posttoday

วิศกรรมสถานยัน2เขื่อนยักษ์ไม่มีข้อสงสัยเรื่องความไม่ปลอดภัย

02 สิงหาคม 2561

กาญจนบุรี-ผอ.เขื่อนวชิราลงกรณโต้อาจารย์ดังโพสต์เฟซบุ๊กเตือน2เขื่อนยักษ์เสี่ยงกระตุ้นเกิดแผ่นดินไหวยันเขื่อนไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนมีพลังและมีแผนจัดการน้ำเข้มข้น

กาญจนบุรี-ผอ.เขื่อนวชิราลงกรณโต้อาจารย์ดังโพสต์เฟซบุ๊กเตือน2เขื่อนยักษ์เสี่ยงกระตุ้นเกิดแผ่นดินไหวยันเขื่อนไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนมีพลังและมีแผนจัดการน้ำเข้มข้น

กรณี อ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ สังกัดคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์ในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 31 ก.ค.61โดยเนื้อหาพาดพิงถึงประเด็น เขื่อนวชิราลงกรณ  เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนท่าทุ่งนา จ.กาญจนบุรี ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลก และการที่กฟผ.เก็บกักน้ำในเขื่อนดังกล่าวมากจะกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหว

เมื่อวันที่ 2 ส.ค.61 นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้ชี้แจงว่า ถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีรายงานวิชาการใดยืนยันว่ามีรอยเลื่อนมีพลังอยู่ใต้เขื่อนขณะที่ข้อมูลในการออกแบบเขื่อนของ กฟผ. มีแหล่งยืนยันได้ว่าเขื่อนกฟผ.ไม่ได้ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนมีพลัง นอกจากนี้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยก็มาตรวจสอบเขื่อนดูแล้วไม่มีข้อสงสัยในเรื่องความไม่ปลอดภัย

ส่วนของการเก็บกักน้ำ จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้โดยปกติจากข้อมูลของแผ่นดินไหวที่เกิดจากการ กักเก็บน้ำของเขื่อนทั่วโลก จะมีลักษณะเกิดขึ้นจำนวนมาก และมีขนาดสูงสุดในช่วงเริ่มกักเก็บน้ำใหม่ และจะค่อยๆ ลดจำนวน และขนาดลงจนเหลือน้อยมาก และขนาดเล็กมาก หลังจากเก็บกักน้ำเกิน 10 ปี ส่วนของเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน กฟผ. มีการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนอยู่เป็นประจำและสม่ำเสมอ

ประเด็นปริมาณน้ำในอ่างมีมากกว่า 80% การกักเก็บน้ำในอ่าง อนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้ม สถานการณ์น้ำ ซึ่งประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น จะมีการวางแผนเก็บกักและระบายน้ำ ตั้งแต่ต้นปี และจะมีการประชุมพิจารณาปรับปรุง และทบทวนทุกสัปดาห์ ซึ่งการบริหารน้ำจะอิงเกณฑ์การควบคุมน้ำ (Rule curve) ซึ่งแต่ละเดือนจะไม่เท่ากันตลอด อาจสูงกว่า 80% ก็ได้ ซึ่งต้องดูว่าเป็นฤดูอะไรมีน้ำไหลเข้ามากน้อยอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทุกภาคส่วน และในกรณีเกิดมรสุมเข้ามีปริมาณน้ำมาก เกินกว่าที่คาดไว้จะบริหารให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด