posttoday

ความในใจวัยรุ่นหลงผิด "พ่อแม่"แบบไหนที่เด็กอยากได้?

03 กุมภาพันธ์ 2562

ฟังเสียงสะท้อนของเด็กที่ถูกความกดดันจนพาตัวเองสู่โลกความรุนแรงและยาเสพติด "พ่อแม่"ควรปฏิบัติอย่างไรกับวัยของลูกที่เปลี่ยนแปลง?

ฟังเสียงสะท้อนของเด็กที่ถูกความกดดันจนพาตัวเองสู่โลกความรุนแรงและยาเสพติด "พ่อแม่"ควรปฏิบัติอย่างไรกับวัยของลูกที่เปลี่ยนแปลง?

*************************

โดย…รัชพล ธนศุทธิสกุล   

เมื่อเร็วๆ นี้เกิดเหตุสะเทือนขวัญเยาวชนล่อลวงผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างเพื่อไปฆาตกรรม ด้วยเหตุเพียงเพราะโกรธพ่อของตัวเอง ส่งผลให้ประเด็นเรื่องพฤติกรรมความรุนแรงของวัยรุ่นกลับมาเป็นที่กล่าวถึงอีกครั้ง

สิ่งหนึ่งที่น่าคิดคือ เหตุใดการแก้ไขถึงไม่ได้ผลและนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น?

หากย้อนดูข้อมูลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในปี 2559  พบว่า การก่อคดีของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สูงถึง 30,356 คน โดยเฉลี่ยใน 1 วันจะต้องมีเด็ก 83 คน ที่กระทำความผิด และในปี 2561 พบว่า เด็กที่ก่อเหตุมีปัญหาบ้านแตกร้อยละ 63 ขณะที่อีกร้อยละ 37 มาจากครอบครัวที่มีทั้งพ่อและแม่

"วัฒน์" (นามสมมติ) อดีตวัยรุ่นย่านสุขุมวิทผู้เคยเดินทางผิดในความรุนแรงและยาเสพติดตัดสินใจมาบอกเล่าเรื่องราวของเขาผ่านโพสต์ทูเดย์ ด้วยหวังว่าจะเป็นแง่คิดให้กับวัยรุ่นหลายๆ คนรวมทั้งพ่อแม่ที่มีลูกในวัยว้าวุ่น

ความในใจวัยรุ่นหลงผิด "พ่อแม่"แบบไหนที่เด็กอยากได้?

ความคาดหวังและไม่มีเหตุผลของผู้ใหญ่

“ต้องเรียนสูงๆ ถ้าเรียนไม่สูงจบมาจะทำอะไรกิน ดูพ่อจบปริญญาตรี ยังต้องมาลำบากขับแท็กซี่”

วัฒน์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวจนประชดชีวิตเข้าวังวนของความรุนแรงและสารเสพติดตั้งแต่อายุ 15 ปี กระทั่งถูกจับกุมและถูกตัดสินลงโทษ 3 ปี ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของมูลนิธิบ้านพระพร พันธกิจเรือนจำคริสเตียน

“เราจะคุยกันทุกๆ เช้า หลังแม่ปลุกตี 5 ครึ่ง อาบน้ำแต่งตัวก่อนไปโรงเรียน ดูข่าวและกินข้าวด้วยกันทั้งบ้าน พ่อเขาก็จะพูดบอก “ทำในสิ่งที่ถูกต้อง อย่าทำสิ่งที่ถูกใจ” และ “คิดให้บวก คนคิดบวกก็จะมีแต่คนดีๆ คนคิดลบก็จะหลุดออกจากชีวิต” พูดซ้ำๆ ทุกวันๆ แต่พอเราปรึกษาบอกว่ามีปัญหากับแฟน โดนแฟนบอกเลิก เขาโผงด่าทันที ด่าจนเหี่ยว”

และเมื่อฮอร์โมนของวัยรุ่นบวกเข้ากับความเคร่งครัด ทำให้วัฒน์เริ่มตั้งคำถามกับชีวิตออกไปบ้าง แต่ทว่ากลับกลายเป็นการถูกมองว่าเถียงผู้ใหญ่ อย่างอาทิเช่น เพื่อนแถวบ้านโดนจับเรื่องยาแต่แค่มีเงินจ่าย 3,000 บาท ก็ถูกปล่อยตัวออกมาใช้ชีวิตในสังคมปกติ หรือเรื่องเพื่อนที่ไม่ดีห้ามคบแต่เวลามีเรื่องเพื่อนก็ช่วยชำระแค้น

“หนักสุดเรื่องที่พ่อจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ แต่ทำไมถึงมาขับแท็กซี่?  คือเราไม่เข้าใจ เราไม่เห็นภาพแบบที่พ่อบอก ฉะนั้นเราก็เริ่มต่อต้าน เริ่มโดดเรียน เกเรชกต่อย เพราะเมื่อการเรียนทำให้ชีวิตดีจริงๆ ทำไมพ่อถึงขับแท็กซี่ และต้องมาเคี่ยวเข็ญให้เราไปเรียนๆ ทั้งๆ ที่บางครั้งไม่สบายเราก็ควรได้พัก เราไม่ใช่แบบพ่อเขาที่หยุด 1 วันแล้วจะต้องโง่กว่าเพื่อน”

เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดการรับฟังและเฝ้าแต่ปฏิบัติตามแต่อย่างเดียวโดยไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ยิ่งผลักให้เกิดช่องว่างในครอบครัว ซึ่งในช่วงวัยอายุ 14 ปี การ “แก้ปัญหาด้วยตัวเอง” คือการระบายออกทางความรุนแรง วัฒน์กลายเป็นหนึ่งในเด็กหัวโจกก่อนจะถูกไล่ออกถึง 2 โรงเรียน

“พอเราตัดสินใจพลาด เราทำผิด เขาก็ยิ่งด่าแรงขึ้น ด่าคิดแบบนั้นไงถึงได้เป็นแบบนี้ เหมือนแม่ที่ได้แค่นี้ แค่พนักงาน เราไม่รู้ว่าเขาทับถมหรือว่าพูดปลุกให้เราคิด แต่โลกของเขากว้างกว่าโลกของเรา เราโลกแค่กะลาครอบ  เราไม่เห็นภาพแบบเขา ที่สำคัญเด็กวัยรุ่นด้วยเพาเวอร์ วัยรุ่นมันเก่งกันทุกคน ศักดิ์ศรีมันค้ำคอพ่อแม่ก็ไม่สนเหมือนกัน เราก็มีอารมณ์เวลาที่ด่าเราแล้วไม่ฟังคำอธิบายเรา หนักเข้าๆ เราก็มายึดทางที่สบายใจก็คือ ‘ยา’ เรื่องแบบนี้เพื่อนผมหลายคนอยู่บ้านดีๆ หรูๆ พออยู่นอกบ้านเล่นยาเสพยาเยอะแยะเหมือนกันหมด”

 

ความในใจวัยรุ่นหลงผิด "พ่อแม่"แบบไหนที่เด็กอยากได้?

"โปรดมีเวลาให้..." ปัญหาเราใหญ่แม้วัยแค่นี้

“มันเหมือนเราต้องอยู่คนเดียว” วัฒน์เปิดเผยความรู้สึกของการเดินหลงผิดติดเสพยาเสพติดและกลายเป็นผู้ค้าในที่สุด

“พอเรื่องมันมาขั้นนี้เราก็จะปรึกษาใครได้ เราก็เลยอยากจะหาเงินกินของเราเอง มีเงินของเราพอ คิดว่าตอนนั้นไม่ต้องมาพึ่งพาขอเงินพ่อแล้วชีวิตจะเป็นของเรา หากเราเป็นวัยรุ่นสร้างตัวได้ก็จะไม่ถูกด่าว่า แต่สุดท้ายก็เหมือนเดิม พอเรามีเงินก็โดนแบบเดิมๆ แล้วชีวิตจะไปทางไหน มันก็ยิ่งเป็นปัญหาที่สะสมเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ก็ประชดชีวิตซะเลย”

วัฒน์ถูกจับครั้งแรก ปี 2560 ฐานมียาเสพติดในครอบครอง เขาบอกว่าหากเกิดการสื่อสารกันมากกว่านี้ มีความอบอุ่นและกำลังใจแบบตอนสมัยชั้นวัยประถม ฝันในการเป็นทหารและตำรวจก็คงไม่หลุดลอยจนยากหวนคืน

ทว่าอย่างไรก็ตามภายหลังจากถูกจับครั้งแรกวัฒน์ได้รับการประกันตัวสู้คดี ซึ่งแม้ไม่ต้องเข้าสถานพินิจแต่ก็กลายเป็นเครื่องตีตราให้ทุกๆ คนในครอบครัว ‘หมดหวัง’ ในตัวเขา และผลักให้ทำผิดซ้ำครั้งที่ 2 เมื่อปีแล้ว 2561 จนถูกลงโทษตัดสินทั้งหมด 3 ปี

“ทำผิดมาครั้งหนึ่ง ไม่มีใครคิดว่าจะกลับมาดีได้” วัฒน์กล่าวถึงคำถามที่ว่าทำไมถึงทำอีกในเมื่อมีบทเรียนและรู้ว่าไม่ดีผิดกฎหมาย

“ทั้งๆ ที่ไม่สุงสิงกับใครพยายามทบทวนความผิดกำลังแก้ไข แต่ปฏิบัติกับเราอีกแบบ อย่างหน้าที่ล้างจาน บางทีอาจจะลืมบ้างหรือขี้เกียจไม่ล้างจานตอนเช้าบ้าง เพราะจะไปล้างทีเดียวตอนกลางคืน ก็โดนด่ายับหยาบๆ คายๆ ก่อนไปทำงาน พอเมากลับมาจากทำงานเครียดๆ ก็ปลุกขึ้นมาด่าแล้วด่าอีก”

วัฒน์เปิดเผยว่า จริงๆ เข้าใจความหวังดีที่สอนและพยายามฝึกระเบียบให้ แต่กระนั้นเมื่อพยายามจะทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้น ‘โอกาส’ กลับไม่มีในตัวเขา  

“พอทำปกติถูกต้องก็โดนว่าโดนด่าไม่คิดจะทำอะไรต่อเลยหรืออนาคต สรุปไม่ทำก็โดน ทำก็โดน เราก็กลับไปทำแบบเก่า เพราะมันไม่มีใครชอบหรือรับได้มากนักกับการที่มีคนมาตัดสินว่าเราจะต้องเป็นแบบนั้น ทำแบบนี้ เราต้องทำอย่างนี้แน่ๆ เลย เลวมาแล้วก็คงต้องเลวต่อไป”

 

ความในใจวัยรุ่นหลงผิด "พ่อแม่"แบบไหนที่เด็กอยากได้?

เรียนรู้ร่วมกัน "ทางแก้" เด็กให้กลับตัว

“ไม่คาดหวังว่าจะดีทุกอย่างและอธิบายเหตุและผลที่ต้องทำ” วัฒน์เผยถึงคำถามที่ว่าอะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอดีตเด็กต้องโทษอย่างเขาเพียงระยะเวลา 2 เดือน เท่านั้นที่อยู่ในการควบคุมดูแลของมูลนิธิบ้านพระพร พันธกิจเรือนจำคริสเตียน ซึ่งวัฒน์ได้รับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและความคิดรวมไปถึงพฤติกรรม จนสามารถปรับความสัมพันธ์กับครอบครัวได้ดี   

“ยกเรื่องง่ายๆ อย่างเรื่องล้างจาน ถ้าเราไม่ทำที่นี้อาจารย์พ่อ (อาจารย์สุนทร สุนทรธาราวงศ์) ไม่ด่าทันที แต่เขาก็จะพูดกับเราว่ามันเป็นหน้าที่ และพาเราไปเดินดูตาราง เดินดูทุกคนที่กำลังทำหน้าที่ของตัวเอง เราก็เห็นภาพทุกคนจะมีหน้าที่ของตัวเอง เราเข้าห้องน้ำสะอาดก็เพราะเพื่อนทำ ฉะนั้นเราก็ต้องทำในส่วนของตัวเอง มันเป็นหน้าที่เรา”  

และที่สำคัญทุกครั้งที่สะดุดปัญหาบ้านพระพรโดยอาจารย์พ่อเปิดใจรับฟังไม่ตัดสินถูกผิด

“มีปัญหาอะไรอาจารย์พ่อก็จะเรียกให้เรามาคุยกันเลยและไม่ตัดสินใครถูกใครผิด แต่ให้เรานึกสิ่งที่เราผ่านมา อันไหนมันดีกว่ากัน ตอนนี้ดีแล้วเราก็ไม่ควรทำให้กลับไปเป็นจุดนั้น ทุกคนก็เห็นภาพ คือไม่ใช่ว่าเราคิดไม่ได้ แต่เรายังไม่เห็นภาพของสิ่งนั้นๆ เรายังไม่ได้โตแบบผู้ใหญ่ เรายังเป็นเด็ก”

วัฒน์กล่าวโดยสรุปคือ เมื่อความสงสัยใคร่รู้ที่เป็นเรื่องใหญ่ของวัยรุ่น การมองเห็นขีดความสามารถที่แตกต่างของแต่ละบุคคล การไม่ตัดสินถูกผิด และโดยเฉพาะการให้ “โอกาส” ได้ถูกเปิดก็ไม่เป็นเรื่องยากที่จะสานเสริมสัมพันธภาพและการสร้างความเข้าใจอันดีแก่กันและกันในครอบครัว  

“ย้อนอะไรกลับไปมันก็แก้ไขไม่ได้แล้ว ทุกวันนี้ผมถือว่าเริ่มใหม่ จุดนี้ที่เรารู้ เราแข็งแรง ครอบครัวแข็งแรง อนาคตก็ดี ชีวิตก็เป็นคนดีได้”

ความในใจวัยรุ่นหลงผิด "พ่อแม่"แบบไหนที่เด็กอยากได้?

“พ่อแม่” ที่วัยรุ่นต้องการ

1.การสื่อสาร เพราะวัยรุ่นจิตใจเปราะบาง น้อยใจง่าย การที่พูดคุยกันจะช่วยให้วัยรุ่นเกิดความเข้าใจในตัวอย่างและรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นของเขา

2.เวลาของครอบครัว ก่อให้เกิดการสร้างความผูกพันและใกล้ชิดที่เด็กอบอุ่น ช่วยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

3.ความอดทน อธิบายด้วยความตั้งใจ มีความอดทนอดกลั้น ไม่โมโหร้าย เพราะไม่มีใครชอบการพูดจาที่ไม่ดีจะช่วยทำให้เด็กกล้าที่จะพูดคุย

4.มองโลกปัจจุบันและเลิกการคาดหวัง เนื่องจากเด็กทุกคนมีความแตกต่างในความสามารถของตัวเอง

5.โอกาส เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่อยากรู้อยากลองและสงสัย ควรที่ทางให้เขาได้แก้ตัวและปรับความคิด