posttoday

ตีกรอบการเมือง ล็อกยุทธศาสตร์ชาติ

30 มิถุนายน 2561

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ เป็นกรอบบังคับการบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2560-2579ภายใต้วิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป้าหมายคือ อีก 20 ปีข้างหน้า

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ เป็นกรอบบังคับการบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2560-2579 ภายใต้วิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป้าหมายคือ อีก 20 ปีข้างหน้า ไทยต้องหลุดพ้นจากประเทศติดกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย้ำชัดว่าไม่ใช่แผนการสืบทอดอำนาจของ คสช.

แต่ไม่วายถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายพรรคการเมืองที่ไม่พอใจ เพราะไม่อาจนำเสนอนโยบายของตัวเองในการหาเสียงเลือกตั้งได้ กลไกสำคัญที่ คสช.วางไว้เพื่อบล็อกไม่ให้ฝ่ายการเมืองนำเสนอนโยบายตามอำเภอใจ หรือนโยบายประชานิยมหวังโกยคะแนนเสียง คือ “ระเบียบว่าด้วยการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. ...” ที่ตีกรอบไม่ให้รัฐบาลใหม่ออกนอกลู่นอกทาง เพราะหากไม่เดินตามที่ยุทธศาสตร์ชาติวางไว้ ย่อมมีความผิดโทษหนักต้องถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญตัดสินถึงขั้นยุบพรรคโทษฐานกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเจ้าภาพหลักในการติดตามประเมินผล แบ่งได้เป็นระดับพื้นที่และระดับกระทรวงมุ่งประเมินความสำเร็จของแผนงาน โครงการของจังหวัดและกระทรวง โดยพิจารณาปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบโดยใช้โมเดลเชิงตรรกะ เป็นเครื่องมือ ส่วนการติดตามประเมินผลในระดับยุทธศาสตร์ที่มุ่งประเมินความสำเร็จของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ จะใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงเป็นเครื่องมือในการศึกษาเปรียบเทียบการประเมินผลลัพธ์ และผลกระทบระหว่างค่าที่เกิดขึ้นจริงกับค่าที่คาดหวังในแต่ละตัวชี้วัด

ทั้งนี้ การติดตามประเมินผลมี 2 มิติ คือ มิติที่ 1 ระดับยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นระดับที่เป็นเป้าหมายที่คาดหวังจะพัฒนาประเทศ เป็นจุดสูงสุดของรูปสามเหลี่ยมที่ต้องการให้เกิดในมุมมองมิติระดับยุทธศาสตร์ จะเป็นการมองผลผลิตที่คาดหวัง ผลลัพธ์ที่คาดหวัง และผลกระทบที่คาดหวัง ซึ่ง สศช.จัดทำรายงานติดตามประเมินผล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เชื่อมโยงกับแผนงาน โครงการทั้งในระดับกระทรวงและพื้นที่ และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยการใช้ตัวชี้วัดผลผลิตร่วม ตัวชี้ผลลัพธ์ร่วม ตัวชี้วัดผลกระทบร่วม เป็นเครื่องมือวัดผลการพัฒนาในภาพรวมของประเทศ 

มิติที่ 2 นี้เป็นระดับปฏิบัติการที่นำโครงการ แผนงาน กิจกรรมและมาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้น จากการนำแนวทางการพัฒนาของยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ เป็นการมองผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง ความสำเร็จในระดับยุทธศาสตร์จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยความสำเร็จจากการดำเนินงานของโครงการ แผนงาน กิจกรรมและมาตรการต่างๆ ทั้งในระดับกระทรวง และระดับพื้นที่ ซึ่งกระทรวงร่วมกับพื้นที่จังหวัดต้องทำหน้าที่จัดทำรายงานติดตามประเมินผล แผนงาน โครงการ ทั้งในระดับผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการประเมินผลแผนพัฒนาฯ และยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมทั้งจัดฝึกอบรมเทคนิค วิธีการ หลักการ แนวคิดในการประเมินผลแผนงานโครงการให้กับหน่วยงานปฏิบัติให้มีความรู้ความสามารถในการติดตาม ประเมินผลแผนงานโครงการควบคู่ไปกับสร้างระบบตรวจสอบระบบติดตามประเมินผล เพื่อปรับระบบติดตามประเมินผลให้มีมาตรฐานสากล โดยในทุกขั้นตอนต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนรวม รับฟังความคิดเห็น และตรวจสอบแผนงานโครงการ

นอกจากนี้ มีการวางระบบการติดตามประเมินผล 3 ระยะเวลา คือ 1.ประเมินผลก่อนการปฏิบัติการหรือก่อนเริ่มโครงการ 2.ขั้นตอนการจัดเตรียมนโยบายทั้งรูปกฎหมายและไม่ใช่กฎหมายเพื่อกลั่นกรองโครงการ เช่น ศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ต้นทุนการดำเนินงาน และ 3.การประเมินผลระหว่างดำเนินการ เป็นการติดตามประเมินผลความก้าวหน้าในระยะที่กำลังดำเนินงานเพื่อศึกษาว่ามีปัญหาอุปสรรคใดบ้างในการดำเนินงานทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน สำหรับการประเมินผลหลังการดำเนินงานเป็นการประเมินผลเพื่อสรุปเมื่อสิ้นสุดแผนแล้วได้รับความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใด 

ในท้ายที่สุดตามมาตรา 11 ของกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี หรือในกรณีที่สถานการณ์ของโลกหรือสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถหรือไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการตามเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ด้านหนึ่งด้านใดได้ย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องให้ความเห็นชอบเท่านั้น