posttoday

อัยการแจงปปช.ไม่ได้ตีกลับสำนวนผู้การฯสุทธิคดีหวย30ล้าน แต่ส่งให้ตร.ทำสำนวนต่อ

06 มิถุนายน 2561

รองโฆษกอัยการสูงสุดแจงป.ป.ช.ไม่ได้ตีกลับสำนวน อดีตผู้การฯเมืองกาญจนบุรี คดีหวย30ล้าน แต่เป็นการส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อเพื่ออัยการปราบปรามทุจริตภาค 7 สั่งคดี

รองโฆษกอัยการสูงสุดแจงป.ป.ช.ไม่ได้ตีกลับสำนวน อดีตผู้การฯเมืองกาญจนบุรี คดีหวย30ล้าน แต่เป็นการส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อเพื่ออัยการปราบปรามทุจริตภาค 7 สั่งคดี

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช. มีมติเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ใช้อำนาจตามมาตรา 89/2 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ให้ส่งสำนวนคดีกล่าวหา พล.ต.ต.สุทธิ พวงพิกุล อดีต ผบก.ภ.จว.กาญจนบุรี ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำให้การในสำนวนคดีลอตเตอรี่ 30 ล้านบาท ให้กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) พนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หลังจากเห็นว่าพนักงานสอบสวน รวบรวมเอกสารจำนวนมากไว้แล้วก็ให้ดำเนินการต่อไป โดยระบุว่า

เมื่อ ป.ป.ช. คืนสำนวนคดีพล.ต.ต.สุทธิ ให้ ปปป. แล้ว ในส่วนของสำนวนที่ นายปรีชา หรือครูปรีชา ใคร่ครวญ และ นางรัตนา หรือเจ๊บ้าบิ่น สุภาทิพย์ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในฐานะร่วมสนับสนุน พล.ต.ต.สุทธิ เป็นเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วยนั้น ก็ต้องส่งให้ ปปป.ด้วย

ส่วนคดีที่ตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดอาญา 3 ข้อหา ฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย , ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายและรู้ว่ามิได้กระทำผิดเกิดขึ้น , ร่วมกันแจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด โดยเป็นการแจ้งเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ ซึ่งอัยการเคยมีความเห็นให้ตำรวจกองปราบปรามส่งสำนวนความผิดอาญา 3 ข้อหา ให้ ป.ป.ช. พิจารณาร่วมด้วยกับข้อกล่าวหาสนับสนุนเจ้าพนักงานทำผิด ม.157 นั้น ก็ต้องส่งกลับให้ตำรวจกองปราบปรามที่เป็นพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

รองโฆษกอัยการฯ อธิบายอีกว่า การมีมติของ ป.ป.ช. เช่นนี้ ไม่ใช่การตีกลับสำนวน แต่เป็นการอาศัยอำนาจ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ม.89/2 บัญญัติว่า กรณีที่ ป.ป.ช. พิจารณาเห็นสมควร อาจส่งเรื่องที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนดำเนินการทางวินัยหรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วแต่กรณี หรือส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปก็ได้ ก็คือ ป.ป.ช.เห็นว่าเป็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับหน้าที่ราชการ แต่มอบหมายให้พนักงานสอบสวนอื่นที่มีอำนาจช่วยดำเนินการตามขั้นตอน

ที่ผ่านมาครั้งแรก เมื่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม สรุปสำนวนครูปรีชา-เจ๊บ้าบิ่นแจ้งความเท็จคดีหวยส่งมาให้ อัยการคดีอาญาก็เห็นว่าสำนวนกล่าวหาครูปรีชา-เจ๊บ้าบิ่น แจ้งความเท็จและข้อกล่าวหา พล.ต.ต.สุทธิ แก้สำนวนคดีหวย 30 ล้าน กับข้อกล่าวหาครูปรีชา-เจ๊บ้าบิ่น สนับสนุนทำผิด ม.157 นั้นล้วนมีเจตนาเดียวกัน คือประสงค์เอาเงินลอตเตอรี่ จึงถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันและต้องรวมสำนวนพิจารณาเข้าด้วยกัน แต่เมื่อ ป.ป.ช. มีมติว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนทำไปเยอะแล้ว จึงอาศัยอำนาจ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ตามมาตรา 89/2 ให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ทำสำนวนต่อไป

ดังนั้นเมื่อ ป.ป.ช.ให้พนักงานสอบสวนเดิมที่รวบรวมหลักฐานดำเนินการต่อไป พนักงานสอบสวนกองบังคับการกองปราบปราม และ ปปป. ก็ต้องร่วมพิจารณาข้อกฎหมายกันภายในว่าหน่วยใดจะรับเป็นเจ้าภาพทำสำนวน ที่มีพฤติการณ์เจตนาเดียวกัน จากสำนวนทั้งหมดนั้น

ซึ่งในส่วนของคดีที่เกี่ยวข้องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หากพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนตามขั้นตอนส่งให้อัยการ ก็จะเข้าสู่อัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 7 พิจารณาสั่งคดี เนื่องจากเหตุข้อกล่าวหานั้นเกิดที่ จ.กาญจนบุรี และหากสั่งฟ้องก็ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ต่อไป