posttoday

กรธ.เสนอ 10 ชื่อนั่งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย

13 กุมภาพันธ์ 2561

กรธ.เสนอ 10 ชื่อนั่งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณากฎหมายลูก ส.ส. และ สว. ชี้ สนช.คว่ำแค่ประเด็นเดียวตกตั้งฉบับ

กรธ.เสนอ 10 ชื่อนั่งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณากฎหมายลูก ส.ส. และ สว. ชี้ สนช.คว่ำแค่ประเด็นเดียวตกตั้งฉบับ

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า กรธ.ได้มีมติมอบหมายให้ตัวแทนของกรธ.เข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการวิสามัญ 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส. และ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. ดังนี้ 1.กรรมาธิการวิสามัญฯในส่วนของกฎหมายเลือกตั้งสส. ประกอบด้วย พล.อ.อัฎฐพร เจริญพานิช, นายภัทระ คำพิทักษ์, นายศุภชัย ยาวะประภาษ, นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง และ นายนรชิต สิงหเสนี 2.กรรมาธิการวิสามัญฯในส่วนของกฎหมายการได้มาซึ่งสว. ประกอบด้วย นายอัชพร จารุจินดา, นายชาติชาย ณ เชียยงใหม่, นายปกรณ์ นิลประพันธ์, นายอภิชาต สุขัคคานนท์ และ นายอุดม รัฐอมฤต

นายอุดม กล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นที่กรธ.โต้แย้งการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ แบ่งออกเป็น ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งสส. จำนวน 4 ประเด็น 1.การจำกัดสิทธิในการได้รับแต่งตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม 2.การจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ กรธ.เห็นว่า การหาเสียงเลือกตั้งควรมุ่งเน้นที่จะทำให้ประชาชนได้เข้าใจถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มิใช่มุ่งเน้นที่ความบันเทิงเพื่อเป็นเครื่องมือจูงใจให้ประชาชนไปลงคะแนนให้ 3.การขยายเวลาในการออกเสียงลงคะแนน กรธ.เห็นว่าเวลาการออกเสียงระหว่าง 8.00-16.00น.ที่กำหนดไว้เดิมนั้นมีความเหมาะสมแล้วและช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงเป็น 7.00-17.00น. จะทำให้เกิดปัญหาในการทำหน้าที่ และ 4.การออกเสียงลงคะแนนแทนคนพิการ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ กรธ.เห็นว่าการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขในลักษณะดังกล่าวมีผลให้ผู้อื่นลงคะแนนแทนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งไม่เป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับ อันเป็นสาระสำคัญของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

นายอุดม กล่าวว่า ขณะที่ประเด็นโต้แย้งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.มี 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงจำนวนกลุ่มการสมัครจาก 20 กลุ่มเหลือเพียง 10 กลุ่ม กรธ.เห็นว่าวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้มีเจตนารมณ์ให้เป็นสภาพี่เลี้ยงหรือสภาตรวจสอบที่ต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ หากแต่มีเจตนารมณ์ให้เป็นสภาที่ประชาชนจากทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง ดังนั้น การลดทอนให้เหลือเพียง 10 กลุ่ม จึงเป็นการลดทอนหลักประกันว่าวุฒิสภาจะเป็นสภาที่ประกอบด้วยประชาชนจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างแท้จริง

2.การแบ่งผู้สมัครในแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภท และการให้ผู้ในแต่ละประเภทเลือกกันเอง กรธ.เห็นว่าจะมีผลให้เกิดกรแบ่งสว.ออกเป็นสองประเภท ทั้งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้มีมุ่งหมายเช่นนั้น อีกทั้งการให้มีองค์กรเป็นผู้เสนอชื่อหรือรับรองผู้สมัครรับเลือกเป็นสว. เป็นประเด็นที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแจ้งชัด เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าประชาชนมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคน

3.ยกเลิกการเลือกไขว้ กรธ.เห็นว่าการกำหนดมาตรการเลือกไขว้ในการเลือกกันเอง จะทำให้ความเป็นไปได้ในการสมยอมกันในการเลือกทำได้ยากขึ้น แต่การตัดมาตรการดังกล่าวออกโดยไม่มีมาตรการที่เท่าเทียมกัน จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการสมยอมโดยไม่สุจริต

นายอุดม กล่าวว่า ทั้งนี้ ตามขั้นตอนเมื่อสนช.มีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่ายแล้วจะต้องแล้วเสร็จภายใน 15 วันนับจากวันที่ที่ประชุมสนช.แต่งตั้ง ส่วนขั้นตอนภายหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะเป็นหน้าที่ของที่ประชุม สนช.ในการลงมติในประเด็นที่มีการโต้แย้งในแต่ละประเด็นว่า จะเห็นชอบหรือไม่ ถ้ามีประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่สนช.มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบเกิน 2 ใน 3 จะมีผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปทั้งฉบับทันที

"กรณีของร่างกฎหมายเลือกตั้งสส.คิดว่าเป็นปัญหาในเชิงเทคนิคที่น่าจะสามารถหาข้อยุติได้ร่วมกัน แต่สำหรับกฎหมายสว.ส่วนตัวคิดว่ามีประเด็นหนักพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งผู้สมัครออกเป็นสองกลุ่ม"นายอุดม กล่าว