posttoday

ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เพิ่มโทษ "สวัสดิ์ แสงบางปลา" ฟอกเงินฉ้อโกงสหกรณ์จุฬาฯ

25 สิงหาคม 2563

ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ ลงโทษ "สวัสดิ์ แสงบางปลา" อดีตประธานสหกรณ์จุฬาฯ 9 กระทงฟอกเงินฉ้อโกง จำคุกสูงสุด 50 ปี จากเดิม 20 ปี ส่วนสาวคนสนิท ไม่รอดคดีโดนลงโทษด้วย

ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 25 ส.ค.63 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีฟอกเงิน ฉ้อโกงข้าราชการบำนาญ สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คดีหมายเลขดำ ฟย.20/2560 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสวัสดิ์ แสงบางปลา อายุ 80 ปีเศษ อดีตประธานกรรมการบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , น.ส.จิรัชญาหรือไข่เจียว คุณยศยิ่ง อายุ 24 ปีเศษ , น.ส.ภวิษย์พรหรือชมพู่ ใบเกตุ อายุ 29 ปีเศษ โดยสาวทั้งสองเป็นคู่รักกัน เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

จากกรณีนายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 ฉ้อโกงประชาชนด้วยการหลอกลวงข้าราชการบำนาญ สมาชิกสหกรณ์ให้มาร่วมลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล แล้วจำเลยร่วมกันยักย้าย ถ่ายเท เงินจำนวน 42 ล้านบาท ชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาคดีนี้ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.62 ว่า นายสวัสดิ์ อดีตประธานสหกรณ์จุฬาฯ จำเลยที่ 1 และ น.ส.ภวิษย์พรหรือชมพู่ จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปกระทำผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำผิดฐานฟอกเงินแล้ว ซึ่งเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฟอกเงินซึ่งเป็นบทหนักที่สุด โดยจำคุก น.ส.ภวิษย์พรหรือชมพู่ จำเลยที่ 3 กำหนด 4 ปี

ส่วนนายสวัสดิ์ อดีตประธานสหกรณ์จุฬาฯ จำเลยที่ 1 ขณะกระทำผิดเป็นผู้มีอำนาจจัดการสถาบันการเงิน ต้องระวางโทษ 2 เท่า ให้จำคุก 10 กระทงๆ ละ 8 ปี โดยจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน และทางนำสืบของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์การพิจารณา ลดโทษให้คนละ 1 ใน 4 จึงให้จำคุกนายสวัสดิ์ อดีตประธานสหกรณ์จุฬาฯ จำเลยที่ 1 กระทงละ 6 ปีเป็นจำคุก 60 ปีแต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วคงจำคุกสูงสุด 20 ปี ส่วนน.ส.ภวิษย์พรหรือชมพู่ จำเลยที่ 3 ให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปี

สำหรับ น.ส.จิรัชญาหรือไข่เจียว จำเลยที่ 2 เนื่องจากพยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 รับรู้ถึงการกระทำของจำเลยที่ 1, 3 ว่าเป็นความผิด จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง

ซึ่งทั้งอัยการโจทก์ และจำเลย ยื่นอุทธรณ์ วันนี้ (25 ส.ค.) ศาลได้เบิกตัวนายสวัสดิ์ อดีตประธานสหกรณ์ฯ จำเลยที่ 1 จากเรือนจำ มาฟังคำพิพากษา ส่วน น.ส.จิรัชญา และ น.ส.ภวิษย์พร จำเลยที่ 2-3 ที่ได้รับการประกันตัว ก็เดินทางมาศาล

ทั้งนี้ "ศาลอุทธรณ์" ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ นายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 และน.ส.ภวิษย์พร จำเลยที่ 3 คบหากันฉันชู้สาวมาเป็นเวลานานหลายปี ย่อมมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งจนมีความสนิทสนม ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ส่วน น.ส.จิรัชญา จำเลยที่ 2 กับน.ส.ภวิษย์พร จำเลยที่ 3 คบหากัน ระหว่างเกิดเหตุ นายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 ได้โอนเงินให้ น.ส.ภวิษย์พร จำเลยที่ 3 ผ่านบัญชีธนาคารที่ใช้ร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นเงินกว่า 42 ล้านบาท และร่วมกันเบิกถอนเงินไปใช้จ่ายโดยไม่ได้โอนเงินคืนให้จำเลยที่ 1

ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างคบหากันในเชิงชู้สาวกับจำเลยที่ 1 และมีการขอยืมเงินกันโดยทั่วไปเท่านั้นเพราะจำเลยที่ 3 ติดหนี้จากการพนันนั้นก็เป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่อาจเชื่อถือได้ พยานหลักฐานของโจกท์มีเหตุผลเพียงพอรับฟังได้ว่า นายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 โอนเงินที่ได้จากการฉ้อโกงประชาชนและการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ โดยร่วมกันกระทำความผิดและแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยที่ 3 และพวกของจำเลยที่ 1 ส่งต่อเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โดยผ่านบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 รับโอนเงินดังกล่าว อันเป็นการร่วมกันซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของเงินหรือทรัพย์สินนั้น โดยจำเลยที่ 3 รู้ในขณะรับโอนทรัพย์สินนั้นว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด

ส่วนที่ น.ส.ภวิษย์พร จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ส่วนใหญ่เป็นพยานบอกเล่าไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความ ไม่อาจรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 226 นั้น "ศาลอุทธรณ์" เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ไม่ได้โต้แย้งว่าพยานหลักฐานของโจทก์ส่วนใดเป็นพยานบอกเล่าและไม่ควรรับฟังด้วยเหตุผลใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งขัดต่อ ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย

ขณะที่อัยการโจทก์ อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นกำหนดโทษนายสวัสดิ์ อดีตประธานสหกรณ์ จำเลยที่ 1 ไว้ถูกต้องแล้วหรือไม่ "ศาลอุทธรณ์"เห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ซึ่งมาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ที่กระทำความผิดต้องรับโทษเป็น 2 เท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นและการกระทำอันเป็นความผิด ต้องระวางโทษตามมาตรา 60 อัตราโทษจำคุก ตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นโทษ 2 เท่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 60 จึงต้องเป็นโทษจำคุกตั้งแต่ 2-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 40,000-400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้นถือว่าการกระทำความผิดของนายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดที่กระทงหนักสุดมีอัตราโทษจำคุกสูงเกิน 10 ปีขึ้นไป ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 91 (3) เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกระทงแล้ว จึงต้องจำคุกไม่เกิน 50 ปี ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 6 ปีรวม 10 กระทงเป็นโทษจำคุก 60 ปีโดยเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ไม่ใช่จำคุกสูงสุดเพียง 20 ปีตามมาตรา 91(2) อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

โดยปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ยังมีอีก ว่า ความผิดในคดีอาญา หมายเลขแดง อ.3256 ,3257/2561 ของศาลชั้นต้น เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน และเป็นความผิดคนละฐานความผิดกันและมีการแยกฟ้องเป็นคนละคดีกัน จึงไม่ใช่คดีต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน จึงนับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าวได้ "ศาลอุทธรณ์" เห็นว่า ความผิดตามสำนวนคดีหมายเลขแดง อ.3256 , 3257/2561 ของศาลชั้นต้นที่สั่งรวมการพิจารณาและพิพากษาคดีเข้าด้วยกันนั้น เป็นคดีที่โจทก์ขอให้ลงโทษนายสวัสดิ์จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกงและฉ้อโกงประชาชน และความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527

ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงินซึ่งเป็นการกระทำความผิดที่อาศัยความผิดมูลฐานมาจากการกระทำความผิดฐานการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ซึ่งคดีทั้งสองข้างต้น กับสำนวนคดีที่รวมการพิจารณาพิพากษาคดีเข้าด้วยกันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระและมีเจตนาในการกระทำผิดแยกต่างหาก โดยไม่มีความเกี่ยวพันกัน ผู้เสียหายและพยานหลักฐานเป็นคนละชุด ลักษณะคดีและความผิดคนละประเภท ไม่อาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันหรือพิจารณาพิพากษารวมกันไปได้จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.อ.มาตรา 91 (3) ศาลย่อมนับโทษต่อกันได้ที่ศาลชั้นต้นไม่นับโทษนายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีดังกล่าวนั้นศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับสำนวนที่ 2 นั้น เมื่อความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามที่สมคบกันกับความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน จึงเห็นควรให้ลงโทษฐานร่วมกันฟอกเงิน การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก นายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 ฐานสมคบเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินต่างกรรมกันอีกกระทงนั้น จึงไม่ถูกต้องและเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ..) มาตรา 195 วรรคสอง

ศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกนายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 รวม 9 กระทงๆ ละ 6 ปี (จากเดิมจำคุก 10 กระทง 60ปี ) เป็นจำคุก 54 ปี แต่เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทง ตาม ป.อ.มาตรา 91 (3) ให้จำคุกสูงสุดไว้ 50 ปีตามกฎหมาย และให้นับโทษนายสวัสดิ์ ต่อจากคดีหมายเลขแดง อ.3256/2561 , อ.3257/2561 โดยให้หักวันคุมขังนายสวัสดิ์ จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาให้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับคดีฟอกเงินนี้ สืบเนื่องจากพฤติการณ์คดีฉ้อโกงประชาชน ในคดีหมายเลขดำ อ.2438/2560 ที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 ยื่นฟ้องนายสวัสดิ์ เป็นจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ จากกรณีเมื่อต้นเดือน ม.ค.59-9 มิ.ย.60 ต่อเนื่องกัน จำเลยอาศัยตำแหน่งประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ชักชวนหลอกลวงประชาชนให้มาลงทุน โดยอ้างว่า จำเลยได้รับโควตาหรือการจัดสรร คัดเลือกเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อไปจำหน่ายเอากำไรต่อ โดยจะได้ค่าตอบแทนร้อยละ 1 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ให้กู้ยืม หรือร้อยละ 12 ต่อปี และเดือนสุดท้ายจะได้รับผลตอบแทนคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งการหลอกลวงนั้นมีประชาชนหลงเชื่อจำนวนมาก นำเงินมาลงทุนทั้งสิ้น 183,730,000 บาท