posttoday

อีกกลเม็ดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จ้าง 5,000 เปิดบัญชีแบงก์

13 มีนาคม 2561

"บางคนเปิดเป็น 10 บัญชีก็ได้เงิน 5 หมื่นบาท หรือบัญชีละ 5,000 บาท ซึ่งชื่อบัญชีเดียวกันแต่ไปโยงถึงคนละแก๊งก็มี"

"บางคนเปิดเป็น 10 บัญชีก็ได้เงิน 5 หมื่นบาท หรือบัญชีละ 5,000 บาท ซึ่งชื่อบัญชีเดียวกันแต่ไปโยงถึงคนละแก๊งก็มี"

*************************** 

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

หลังจากที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เซ็นคำสั่งให้ตั้ง "ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกงประชาชนผ่านระบบโทรศัพท์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” หรือ ศป.ฉปทน.ตร. และมอบหมายให้ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ที่นำทัพเข้ามาจัดการทั้งระบบกับ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่หลอกลวงประชาชนมานาน

ผลลัพธ์ก็ประจักษ์ขึ้นทันทีด้วยยอดการจับกุมอย่างต่อเนื่อง ผ่านการออกหมายจับขบวนการคอลเซ็นเตอร์ไปกว่า 200 หมายจับ และตามล่ามารับโทษได้แล้วถึง 170 คน หยุดยั้งการหลอกลวงเอาไว้ไม่ให้ขยายเป็นวงกว้างออกไป

แต่ก็ใช่ว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้นจะหมดไป

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หัวเรือใหญ่ในการตามล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยอมรับว่าสถานการณ์การหลอกลวงคนไทยนั้นดีขึ้น เพราะสามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาของแก๊งระดับ “บอส” มาได้ถึง 8 คน รวมถึงระยะหลังที่ประสานกับตำรวจประเทศเพื่อนบ้านด้วยการร่วมปฏิบัติ “จับ ปราบ” ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต้องหยุดชะงัก แต่ก็ยังไม่ได้หมายความว่ามันจะหมดไปง่ายๆ เพราะยังมีแก๊งอื่นที่ตำรวจต้องตามล่าด้วยเช่นกัน และการเอาตัวคนระดับบอสมารับโทษก็ยากไม่น้อยเพราะพวกนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ต่างประเทศ คอยกำกับสั่งการลูกแก๊งให้ปฏิบัติงาน

ด้วยรูปแบบการแบ่งหน้าที่ทำงานที่ชัดเจนทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีความเป็นระบบในการหลอกลวง เริ่มจากหัวหน้าใหญ่หรือบอสที่ว่า จะสั่งการให้หาคนมาร่วมเปิดบัญชีธนาคาร ซึ่งจะเป็นหัวใจหลักของการเริ่มหลอกลวง และขั้นตอนนี้จะมีการซื้อขายบัญชีกับคนไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยแก๊งจะไปควานหาเพื่อว่าจ้างคนที่ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง หรือไม่อยู่ในระบบ เช่น คนขับแท็กซี่ ผู้ที่มีอาชีพรับจ้าง โดยเสนอให้ไปเปิดบัญชีเพื่อแลกกับเงิน 5,000 บาท

“บางคนเปิดเป็น 10 บัญชีก็ได้เงิน 5 หมื่นบาท หรือบัญชีละ 5,000 บาท ซึ่งชื่อบัญชีเดียวกันแต่ไปโยงถึงคนละแก๊งก็มี เมื่อได้บัญชีธนาคารมาแล้วก็จะใช้บัญชีไว้รับเงินที่หลอกมา ซึ่งจากขั้นตอนนี้ไปก็จะมีม้าเร็ว หรือคนกดเงินสดออกจากตู้เอทีเอ็มมารวบรวมเอาไว้ ก่อนจะโอนเงินที่หลอกมาไปยังต่างประเทศ” พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ อธิบายการทำงานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการเพิ่มโทษการรับจ้างเปิดบัญชีด้วยการจำคุก 5 ปี ก็ทำให้คนไทยต้องขยาด และเป็นมาตรการเชิงรุกของตำรวจที่ใช้ตัดแขนขาของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ซึ่งนับว่าได้ผล อีกทั้งบวกกับการตามล่าขบวนการอย่างต่อเนื่องและทำให้สถานการณ์ขณะนี้ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ยืนยันได้ว่าสามารถควบคุมได้

"ขบวนการที่โยงใยไปยังต่างประเทศทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่อันตรายกับเงินทองของประชาชน แต่ประเทศไทยยังไม่น่ากลัวเท่ามาเลเซีย เพราะแค่ปี 2560 แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกคนมาเลย์สูญเงินไปกว่า 1,000 ล้านบาท และมีคดีมากกว่า 400 คดี ซึ่งตำรวจไทยก็ส่งทีมไปช่วยกับคดีที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน ผ่านความร่วมมือของตำรวจสากล ผมยืนยันว่าเรารุกคืบในทุกมิติ เพื่อปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้หมดไปให้ได้” พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ยืนยัน

มาตรการเชิงรุกขั้นต่อไปหลังการเก็บกวาดบ้านของตัวเองได้ผล และเริ่มทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ต้องชะงัก สิ่งที่ต้องดำเนินการตามมาคือการแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาคอลเซ็นเตอร์ตามเป้าหมายของ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะต่างฝ่ายก็ต้องช่วยเหลือกันเพื่อจัดการปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เกิดขึ้นในประเทศตัวเอง

เมื่อการไล่ปราบไล่จับกำลังคืบหน้าอย่างเป็นระบบ อีกชิ้นงานที่ต้องควบคู่กันไปคือการทวงความยุติธรรมคืนให้กับผู้เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการ “เอาเงินคืน”

เรื่องนี้ได้รับคำตอบจาก พล.ต.อ.ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และในฐานะหัวหน้า ศป.ฉปทน.ตร. ที่คอยกำกับภาพรวมการไล่ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กล่าวว่า จากผลการประสานงานไปยังสถาบันการเงินต่างๆ รวมถึงสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้ร่วมเฝ้าระวังบัญชีต้องสงสัยที่อาจจะเป็นบัญชีของคนร้ายที่ใช้หลอกเอาเงินเหยื่อ โดยผลการทำงานร่วมกันกว่า 7 เดือน สามารถอายัดเงินป้องกันไม่ให้คนร้ายโอนเงินออกต่างประเทศไปได้กว่า 120 ล้านบาท

“ที่ผ่านมาเมื่ออายัดเงินจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไว้ได้แล้ว เจ้าหน้าที่ก็ได้ทยอยคืนเงินให้กับผู้เสียหายไปแล้วหลายครั้ง อย่างล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมานำเงินคืนผู้เสียหายไปรวม 16 คน เป็นเงินกว่า 3.2 ล้านบาท ผลพวงที่อายัดได้อย่างรวดเร็วเพราะผู้เสียหายตั้งสติได้ทันแม้จะถูกหลอกไปแล้ว และรีบแจ้งมายังสายด่วน 1710 ซึ่งเปิดรองรับเอาไว้สำหรับผู้เสียหาย ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถไล่ตรวจเช็กได้ทันก่อนที่คนร้ายจะโอนเงินออกนอกประเทศ” พล.ต.อ.ธนิตศักดิ์ กล่าว