posttoday

สธ.ชี้ "โอไมครอน" แพร่เร็วแต่อาการน้อย คาดอนาคตอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น

07 ธันวาคม 2564

สธ.ระบุ "โอไมครอน" แม้แพร่เชื้อได้เร็วแต่มีอาการน้อยและยังไม่พบผู้ป่วยอาการหนัก ย่ำมาตรการป้องกันส่วนบุคคลช่วยป้องกันโควิดได้ทุกสายพันธุ์ และฉีดวัคซีน

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 64 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเฝ้าระวังและป้องกันเชื้อโควิดโอไมครอนว่า ขณะนี้มาตรการป้องกันโควิดทุกสายพันธุ์ ยังคงต้องฉีดวัคซีนโควิดให้ครอบคลุม โดยใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคลที่เข้มงวด เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และปฎิบัติตามมาตรการ VUCA ทั้งขณะเดินทางทั้งในและต่างประเทศ พร้อมยกระดับการเฝ้าระวัง ณ ช่องทางเข้าออกประเทศ และสถานที่ท่องเที่ยว

ขณะเดียวกัน จะทำการสุ่มตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยไข้หวัดที่เป็นคลัสเตอร์ ซึ่งหากพบกลุ่มก้อนที่มีอาการไข้หวัด หรือสงสัยติดเชื้อโควิด-19 ประชาชนสามารถแจ้งหน่วยบริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาล

นอกจากนี้ จะมีการส่งตัวอย่างเชื้อที่พบจากผู้เดินทาง หรือรายที่น่าสงสัย ไปตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอน ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย

"โอมิครอนยังเป็นสายพันธุ์ที่ไม่น่ากลัวมาก ตอนนี้ยังไม่มีผู้ป่วยอาการหนัก รวมถึงการฉีดวัคซีนยังไม่มีข้อมูลออกมาชัดเจน ดังนั้นประชาชนจึงต้องฉีดวัคซีนไปก่อน ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศ" นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอน มีการแพร่เชื้อค่อนข้างเร็วมากกว่าสายพันธุ์ปกติถึง 2-5 เท่า ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่าถ้ามีการแพร่ระบาดจำนวนมาก และมีอาการรุนแรง อาจทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แต่จากข้อมูลปัจจุบัน พบว่ายังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ และมีผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพียงบางรายเท่านั้น

ดังนั้น หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โอมิครอน อาจทำให้การเปิดประเทศของไทยประสบความสำเร็จ สามารถเข้าสู่วิถีชีวิตแบบ New Normal ตามปกติได้เร็วขึ้น

ส่วนวัคซีนที่อาจมีประสิทธิภาพสูงสูดในการป้องกันโอมิครอน ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลจากแต่ละบริษัทที่ผลิตวัคซีน ทั้งนี้ วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพ สามารถลดอาการป่วยหนัก และลดการเสียชีวิตได้อยู่

"การระบาดของโอมิครอนอาจเป็นสัญญาณดี เนื่องจากเป็นเชื้อที่ผู้ป่วยมีอาการไม่หนัก ซึ่งในภายหลังอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ อย่างไรก็ดี ยังต้องปฎิบัติตามาตรการ VUCA ฉีดวัคซีนเพื่อลดอาการป่วยหนัก และสวมหน้ากากอนามัยไปจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นจริงๆ" นพ.จักรรัฐ กล่าว

สธ.ชี้ "โอไมครอน" แพร่เร็วแต่อาการน้อย คาดอนาคตอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น