posttoday

"แฟลชม็อบนศ.ไล่รัฐบาล" ศึกใหม่ในสงครามเก่า ความขัดแย้งถลำลึก

01 มีนาคม 2563

นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของศึกใหม่ ในสงครามความขัดแย้งของประเทศที่ยังไม่จบ และรอบนี้น่าจะกินเวลายืดเยื้ออีกหลายปี

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

**************************

หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ความเคลื่อนไหวนอกสภาก็จุดติดอย่างรวดเร็ว

นักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย ลามไประดับโรงเรียนมัธยมศึกษาได้จัดกิจกรรมแฟลซม็อบต่อเนื่องทุกวัน แสดงความไม่พอใจถึงความไม่เป็นธรรมต่อปัญหาการเมืองปัจจุบัน

ทั้งการยุบพรรคอนาคตใหม่ ความไม่ยุติธรรมต่อการตัดสินขององค์กรอิสระ สะสมกับความเบื่อหน่ายในตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลทหาร การที่กองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ตั้งแต่การรัฐประหาร2557 เกือบ 6 ปีจนเกิดกลไกสืบทอดอำนาจผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 สกัดฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่ออกกฎ กติกา พรรคเพื่อไทยชนะที่ 1 ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล ผ่านไปเกือบปีของการเป็นรัฐบาล กลับมีการดูด สส.ฝ่ายค้าน จนสุดท้าย คือ การยุบพรรคฝ่ายค้านที่มีบทบาทในการตรวจสอบมาก ทำให้รัฐบาลอยู่สบาย ไม่ต้องมีปัญหาเสียงปริ่มน้ำ

กิจกรรมแฟลชม็อบ มีพลังบริสุทธิ์ จากนักศึกษาเข้าร่วมคับคั่งในมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ เป็นภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ครั้งนั้น นักศึกษาเป็นแกนนำออกมาชุมนุมเรียกร้องให้โค่นล้มระบอบเผด็จการจนสำเร็จ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ตีกลับจากฝ่ายขวา จนเกิดเหตุการณ์สังหารโหด 6 ตุลา 2519 ที่นักศึกษาต้องเสียชีวิตจำนวนมาก

หลายปีที่ผ่านมา พลังของคนหนุ่ม สาว เยาวชนเงียบหายจากทางการเมือง นักศึกษาถูกตั้งคำถามว่า ไม่สนใจปัญหาบ้านเมือง อยู่ในโลกโซเชียล บันเทิงเริงรมย์ เมื่อนักศึกษา เยาวชน ตื่นตัว เราจึงต้องสนับสนุน เปิดพื้นที่ ให้ได้แสดงออกอย่างเสรี ระบายความคับแค้นใจต่อปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น

เมื่อพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นฐานสนับสนุนถูกยุบ พวกเขาจึงรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในการตัดสินคดี เหมือนทีมบอลแข่งกันในสนามอยู่ดีๆ กำลังเตะเข้าประตูได้ใจกองเชียร์ แต่จู่ๆ กรรมการมาตัดสินให้แพ้ฟาวล์ไม่พอ ต้องออกจากสนาม แถมยังถูกปรับ ตัดสิทธิ์ห้ามแข่งอีก กองเชียร์ก็ไม่พอใจ เพราะหาว่าถูกรวมหัวกลั่นแกล้ง มาจ้องเล่นงานหยุมหยิมแต่พรรคอนาคตใหม่ ทั้งที่พรรคอื่น ทีมอื่นก็ผิดด้วย ก็ต้องยุติธรรมทั้งหมด

โดยเฉพาะ 2 คดีสำคัญ คือ 1.คดีเงินกู้ ให้ยุบพรรค ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ต้องโทษห้ามยุ่งการเมือง 10 ปี ยังจะโดนคดีอาญาข้อหาฝ่าฝืนพรบ.พรรคการเมือง โทษถึงขั้นติดคุก 5 ปี 2.คดีหุ้นสื่อของธนาธร ธนาธรได้รับเลือกเป็น สส. แต่ก็ไม่ได้เข้าสภาเพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินพ้นตำแหน่ง สส.

ทั้งสองคดี หลายพรรคก็ถูกยื่นให้ตรวจสอบ แต่กระบวนการพิจารณาขององค์กรอิสระจากกกต.และ ศาลรัฐธรรมนูญ ถูกตั้งคำถามเป็นสองมาตรฐานหรือไม่ ตัดสินช้าหรือไม่ มีคดีลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ มีสส. 32 คนถือหุ้นสื่อ ถูกยื่นตรวจสอบไปยัง กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังพิจารณาไม่เสร็จ ขณะที่คดีเงินกู้มีพรรคที่ถูกยื่นตรวจสอบคล้ายกันรวม 16 พรรค อยู่ระหว่างการสอบสวนของกกต.

กลับมาที่คดียุบพรรค พรรคอนาคตใหม่มีคนเลือกถึง 6.4ล้านเสียง เป็นอันดับสาม มีฐานจากคนรุ่นใหม่จำนวนมาก การยุบพรรคเป็นเรื่องใหญ่ในระบอบประชาธิปไตย เท่ากับเป็นการประหารชีวิตทางการเมืองของแกนนำพรรค หากจะยุบต้องเป็นพฤติกรรมที่ใหญ่และรุนแรงจริงๆ เช่น มุ่งเปลี่ยนแปลงเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง

อีกทั้งที่ผ่านมา มีบทเรียนให้เห็นว่า การยุบพรรคไม่ใช่การแก้ปัญหาทางการเมือง กลับยิ่งสร้างปัญหาร้าวลึกให้กับประเทศ เช่น การยุบพรรคไทยรักไทย การยุบพรรคพลังประชาชน ที่ต่อมาก็กลายพันธุ์เป็นพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ทำให้พรรคนั้นเล็กลง หรือ หดหายจากประเทศไทย แต่พรรคเดิมก็ยังอยู่ แค่เปลี่ยนชื่อ ยังเป็นพรรคที่ชนะเลือกตั้งอันดับ1 การยุบพรรคจึงเป็นสารเร่งโตให้กับพรรคนั้นด้วยข้อหาถูกกลั่นแกล้ง

พรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคใหม่ที่เติบโตรวดเร็วในประวัติศาสตร์การเมือง หลังก่อตั้งในเวลาไม่ไม่กี่เดือนก็ได้ สส.มากถึง 80 เสียง เจาะฐานคนหนุ่มสาว และความเบื่อรัฐบาลรัฐประหาร ประกาศอยู่ตรงข้ามกองทัพ จนมีคนเลือกถึง 6 ล้านกว่าเสียง เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ มีอายุสั้นเพียง 1 ปี 11 เดือน ทำให้ สส. 65 ชีวิต เร่หาสังกัดพรรคใหม่ แต่ก็เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคใหม่ในเงา “ธนาธร-ปิยบุตร” จะยังแข็งแกร่งกว่าเดิม ไม่แน่ว่า อาจจะได้ สส.มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ จากคะแนนสงสารที่ถูกยุบพรรค

ไม่ว่า จะมีคนเกลียดพรรคอนาคตใหม่แค่ไหนที่เดินนโยบายปฏิรูปปะทะกับอำนาจจารีต แต่ก็ต้องยอมรับความแตกต่างในสังคมประชาธิปไตย สส.ของพรรคที่ได้รับเลือก เป็นไปตามเจตจำนงค์ที่ประชาชนเลือกเข้ามาเพื่อต้องการเห็นนโยบายของเขาขับเคลื่อนโดยเฉพาะการไม่ให้ต้องการสืบทอดอำนาจ ไม่อยากให้กองทัพเข้ามายุ่งการเมือง

เมื่อไม่มีเวทีรัฐสภาให้กลุ่มตัวแทนคนรุ่นใหม่ ได้เข้าไปแสดงออก ถกเถียงนโยบาย ปัญหาสาธารณะ แก้ปัญหาความขัดแย้ง ก็ต้องไปแสดงออกในเวทีนอกสภา แน่นอนย่อมไม่เป็นผลดี เพราะจะเกิดความเสี่ยงจากปัญหาแทรกซ้อน และจบด้วยความวุ่นวาย ความรุนแรงทุกครั้งจากบทเรียนที่เราเผชิญ ทั้ง 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ และ สงครามเสื้อสีในห้วง 10 ปีของความขัดแย้งการเมือง

ปรากกฎการณ์แฟลชม็อบในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะมีแรงกระตุ้นจากคำประกาศของปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ว่า เมื่อพรรคไม่มีที่ยืน “เราในนามคณะอนาคตใหม่ก็จะลงถนน และจากนี้จะเริ่มนับหนึ่งสู่การเมืองนอกสภาเพื่อขับไล่ปีศาจจากคนอยู่ในโลกเก่า” แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า เหตุที่การชุมนุมจุดติดอย่างรวดเร็วเพราะปัญหาความขัดแย้งการเมืองยังไม่ได้แก้ที่รากเหง้า การเลือกปฏิบัติในคดีการเมือง ถ้าอยู่ฝ่ายรัฐบาล จะไม่ผิด ไม่ก็ตัดสินล่าช้า แต่ถ้าอีกฝ่าย ผิดเต็มประตู

หลายฝ่ายเฝ้าติดตามว่า แฟลชม็อบของนักศึกษาจะเป็นอาฟเตอร์ช็อคเพียง 1-2 สัปดาห์หรือไม่หรือจะสามารถเลี้ยงกระแส ก่อให้เกิดพลังเปลี่ยนแปลง ลุกฮือครั้งใหญ่เหมือน 14 ตุลา 2516 ได้หรือไม่

ประเมินแล้วเชื่อว่า การชุมนุมของนักศึกษาที่แพร่กระจายเป็นไวรัสจะต้องมีการนัดหมายชุมนุมใหญ่ อาจเป็นสถานที่ปิดภายในมหาวิทยาลัย ช่วงนี้เป็นการแสดงออก สะสมกำลัง และกดดันเรียกร้องอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก

พล.อ.ประยุทธ์ และฝ่ายรัฐบาล ควรเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาแสดงออก ตราบใดที่นักศึกษาไม่ละเมิดกฎหมาย อยู่ในกรอบของการชุมนุมอย่างสงบสันติ และไม่ควรปรามาส ดูถูก หรือ ใช้กฎหมายเล่นงานผู้เห็นต่าง เพราะจะเป็นการจุดเชื้อให้เกิดการยั่วยุ ใช้ความรุนแรงตามมา

นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของศึกใหม่ ในสงครามความขัดแย้งของประเทศที่ยังไม่จบ และรอบนี้น่าจะกินเวลายืดเยื้ออีกหลายปี ขณะนี้ยังแค่การแสดงความไม่พอใจ แม้ข้อเรียกร้องยังไม่ชัด แต่อย่างน้อยควรกดดันนำไปสู่ต้นรากของปัญหาการเมืองขณะนี้ นั่นคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญรื้อเนื้อหาใหม่ให้มีกติกาที่เป็นธรรมกว่าปัจจุบัน