posttoday

"ปิยบุตร"สงสัยมาตรฐานกกต.ทำไมวินิจฉัยไม่ยุบ 31 พรรคการเมือง

22 กันยายน 2563

"ปิยบุตร"สงสัยมาตรฐานการทำงานของกกต.วินิจฉัยไม่ยุบ 31 พรรคการเมืองกู้เงินไม่มีความผิดต่างกับพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ประชาชนตั้งคำถามต่อองค์กรอิสระเป็นเครื่องมือของระบอบประยุทธ์ทำลายฝ่ายตรงข้าม

เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยให้ 31 พรรคการเมืองกู้เงินไม่มีความผิดว่า ตนเองยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัยของ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ เพราะภายใต้ระบบกฎหมายปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติใดห้ามมิให้พรรคการเมืองกู้เงิน และพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน หากจะห้ามพรรคการเมืองกระทำการใดก็ต้องมีกฎหมายเขียนเอาไว้ หากกฎหมายไม่ได้ห้ามอย่างชัดแจ้ง แสดงว่า เป็นเสรีภาพของพรรคการเมืองที่สามารถเลือกที่จะกระทำการใดก็ได้ ดังนั้นภายใต้ระบบกฎหมายปัจจุบัน ตนเห็นว่าพรรคการเมืองกู้เงินได้ แต่ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายพรรคการเมือง แม้จะไม่มีกฎหมายใดห้าม แต่ไม่ได้มีกฎหมายอนุญาตให้กู้เงิน จึงตัดสินว่าไม่ให้กู้เงิน และพยายามจะอธิบายเรื่องการกู้เงินและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยว่าเป็น “การให้ประโยชน์อื่นใด” จึงอยู่ภายใต้ข้อจำกัดห้ามให้และรับจากบุคคลเกินสิบล้านบาท

ทั้งนี้ ต่อให้วินิจฉัยว่าให้และรับประโยชน์อื่นใดเกิน 10 ล้านบาทจริง กรณีนี้โทษก็ไม่ถึงยุบพรรค และความผิดฐานให้และรับประโยชน์อื่นใดจากบุคคลเกิน 10 ล้านบาท ก็มิได้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตนเห็นว่าทุกพรรคการเมืองที่กู้เงินไม่ถือว่ามีความผิดเลย กกต.ไม่ควรวินิจฉัยอย่างนี้ แต่ควรต้องวินิจฉัยว่า ไม่ว่าจะเป็น 31 พรรคการเมืองหรือพรรคอนาคตใหม่ก็ไม่มีความผิดทั้งนั้น และถ้าหากเห็นว่าการกู้เงินเป็นปัญหา ในอนาคตก็ต้องไปแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อระบุให้ชัดว่าไม่ให้พรรคการเมืองกู้เงินหรือถ้าจะให้กู้ ต้องระบุเลยว่ากู้ได้ไม่เกินเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่ากฎหมายคลุมเครือแบบนี้ แล้วตีความเอาโทษเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ ส่วนพรรคอื่นๆ ไม่เอาโทษ

“ผมยืนยันว่าผมไม่อยากเห็นพรรคการเมืองใดถูกยุบแบบพรรคอนาคตใหม่ ผมเห็นว่าทุกพรรคการเมืองต้องรอดหมด แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อ กกต.วินิจฉัยให้พรรคอนาคตใหม่เป็นผลร้าย แต่พรรคการเมืองอื่นไม่เป็นผลร้าย จึงเกิดการตั้งคำถามถึงบรรทัดฐานการทำหน้าที่ของ กกต.ยิ่งไปกว่านั้น กกต.ชุดนี้ถูกตั้งคำถามตั้งแต่วันแรกของการทำงาน เพราะมีที่มาเชื่อมโยงกับ คสช. และ สนช. ซึ่ง คสช. ตั้งมาเกิดคำถามต่อการทำงานทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้ง การคำนวนคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อ การประกาศคะแนนเลือกตั้งล่าช้า การตรวจสอบการทุจริตเลือกตั้งตามที่ประชาชนร้องเรียน จนถึงการยุบพรรค หากองค์กรอิสระกลายเป็นองค์กรอิสระที่ไม่อิสระเมื่อไหร่จะเกิดวิกฤตการณ์ของบ้านเมือง อย่าให้ประชาชนต้องตั้งคำถามว่าองค์กรอิสระกลายเป็นเครื่องมือของระบอบประยุทธ์หรือไม่” ปิยบุตร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการร้องเรียนการทำหน้าที่ของ กกต.หรือไม่ นายปิยบุตรยืนยันว่าคำวินิจฉัยของ กกต.ไม่ถูกต้องถึงสองชั้น ชั้นแรกถือไม่ถูกต้องตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ ชั้นที่สองคือเมื่อพรรคอนาคตใหม่โดน แต่กลับวินิจฉัยกรณีของพรรคการเมืองอื่นอย่างไม่ได้มาตรฐานเท่าเทียมกันส่วนใครที่จะไปร้องเรียน กกต.ก็สุดแท้แต่ ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จะขอสงวนสิทธิ์พิจารณาการร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ก่อน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของการวางบรรทัดฐานขององค์กรอิสระว่า จะตกเป็นเครื่องมือของระบอบประยุทธ์หรือไม่ อย่างไร” นายปิยบุตร กล่าว

"การร้องเรียนของบรรดา “นักร้อง” ทำให้การเมืองดำเนินต่อไม่ได้ แทนที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะเข้ามาด้วยความคิดสร้างสรรค์ว่าอยากจะทำอะไรเพื่อชาติบ้านเมือง แต่ต้องพะวงกับการร้อง ก่อนการรัฐประหารปี 2549 และ 2557 ในทางการเมืองไม่มีการร้องเรียนกันมากขนาดนี้ ทุกวันนี้ร้องเรียนกันเป็นว่าเล่น ไปๆ มาๆ การร้องเรียนกลับไม่ใช่การตรวจสอบ แต่กลายเป็นอาวุธเพื่อทำลายล้างกัน จนนักการเมืองและพรรคการเมืองต้องกังวลตลอดเวลาว่า ทำอย่างนั้นอย่างนี้จะโดนร้องเรียนหรือไม่ นานวันเข้าจะกลายเป็นว่าประเทศไทยมีแต่พรรคการเมือง นักการเมือง ประชาชน ภาคประชาสังคม ที่เป็นศรีธนญชัย คือหาช่องทางร้องเรียนกันไปเพื่อทำลายล้างกัน จนความสร้างสรรค์ทางการเมืองไม่เกิด"นายปิยบุตรกล่าว

นายปิยบุตร กล่าวถึงการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามว่า พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับระบอบประยุทธ์ถูกกระบวนการในทางกฎหมายเล่นงานหนักเป็นพิเศษ แต่ฝ่ายที่สนับสนุนระบอบประยุทธ์ ซึ่งครองอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบันแทบจะไม่โดนอะไรเลย รอดหมดทุกเรื่อง นี่คือการเอากระบวนการทางกฎหมายมาปราบปรามฝ่ายตรงข้ามของตนเอง ยกตัวอย่างกรณีล่าสุด เจ้าหน้าที่เลือกหยิบกฎหมายโบราณสถานโบราณวัตถุขึ้นมาเล่นงานกลุ่มนิสิต นักศึกษา เยาวชน ประชาชน ที่ชุมนุมที่สนามหลวง

“อีกตัวอย่างคือ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ที่ไปฟ้อง ม.112 แกนนำการชุมนุม ผมเองเพิ่งขึ้นเวทีเสวนากับหมอตุลย์ ในเวทีนั้น วิทยากร 2 ท่าน รวมถึงหมอตุลย์ได้ยืนยันถึงพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ที่ไม่ต้องการให้มีการดำเนินคดีตาม ป.อาญามาตรา 112 ตรงกันข้าม ไม่กี่วันถัดมา หมอตุลย์ก็ไปแจ้งความดำเนินคดี ม.112 ต่อแกนนำการชุมนุมเสียเอง ผมเห็นว่ามาตรานี้ควรยกเลิก รวมถึงโทษอาญาในฐานหมิ่นประมาททั้งหมด หากไม่พอใจกันในการพูด การเขียน การพิมพ์ ให้ไปเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง แต่ต้องไม่เอาคนไปติดคุกเพราะการแสดงออก” นายปิยบุตรกล่าว