรวมของประชากรโลกที่มีภูมิคุ้มกัน ทั้งจากการฉีดวัคซีนและหายจาการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง

-การหวังให้เกิดมีภูมิคุ้มกันโดยการติดเชื้อ เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เพราะอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต (ผู้ติดเชื้อและผู้ได้รับการแพร่เชื้อ)

-วิถีการใช้ชีวิตและวิถีการทำงานของคนจำนวนมาก มีแนวโน้มไม่กลับมาเป็นปกติในรูปแบบก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เป็นปกติรูปแบบใหม่ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง (รวมถึงการเกิดการแพร่ระบาดจากเชื้อโรคใหม่) และจำเป็นรูปแบบที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (เมื่อฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริม/การสร้างสุขภาพ การรักษาความสะอาด/สุขอนามัย

-เทคโนโลยีต่างๆจะมามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น การยอมรับเทคโนโลยีจะมีมากขึ้นและใช้ได้สะดวกขึ้น ประเทศไทยควรมีส่วนร่วมในการสร้าง/พัฒนา

-ระบบการดูแลสุขภาพมีการปรับตัว มีการนำเทคโนโลยีและวิธีการใหม่ๆมาใช้