posttoday

เปิดใจ "ปานปรีย์" ถ้าเลือกได้... ขอทำงานด้านเศรษฐกิจ

16 ตุลาคม 2561

เปิดใจ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร" มือเศรษฐกิจผู้ที่มีชื่อปรากฏในฐานะอีกหนึ่งแคนดิเดต หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

เปิดใจ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร" มือเศรษฐกิจผู้ที่มีชื่อปรากฏในฐานะอีกหนึ่งแคนดิเดต หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

*************************

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ปานปรีย์ พหิทธานุกร ปรากฏขึ้นในฐานะอีกหนึ่งแคนดิเดต หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้วยจุดเด่นตรงที่เป็นมือเศรษฐกิจคนสำคัญของพรรค ผ่านประสบการณ์ตำแหน่งผู้แทนการค้าไทยและผู้ช่วยรัฐมนตรี​ประจำกระทรวงอุตสาหกรรม และในแง่การเมืองยังมีดีกรีเป็นถึงอดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ปานปรีย์ออกตัวว่าจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการทาบทามให้ไปรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคตามที่ปรากฏเป็นข่าว แต่ส่วนตัวแล้วรู้จักกับคนในพรรคเพื่อไทยมายาวนานต่อเนื่อง ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย เพียงแต่ที่ผ่านมาจะเน้นอยู่ในมุมวิชาการจัดทำนโยบาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่วนตัวสนใจมากที่สุด ​ส่วนเรื่องการเมืองนั้นไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวมากเท่าไร

“ถ้าถามว่าเวลานี้เขามาทาบทามหรือยัง ก็ทราบจากตามข่าวว่าท่านเลขาฯ พรรค (ภูมิธรรม เวชยชัย) จะมาทาบทาม แต่เข้าใจว่าเวลานี้เป็นเวลาที่พรรคเขาจัดระเบียบภายใน ซึ่งเท่าที่เคยสัมผัสตอนเป็นรองหัวหน้าพรรคนั้น​รู้ว่างานข้างในยุ่งมากเพราะพรรคนี้มี สส.เยอะเป็นพรรคใหญ่ เวลาจะจัดอะไรทีก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและเหนื่อยมากสำหรับผู้บริหาร

...ดังนั้นเข้าใจว่าตัวท่านเลขาฯ เองเป็นผู้เสียสละทำงานให้พรรค ทำงานมาต่อเนื่อง และวันนี้​ท่านก็ทำได้ดีมาก ซึ่งอีกไม่นานจะมีการประชุมพรรคคงยังหาเวลามาพูดคุยในรายละเอียดไม่ได้ สำหรับผมไม่ต้องถึงขนาดทาบทามอะไรหรอก เหมือนพี่เหมือนน้องกันอยู่แล้วแค่โทรมานัดคุย นัดกินกาแฟก็คุยกันได้อยู่แล้วรอเวลาที่ท่านสะดวกก่อน”

ปานปรีย์ ระบุว่า ในทางการเมืองอยู่ในพรรคการเมืองมานานตั้งแต่สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เคยเป็น สส. พรรคชาติพัฒนา ซึ่งมารวมกับพรรคไทยรักไทยและอยู่ร่วมงานกับพรรคบางเวลามีตำแหน่ง บางเวลาไม่มีตำแหน่ง โดยช่วยงานด้านเศรษฐกิจมายาวนานต่อเนื่อง พรรคเพื่อไทยจึงไม่ใช่พรรคที่ไม่คุ้นเคย แต่เหมือนใกล้ชิดกันมากตลอดเวลาอยู่แล้ว

“เพียงแต่ผมยังไม่ทราบว่าเขาจะมอบหมายงานด้านไหนให้ผมทำ วันนี้ผมมีความพร้อมที่จะเข้าไปช่วย แต่ถ้าเลือกได้ผมก็อยากทำงานด้านเศรษฐกิจและสนใจด้านนโยบาย ซึ่งผมจับด้านนี้มาตลอด ถ้าถามถึงงานด้านการเมืองก็อาจจะมีความสนใจน้อยกว่าเศรษฐกิจ แต่ถามว่าพอจะรู้เรื่องการเมืองไหม ก็พอสมควรนะ ทางการเมืองก็ทำงานใกล้ชิดกับผู้ใหญ่มาหลายท่าน งานการเมืองจึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร”

สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะชี้ขาดกันตรงจุดไหน ปานปรีย์มองว่าเราอยู่ในระบบอำนาจนิยมมา ช ระยะหนึ่ง และเราก็ได้สัมผัสแล้วว่าการทำงานภายใต้ระบอบอำนาจนิยมเป็นอย่างไร มีผลต่อประเทศ ต่อประชาชน ต่อคนระดับล่าง ระดับกลาง ระดับบนอย่างไรบ้าง ซึ่งก็จะเป็นตัวชี้วัดอะไรบางอย่าง ซึ่งประชาชนเขาคิดว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ประเทศมีความมั่นคงยิ่งขึ้น เขาก็อาจจะเลือกไปทางประชาธิปไตย

ทั้งนี้ การเมืองข้างหนึ่งที่ปฏิวัติมาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและอยู่มา 4 ปีขณะที่พรรคเพื่อไทยเขาเห็นผลงานมาแล้วในด้านเศรษฐกิจมีนโยบายที่เน้นรากหญ้า เน้นฉีดทรัพยากรจากข้างล่างเพื่อดันขึ้นไปข้างบน ไม่ได้เน้นจากข้างบน เพราะไม่เชื่อว่าจะดันลงมาสู่ข้างล่าง เหมือนรดน้ำต้นไม้ต้องรดที่รากแก้วต้นถึงมั่นคงแข็งแรง ยั่งยืน

“นี่เป็นจุดที่ประชาชนเขามั่นใจกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ไทยรักไทย ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลง อาจเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด แต่หัวใจนโยบายยังอยู่ ผมเชื่อว่ามันจะยังคงอยู่ต่อไปในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ตอนนี้มีกระแสที่เข้ามา คือ ดิสรัปชั่น ทำยังไงเราถึงจะก้าวทันโลกด้วย การใช้แนวทางเดิมอาจไม่ก้าวทันโลก จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้ง อุตสาหกรรม สังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง ถ้าเดินแบบเดิมๆ ก็ไม่ทัน ต้องมีแนวทางใหม่”

ปานปรีย์ ขยายความว่า ยกตัวอย่างโครงการ “โอท็อป” จะกลับไปหนุนแบบเดิมก็ไม่ได้ต้องต่อยอด จะด้วยอะไร
ก็แล้วแต่ หรือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งประสบความสำเร็จมากและถือเป็นสวัสดิการให้กับประชาชน ทำอย่างไรจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีมาเสริมทำให้บริการประชาชนได้ดีมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่สำคัญเวลานี้คือเรื่องความเหลื่อมล้ำซึ่งไม่ใช่กระแสในประเทศไทยอย่างเดียว แต่เป็นกระแสโลก นักการเมืองเริ่มเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้นถึงขึ้นที่ว่าการไม่แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถือเป็นการขาดคุณธรรม ซึ่งความเหลื่อมล้ำเป็นทั้งคุณธรรม เศรษฐกิจ การเมือง

“คนรายได้น้อยอย่าไปเรียกว่าคนจน คนจนต้องการมีรายได้ ต้องการมีสถานะที่เท่าเทียมกัน คุณไปเรียกคนจนก็เหมือนกับคุณเป็นคนรวย เอ็งเป็นคนจนแบ่งสถานะกัน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเรื่อง อินคัม (รายได้) กับเรื่องสเตตัส (สถานะ) มันเป็นเรื่องคู่กัน ไม่ใช่เอาเงินไปช่วย ไปแก้หนี้แล้วจบ ไม่ใช่ ต้องให้สเตตัสด้วย อย่าไปตราเขาเป็นคนจน ใครมาบอกคุณเป็นคนจนคุณชอบไหม ดังนั้นหากมีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำนโยบายนี่จะเป็นจุดหนึ่งที่ให้ความสำคัญ”

ปานปรีย์ กล่าวอีกว่า อีกปัญหาที่สำคัญคือรายจ่ายกับรายได้ห่างกันมาก รายจ่ายเพิ่มทุกวัน น้ำมันขึ้น น้ำมันลงรายจ่ายก็ขึ้นตลอดมันผิดปกติหรือเปล่า ต้องถามว่าจะทำอย่างไรให้เขามีรายได้เพิ่ม เพื่อครอบคลุมรายจ่าย ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นหนี้ไปตลอด เวลานี้การแก้หนี้ก็แค่ย้ายจากที่หนึ่งไปโปะอีกที่หนึ่ง โจทย์ที่ยากคือทำยังไงให้คนมีรายได้เพิ่ม

“ส่วนที่จีดีพีมันโตนั้นก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าความเป็นอยู่ของคนในประเทศจะดีขึ้นเสมอไป จีดีพีโป่งข้างบนคนรายได้สูงก็เอาไปกินหมด คนระดับล่างมาไม่ถึง แนวเศรษฐกิจเพื่อไทยถึงดันจากข้างล่างไปข้างบนมันถูกต้องมากสุด หากจะดันจีดีพีโดยดันจากข้างบน แต่เงินไม่ย้อนกลับมาข้างล่างฐานก็ไม่แข็งแรงได้แค่ช่วยเหลือครั้งแรก ครั้งที่สอง แล้วจบไป”

สำหรับนโยบายในอดีตที่ถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม ปานปรีย์มองว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการโจมตี ต้องถามว่าประชานิยมแปลว่าอะไร การเอาเอาทรัพยากรชาติไปช่วยเหลือประชาชนระดับล่างที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เป็นประชานิยมไหม และทำไมรัฐบาลต่อมาไม่แก้ไข อย่างโครงการประชารัฐเป็นประชานิยมหรือเปล่าไม่เห็นมีใครว่า

“ถ้าผมได้มีโอกาสร่วมทำนโยบายของพรรคเพื่อไทย ก็จะต่อยอดนำนโยบายในอดีตมาปรับปรุงประสิทธิภาพ การบริหารจัดการให้ดีขึ้น ส่วนนโยบายใหม่จะเป็นของใหม่เลย เกี่ยวข้องกับเศรฐกิจของประเทศในปัจจจุบันและอนาคต วางรากฐานอนาคตที่ยั่งยืนเป็นที่ยอมรับ”

ปานปรีย์ อธิบายว่า สำหรับนโยบายที่ถูกโจมตีอย่างโครงการจำนำข้าวนั้นกำลังคิดว่าจะปรับให้ชาวนาได้รับรายได้ที่ดีอย่างเดิม แต่อาจจะต้องปรับปรุงการบริหารจัดการโครงสร้างให้มันดีขึ้น จะเป็นการจำนำหรือไม่จำนำ ประกันหรือไม่ประกัน แบบผสมหรือไม่ผสมเดี๋ยวค่อยว่ากันแต่หลักการคือต้องช่วยชาวนาทิ้งเขาไม่ได้

ส่วนงบประมาณแผ่นดินต้องมาดูกันใหม่ เมกะโปรเจกต์ต่างๆ ต้องไม่ไปจุดใดจุดเดียวต้องมีคำอธิบายว่าทำไมไม่ไปที่นั่นที่นี่ อย่างภาคตะวันออกมีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดแล้ว จีดีพีของจ.ระยอง มากที่สุด ทำไมต้องไปที่นั่นอีก นโยบายตรงนี้เป็นการดึงการลงทุนจริงหรือเปล่า หากไปทางนั้นหมดคนอื่นก็ไม่ได้เลยใช่หรือเปล่า งบประมาณแผ่นดินประชาชนคนได้ประโยชน์ถ้วนหน้าไม่ใช่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง

สำหรับกฎเกณฑ์ใหม่ที่เข้ามาคุมเข้มการใช้งบประมาณนั้น ปานปรีย์เห็นว่าจะทำให้นำนโยบายได้ยากขึ้นไม่มีความคล่องตัว อย่างเรื่องที่ในอดีตเคยทำปีหนึ่งหากเป็นกติกาใหม่ก็อาจเพิ่มเป็นสองสามปี เพราะมีเงื่อนไขให้คอยระวังไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ข้าราชการกลัวฝ่ายการเมืองกลัวจนขยับยากและทำให้เสียเปรียบประเทศคู่แข่งที่กำลังก้าวไปเร็วมาก

ถามว่ากลไกอำนาจรัฐจะส่งผลต่อการเลือกตั้งแค่ไหน ปานปรีย์ กล่าวว่า มีผลมากในอดีตเมื่อประกาศวันเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลรักษาการจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย รักษาการคือรักษาการ แต่วันนี้รัฐบาลชุดนี้เหมือนมีอำนาจเต็ม และว่ากันว่า มีการใช้ทรัพยากรของรัฐออกไปหาเสียง ซึ่งเขาก็ปฏิเสธว่าไม่ใช่เขาทำงานในหน้าที่

“คนไทยชอบความเป็นธรรมไม่ชอบเห็นใครเอาเปรียบใคร ในมุมมองส่วนตัวผมการกระทำแบบนี้ไม่น่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคที่ไปสนับสนุนฝั่งอำนาจนิยมภาพดูไม่สง่างาม ผมพูดในมุมกลับนะ ไม่ได้พูดว่าเขาทำผิดหรือทำถูก แต่ถ้าผมเป็นเขาผมจะรีบออกมาเลย แต่เขาอาจจะคิดว่าสายเกินไปแล้วก็ได้ ออกตอนนี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว กระแสมันไปหมดแล้ว”

ในแง่แรงเสียดทานทางการเมือง ปานปรีย์มองว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าเป็นรัฐบาลก็ต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายค้านแต่จะมาใส่ร้ายไม่ได้ง่ายๆ แล้วเพราะมีกฎหมายหมิ่นประมาท มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่คนจะระวังตัวมากขึ้น ดังนั้นถ้าตัดสินใจจะเข้าสู่การเมืองก็ต้องรับแรงเสียดทานได้ ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์

ขณะที่ความขัดแย้งในอดีตเราต้องไม่หมกมุ่นกับเรื่องเก่าต้องทำเรื่องใหม่ ต้องสร้างฐานคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เพราะวันนี้คนร่างรัฐธรรมนูญอายุเกิน 50 ปี ทั้งนั้น คนอายุต่ำกว่า 50 ปี ไม่มีโอกาสวางแผนอนาคตของเขาเอง พรรคก็จะเปิดให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมนโยบายโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น