posttoday

กลุ่มคณะเเผ่นดินสยามตั้งม็อบดักทำความเข้าใจ"กลุ่มราษฎร"ยันไม่ปะทะ

24 พฤศจิกายน 2563

กลุ่มคณะเเผ่นดินสยามยันต้องการแสดงเจตนารมณ์ปกป้องและแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งม็อบรอทำความเข้าใจ"กลุ่มราษฎร"ไม่ให้ไปสำนักทรัพย์สินฯ

เมื่อวันที่24 พ.ย.2563 กลุ่มคณะเเผ่นดินสยาม นำโดย นายสาธุ อนุโมทามิ นายบัญชา ปานนิวัฒน์ และนายสุเมธ ตระกูลวุ่นหนู ร่วมกันออกแถลงการณ์ จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวในวันที่ 25 พ.ย.นี้ โดย นายสาธุ กล่าวว่า จุดยืนของกลุ่มคณะเเผ่นดินสยาม คือต้องการแสดงเจตนารมณ์เกี่ยวกับการปกป้องและแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยให้สถาบันยังคงอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป เพราะตลอด 800 ปี สถาบันทุกราชวงศ์ ได้ดูแลทุกข์สุขของประชาชนมาโดยตลอด

ทั้งนี้ที่ผ่านมาการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 63 ที่เคลื่อนไหวแสดงออกถึง 3 ข้อเรียกร้อง กลุ่มคณะแผ่นดินสยามไม่เคยแสดงออกใดๆ แต่การชุมนุมในวันที่ 25 พ.ย.นี้ที่มีการประกาศจะไปที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องออกมาทำความเข้าใจกับกลุ่มคณะราษฎร 63 โดยไม่มีเจตนาที่จะไปเคลื่อนไหวให้เกิดความรุนแรง แต่ต้องการเป็นคนกลางที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในประวัติศาสตร์มุ่งให้เกิดร่วมมือและความรักความสามัคคีของคนในชาติ

"ในวันพรุ่งนี้ทางกลุ่มจะมีการนัดรวมตัวกันที่บริเวณแนวแบริเออร์ของเจ้าหน้าที่ในเวลา 9.00 น. โดยจะหารือกันอีกครั้งว่าจะเป็นจุดใด แต่จะเป็นเส้นทางเดียวกับที่กลุ่มคณะราษฎรจะใช้เครื่องขบวน ไปยังสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ย้ำว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้ากันของมวลชน 2 กลุ่ม และได้หลีกเลี่ยงการปะทะใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ดังนั้นจะไม่มีเหตุการแบบที่แยกเกียกกายเกิดขึ้นแน่นอน"นายสาธุ กล่าว

ขณะที่ นายบัญชา กล่าวว่า การเคลื่อนไหวปฏิบัติตามกฎหมายและขออนุญาติแล้ว การออกมาชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้เป็นเกณฑ์มวลชนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ไม่มีท่อน้ำเลี้ยง แต่มาด้วยใจ และไม่ได้ต้องการเกิดการปะทะเพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร ทั้งนี้จะไม่ยอมให้กลุ่มคณะราษฎร63 ใช้เส้นทางที่กลุ่มคณะพลังแผ่นดินชุมนุมอยู่เพื่อผ่านไปยังสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และหากผ่านไปจริงจะไม่มีการต่อสู้แต่จะนั่งและนอนยอมให้เหยียบ แม้แลกด้วยชีวิต

ด้าน นายสุเมธ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 63 มีความพยายามที่จะนำเอาสถาบันมาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง จากนี้กลุ่มจะไม่ยอมให้มีการ ใช้วาทะกรรม หรือกิจกรรมในเชิงสัญลักษณ์ที่พาดพิงถึงสถาบันอีก