posttoday

โดดเดี่ยว "บิ๊กตู่" ผนึกกำลังโค้งสุดท้าย

15 มีนาคม 2562

ใกล้เลือกตั้ง อุณหภูมิการเมืองทวีความเดือดมากขึ้นไปทุกที กลยุทธ์หนึ่งที่แต่ละพรรคงัดขึ้นมากันในระยะนี้ คือ การโจมตี พล.อ.ประยุทธ์

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

อุณหภูมิการเมืองทวีความเดือดมากขึ้นไปทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 17 มี.ค. จะมีการเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศไทย แน่นอนว่าตลอดทั้งสัปดาห์นี้บรรดาพรรคการเมืองต้องเดินเกมชิงเหลี่ยมกัน เพื่อเก็บแต้มให้ได้มากที่สุด ก่อนเข้าสู่ศึกใหญ่ในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้งใหญ่วันที่ 24 มี.ค.กลยุทธ์หรือลูกไม้หนึ่งที่แต่ละพรรคงัดขึ้นมากันในระยะนี้ คือ การโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งจะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยได้ออกมาดิสเครดิตหรือพาดพิงว่าที่ นายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐแบบไม่ไว้หน้าทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกันเลยทีเดียว

"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศชัดเจนว่าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จากเดิมที่เวลาถูกถามถึงเรื่องจุดยืนทางการเมืองที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มักจะตอบคำถามนี้ด้วยอาการเลียบๆ เคียงๆ มาตลอด

แม้ลูกไม้นี้ของพรรคประชาธิปัตย์ จะถูกมองว่าเป็นการชิงจังหวะเพื่อหวังดึงคะแนนคนเบื่อลุงให้มาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการประกาศจุดยืนทางการเมืองชัดเจนในลักษณะนี้น่าจะได้ใจจากคนรุ่นใหม่ไม่มากก็น้อย

เช่นเดียวกับ พรรคภูมิใจไทย ของ "อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรค ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งถูก พล.อ.ประยุทธ์ ท้วงติงเรื่องนโยบายการให้ประชาชนปลุกกัญชา ปรากฏว่าได้ประกาศท่าทีด้วยการขอยืนอยู่ตรงข้ามกองทัพ

"แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคภูมิใจไทยจะสนับสนุน ต้องเป็น สส. และมาจากเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร เราไม่ยอมให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มาจากประชาชนมาเป็นผู้กำหนด เรารับไม่ได้ที่จะให้คนที่ไม่ได้มาจากประชาชนมาเลือกนายกฯ" ท่าทีของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 6 มี.ค.

ขณะที่พรรคเพื่อไทยขาประจำของ คสช.ได้เปิดตัวแคมเปญ "เอาลุงคืนไป เอาเงินในประเป๋าคืนมา" แม้จะไม่ได้บอกตรงว่าลุงในที่นี้หมายถึงใคร แต่แน่นอนย่อมเป็นคนที่คุณรู้ว่าใคร

ส่วนพรรคการเมืองขนาดกลางอื่นๆ ยังคงสงวนท่าทีต่อการสนับสนุนบุคคลเป็นนายกฯ อยู่พอสมควร ทั้งพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ถ้าจะบอกว่าเป็นการกั๊กเพื่อรอร่วมเป็นรัฐบาลโดยไม่สนขั้วการเมืองก็คงไม่ผิดนัก

จากภาพรวมที่ปรากฏให้เห็นนั้นพอจะเป็นสัญญาณที่ชี้ลงไปว่า "พรรคพลังประชารัฐ" กำลังถูกโดดเดี่ยวทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าคะแนนความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นต่อว่าที่นายกฯ คนอื่นๆ เท่าใดนัก ซึ่งแม้แต่ภายในพรรคพลังประชารัฐเองก็ต่างทราบถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี มิเช่นนั้นแล้วถ้าคะแนนของบิ๊กตู่ดีจริง พรรคก็ควรเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมขบวนเดินสายปราศรัย เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และจุดยืนหรือพร้อมสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเวทีดีเบต

แต่ทั้งหมดไม่ได้มีการดำเนินการเลยแม้แต่น้อย มีแต่เพียงการหาเสียงโดยอ้างถึงการจะเดินหน้าต่อ ยอดนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองจึงมองเห็นแล้วว่าหากยังแสดงจุดยืนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐ จะมีผลให้พรรคตัวเองถกฉุดคะแนนลงไปด้วย ทางที่ดีสู้ประกาศให้ชัดไปเลยดีกว่า จึงไม่แปลกที่จะทำให้คนในฟากรัฐบาลอย่าง "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกฯ หัวเสียพอสมควร

"มีหัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรคบอกว่าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ พูดเร็วไปไหม จะบอยคอตอะไรกันอีก เมื่อก่อนก็บอยคอตมาแล้ว 2 รอบ บอยคอตเสร็จอะไรตามมาล่ะ คนไทยลืมง่ายใช่ไหม นี่บอยคอตอีกล่ะ แต่นี่ไม่ได้บอยคอตเลือกตั้ง แต่บอยคอตนายกฯ เลย ว่าไม่ควรเป็นนายกฯ" คำพูดจากรองนายกฯ สมคิด

ภาพที่คนไทยได้เห็นว่าถ้าจะบอกว่าพรรคพลังประชารัฐกำลังตกที่นั่งลำบาก ก็คงไม่ได้เป็นการกล่าวเกินไปจากความจริงเท่าใดนัก เนื่องจากเงื่อนไขเดียวที่จะทำให้พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ คือ ต้องมี สส.ในพรรคระดับ 120-150 คน

ถ้าต่ำกว่านั้นคงไม่มีพรรคไหนยอมให้บิ๊กตู่เป็นนายกฯ แน่นอน ครั้นจะไปหวังพึ่ง สว.อีก 250 คน จริงอยู่ สว.จากการจิ้มเลือกของคสช.ย่อมเทคะแนนให้บิ๊กตู่อย่างไม่ต้องสงสัย แต่หลังจากนั้นรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐในฐานะเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรจะไปได้สักกี่น้ำ ลองนึกดูว่าถ้าเสนอกฎหมายงบประมาณเข้าสภา แต่ สส.ไม่ยกมือรับหลักการให้ เสถียรภาพของรัฐบาลน่าจะง่อนแง่นพอสมควร

เมื่อพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เป็นผู้คุมเกมการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองอื่นๆ จึงเลือกประกาศอิสรภาพเพื่อตอบโต้ในช่วงที่กระแสลุงตู่ไม่ค่อยเปรี้ยงปร้าง การโดดเดี่ยวพรรคพลังประชารัฐจึงเกิดขึ้น

หมากเกมนี้สามารถแก้ไขได้โดยไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ด้วยการทำให้พรรคพลังประชารัฐได้ สส.เกิน 120 คน เพื่อให้ความได้เปรียบกลับมาที่ตัวเองอีกครั้ง แต่มีคำถามว่าพรรคพลังประชารัฐจะทำได้หรือไม่ ภายใต้สถานการณ์แบบนี้