posttoday

สนช.ยอมถอยแก้กฎหมาย"กกต."

12 สิงหาคม 2561

สนช.ส่งสัญญาณถอยขอแก้ไขกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง รอผล กกต.ชุดเก่า-ใหม่หารือปมผู้ตรวจฯ

สนช.ส่งสัญญาณถอยขอแก้ไขกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง รอผล กกต.ชุดเก่า-ใหม่หารือปมผู้ตรวจฯ

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 1 ใน 36 สนช.ที่เข้าชื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ร่างดังกล่าวถึงมือนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.แล้ว คงต้องรอให้ประธาน สนช.นำไปหารือกับวิป สนช.ให้ชัดเจนอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร

“เพราะวิป สนช.คงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะที่นายกฯ ระบุว่า จะเชิญ กกต.เก่า กับ กกต.ใหม่ ไปหารือร่วมกัน หากผลออกมาตกลงกันได้ สนช.ก็ไม่น่าจะต้องเดินต่อไป” นายกิตติศักดิ์ กล่าว

สำหรับผลคะแนนสำรวจความเห็นต่อการแก้ไขร่างดังกล่าว ประเด็นผู้ตรวจการเลือกตั้งในเว็บไซต์ของ สนช.ที่ผลปรากฏมีผู้โหวตไม่เห็นด้วย 90% จากจำนวนคนที่เข้ามาคลิปโหวตเกือบ 6 หมื่นครั้งนั้น ทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็นได้ เพียงแต่ผลโหวตเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา สนช.ก็พูดคุยกันอยู่ว่าน่าจะผิดปกติ กรณีนี้ไม่มีผลต่อการตัดสินใจใดๆ ของ สนช.แต่อย่างไร

ขณะที่นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) กล่าวว่า การเปิดรับฟังความเห็นประชาชนของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา พบว่าคนตอบคนเดียวสามารถตอบซ้ำๆ ได้หลายครั้ง จึงน่าเป็นห่วงข้อมูลที่ได้ อาจเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริงของสาธารณชน และผิดศาสตร์แห่งการสำรวจ ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ข้อ

1.ไม่มีการสุ่มตัวอย่างคนตอบ แต่เปิดให้คนตอบเสนอตัวเข้ามาตอบ จึงต้องมีการสุ่มตัวอย่างที่ใช้หลักสถิติความน่าจะเป็นในการเลือกตัวอย่างผู้ตอบ ไม่ทำให้กลายเป็นยกพวกกันมาเป็นกฎหมู่เหนือกฎหมายที่จะแก้ไขกันอยู่ตอนนี้ 2.หลักการออกแบบสอบถามที่ดีควรจะสั้นกะทัดรัดประเด็นเดียว แต่เมื่ออ่านคำถามข้อหนึ่งพบว่ามีความยาวถึง 5 บรรทัดกว่า มีหลายประเด็นอยู่ในข้อเดียวกัน

และ 3.ข้อมูลจากการสำรวจนี้ไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย เนื่องด้วยผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์นี้ได้ทุกคน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2559 พบว่าคนนอกเขตเทศบาลซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียง 39.5% เท่านั้น

“ความไม่ครอบคลุมนี้อาจก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนในผลสำรวจที่เผยแพร่ออกมาได้ ดังนั้นผู้ใหญ่ในสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจึงควรทบทวนกระบวนการสำรวจเหล่านี้เสียใหม่ เพื่อปกป้องสถาบันและความน่าเชื่อถือต่อองค์กรอันทรงเกียรติของประเทศไม่ให้กลายเป็นต้นตอของความผิดพลาดในหลักวิชาการของการสำรวจความคิดเห็นสาธารณชนและความขัดแย้งวุ่นวายในหมู่ประชาชนเสียเอง” นายนพดล ระบุ