posttoday

ยุบสภา...แค่ปรามพรรคร่วม

24 พฤศจิกายน 2553

ระเบิดเวลา 2 ลูกสุดท้ายที่ท้าทายเสถียรภาพรัฐบาลและเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปีนี้คือปมแก้ไขรัฐธรรมนูญและคดียุบพรรคประชาธิปัตย์

ระเบิดเวลา 2 ลูกสุดท้ายที่ท้าทายเสถียรภาพรัฐบาลและเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปีนี้คือปมแก้ไขรัฐธรรมนูญและคดียุบพรรคประชาธิปัตย์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ระเบิดเวลา 2 ลูกสุดท้ายที่ท้าทายเสถียรภาพรัฐบาลและเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปีนี้คือปมแก้ไขรัฐธรรมนูญและคดียุบพรรคประชาธิปัตย์

ตลอดปี 2553 ต้องยอมรับว่าอภิสิทธิ์และรัฐบาลชุดนี้กระอักเลือดกับมรสุมที่หนักหน่วงมากมายหลายลูก มากกว่ารัฐบาลชุดใดในห้วง “ประชาธิปไตยยุคเปลี่ยนผ่าน” นี้

ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตความแตกแยกในสังคม วิกฤตการเมืองจากม็อบเสื้อแดง และมรสุมภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่

กว่าจะผ่านมาได้แต่ละลูก สังคมไทยก็ต้องแลกกับต้นทุนที่ต้องสูญเสียมหาศาล

เช่นเดียวกับอภิสิทธิ์แม้จะรอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์จากเหตุการณ์พฤษภามหาโหด ก็ต้องแลกกับความบอบช้ำ กับคำครหาของฝั่งตรงข้ามว่าเป็น “นายกฯ เปื้อนเลือด” ไปตลอด พร้อมกับเสียงโจมตีว่าไม่มี “ภาวะผู้นำ” ยอมให้พรรคร่วมรัฐบาลกดดันได้ตามใจชอบ เพียงเพราะต้องการอยู่ในตำแหน่ง จนเกิดปัญหาคอร์รัปชันและการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม

ผลสำรวจคะแนนนิยมจากโพลต่างๆ ชี้ว่า ผู้คนที่พอใจในการบริหารประเทศของอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้สูงลิ่ว แถมเกือบสอบตกด้วยซ้ำ

แต่ระเบิดเวลาที่คอยบอมบ์รัฐบาลนี้ยังไม่หมด โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็นที่กำลังถอดสลักกันอยู่ และระทึกเข้ามาว่า ระเบิดรัฐธรรมนูญลูกนี้จะตูมกระจุยกระจาย พังทั้งรัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่

ที่ต้องลุ้นคือ สส. และ สว. จะลงมติผ่านให้หรือไม่ในการลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันพฤหัสบดีที่ 25 พ.ย.นี้

2 ประเด็นอาจดูเล็กๆ แต่กลับเป็นหัวใจที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องการมากที่สุด จึงกดดันให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องแก้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบเลือกตั้งให้เล็กลงเพื่อใช้เป็นเครื่องมือเจาะทะลวงพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ลึกๆ แล้วพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อ “รับปาก” พรรคร่วมรัฐบาลไว้ตั้งแต่ช่วงทำคลอดตั้งรัฐบาล และเพื่อ “เคารพ” ต่อ “ผลสรุป” ของคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญชุด ศ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และคณาจารย์ที่ร่วมเป็นกรรมการ ตามที่อภิสิทธิ์แต่งตั้งขึ้นมา เมื่อไม่สามารถซื้อเวลาได้ก็ต้องนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอต่อรัฐสภา

ปมแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเห็นอาการแตกร้าวในรัฐบาลหลายระดับ เหมือนอย่างที่ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำเสื้อแดงมองว่า นี่เป็นปัญหาครอบครัวในรัฐบาลที่กำลังฟัดกันเองทั้ง “ม็อบเหลือง พรรคร่วมรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ และตัวนายกฯ อภิสิทธิ์ ดังนั้น เสื้อแดงอย่าไปยุ่ง ยืนบนภูดูคนในครอบครัวกัดกัน”

ไม่ว่าอภิสิทธิ์จะตัดสินใจแก้หรือไม่แก้ ก็ต้องมีฝ่ายที่เสียประโยชน์ทั้งนั้น แต่อภิสิทธิ์เลือกเสียน้อยที่สุด ด้วยการรักษา “สัญญาใจ” พรรคร่วม มองเกมยาวเพื่อดึงพรรคร่วมเป็นพันธมิตรตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

ที่ร้าวสุดคือ พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ลูกพรรคต่างกัดฟันกลืนเลือดไปหลายแก้วยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล่าสุดบิ๊กประชาธิปัตย์สาย บัญญัติ บรรทัดฐาน ได้วอล์กเอาต์ในที่ประชุมพรรคคัดค้านการเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง

พร้อมกับข่าวก๊วน “นายหัวชวน – บัญญัติ” บางส่วน 3040 คน จะแหกมติพรรค ไม่สนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แม้บัญญัติและชวนจะยืนยันภายหลังว่า วันลงมติจะไม่มีวอล์กเอาต์แน่ เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีวินัย ก็ต้องเคารพมติพรรค กระนั้นยังต้องจับตา สส.พรรคประชาธิปัตย์ว่า จะใช้เทคนิคขาดประชุมในวันลงมติหรือไม่

หากพรรคประชาธิปัตย์เสียงแตก โอกาสที่จะตั้งไข่รับหลักการแก้รัฐธรรมนูญในวาระแรกได้ คงมีอันต้องแท้งก่อน

ถ้าวัดคะแนนเสียงวันนี้ กรณีพรรคร่วมรัฐบาลไม่แตกแถวพร้อมใจสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยจำนวน 270 เสียง โอกาสที่จะมีเสียงรับหลักการได้อยู่ที่ 70 : 30 เพราะรัฐบาลยังต้องพึ่งเสียงจาก สว.ประมาณ 4050 เสียง ซึ่งก็ไม่ยากเพราะมี สว.สายพรรคร่วมรัฐบาล 4050 คน คอยสนับสนุนอยู่

แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี 172 เสียง ไม่เป็นเอกภาพขึ้นมา หัวไปทาง หางไปทาง ก็ต้องลุ้นหนัก 50 : 50 เหมือนมวยยกสุดท้าย

ที่สุดแล้วถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจบเห่ไม่ผ่านสภาตั้งแต่ยกแรก แรงเหวี่ยงก็จะมาที่ “พรรคร่วม” ที่จะสะสมความแค้นต่ออภิสิทธิ์มากขึ้น ว่า ตีสองหน้า ไม่จริงใจในการคุมเสียงพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นหนึ่งเดียว

และนี่จะเป็นปัญหาร้าวลึกในรัฐบาลอีกครั้ง ซึ่ง “พรรคร่วม” อาจเอาคืนแบบทิ้งทวนหนักกว่าเดิม เพราะอยู่ในช่วงปลายรัฐบาล น้ำต้มผักไม่หวาน แต่ขมจนสำลักออกจากปากแล้ว

มาตรการตอบโต้ เช่น งดออกเสียงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ค.ปีหน้า เหมือนที่พรรคเพื่อแผ่นดินทำกับพรรคภูมิใจไทย หรือการให้ลูกพรรคออกมาด่านายกฯ เช่นที่เกิดขึ้นกับ “สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล” ทำจดหมายเปิดผนึกซัดอภิสิทธิ์เขียนด้วยมือลบด้วยเท้าที่ไม่ยอมแก้รัฐธรรมนูญ

หากรัฐบาลป่วนกันเอง อภิสิทธิ์จะบริหารประเทศด้วยความยุ่งยากมากขึ้น ซึ่งเวลาที่เหลือในปีสุดท้ายของอภิสิทธิ์จะเต็มไปด้วยหลุมระเบิดจากการวางกับดักของคนในรัฐบาลด้วยกัน

ที่ผ่านมาความขัดแย้งในรัฐบาลผสมระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมมีมาตลอด กว่าจะแก้ได้ทีละเปลาะ อภิสิทธิ์ก็ต้องสูญเสียต้นทุนเพื่อแลกกับ “ผลประโยชน์” ในรัฐบาลที่ประชาชนมองไม่เห็น

และทุกครั้งก็ฉุด “ภาวะผู้นำ” ของอภิสิทธิ์ตกต่ำลง

พลังกดดันต่างๆ ที่พุ่งไปที่อภิสิทธิ์ ไม่ว่าม็อบเหลือง ม็อบแดง พรรคร่วม ที่เร่งสร้างคะแนนนิยมของตัวเองช่วงใกล้เลือกตั้ง จนอภิสิทธิ์ต้องระเบิดคำว่า “ยุบสภา” ออกมาก็เพื่อปรามพรรคร่วมให้อยู่ในระเบียบ เพราะรู้ว่าทุกพรรคยังต้องการอยู่ในอำนาจรัฐ เก็บเสบียงกรังต่อ

แต่กระนั้น ไม่ว่าอภิสิทธิ์จะเผชิญมรสุมแค่ไหน จะยังไม่ยุบสภาง่ายๆ จนถึงไตรมาสแรกของปีหน้า เพราะอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกับการตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่จะมีขึ้นในเดือน ธ.ค. เมื่อหลายฝ่ายคาดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ถูกยุบ ดังนั้น หากยุบสภาขึ้นมาในช่วงนี้ จะเข้าทางพรรคเพื่อไทยที่จะชนะถล่มทลายแน่

ที่สำคัญอภิสิทธิ์ต้องแสดง “ภาวะผู้นำ” และสร้างผลงานให้มากกว่านี้ถึงจะมีโอกาสกลับมาเป็นตัวเลือกอีกครั้ง