posttoday

สนช.อุ้มศาลรธน.อยู่ยาว

24 พฤศจิกายน 2560

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 188 คะแนน เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 188 คะแนน เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

ตามขั้นตอน สนช.จะส่งร่างกฎหมายให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่ายหรือไม่ต่อไป

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 9 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี ประกอบด้วย

1.ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาที่ได้รับคัดเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 3 คน

2.ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดจำนวน 2 คน

3.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ในตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย จำนวน 1 คน

4.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ในตำแหน่งศาตราจารย์ จำนวน 1 คน

5.ผู้ทรงคุณวุฒิที่รับหรือเคย รับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบหรือไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุด จำนวน 2 คน

สำหรับประเด็นที่มีการอภิปรายมากที่สุด คือ มาตรา 69/1 และมาตรา 71/1 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญของ สนช.ที่มี "สมคิด เลิศไพฑูรย์" สมาชิก สนช.เป็นประธาน ได้เพิ่มเติมขึ้นมาในภายหลังจากเดิมที่ กรธ.ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมายไม่ได้มีการบัญญัติมาตราดังกล่าวเอาไว้

มาตรา 69/1 เป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีมาตรการหรือวิธีการใดๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยและออก คำสั่งไปยังหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรง ที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาวภายหลัง หรือเพื่อป้องกันความรุนแรงอันใกล้จะถึง

ส่วนมาตรา 71/1 มีหลักการว่าภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหากมีความจำเป็นจะต้องบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย ให้ศาลมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลเอาไว้ในคำวินิจฉัยนั้น โดยศาลอาจกำหนดให้มีผลไปในอนาคตขณะใดขณะหนึ่งหลังวันอ่านคำวินิจฉัย ตามความจำเป็นหรือสมควรตามความเป็นธรรมแห่งกรณี

ในกรณีนี้ตัวแทนจาก กรธ.นำโดย "อุดม รัฐอมฤต" ได้อภิปรายคัดค้านว่า การให้ศาลมีอำนาจออกคำบังคับหรือมาตรการชั่วคราวตามมาตรา 69/1 และ มาตรา 71/1 ยังคงเป็นประเด็นที่ทำให้อาจก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองได้

"เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยที่เป็นการกระทำ ต่อองค์กรที่ใช้อำนาจสูงสุดของรัฐ ผล คือ ถ้าองค์กรเหล่านั้นจำเป็นต้องมี คำบังคับหรือวิธีการหรือมาตรการชั่วคราวแล้ว เท่ากับว่าถ้าเขาไม่ทำจะเกิดผล อะไรในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นประเด็นที่ กรธ.ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยมีความเห็นว่าการคงไว้ซึ่งมาตรา 69/1 หรือมาตรา 71/1 ก็ดี เท่ากับว่าคำวินิจฉัยของศาลจำเป็นต้องมีมาตรการ ดังนั้น กรธ.เห็นว่าการคงไว้ซึ่งมาตราดังกล่าวจะเป็นปัญหาในกระบวนการการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ" อุดม กล่าว

ที่สุดแล้วในมาตรา 69/1 ที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 194 ต่อ 5 คะแนน เช่นเดียวกับ มาตรา 71/1 ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 194 ต่อ 5 คะแนน ให้ความเห็นชอบเช่นกัน

นอกเหนือไปจากบทบัญญัติมาตรา 69/1 และมาตรา 71/1 ปรากฏว่าที่ ประชุม สนช.ยังได้ใช้เวลาในการอภิปราย มาตรา 76 และ มาตรา 77 ที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันจำนวน 9 คนด้วย

โดยคณะ กมธ.วิสามัญฯ แก้ไขให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 4 คนที่ยังมีวาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่สามารถดำรงตำแหน่งไปได้จนกว่าจะครบวาระ ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนที่พ้นตำแหน่งไปแล้วแต่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้นจะอยู่ในตำแหน่งจนถึงมีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการประชุมได้มีการแก้ไขเนื้อหาของมาตราดังกล่าวอีกครั้ง โดยกำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 4 คนอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระการดำรงตำแหน่ง ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 5 คน อยู่ในตำแหน่งจนมีการประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อให้มีประธานสภาผู้แทนราษฎรและ เลือกตั้ง สส.และสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีประธานสภาและผู้นำฝ่ายค้านในสภามาทำหน้าที่คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ด้าน "สุพจน์ ไข่มุกด์" กรรมการ กรธ.และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อภิปรายท้วงติงการแก้ไขของ คณะ กมธ.วิสามัญฯ ว่า "การที่บอกว่าให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ไปจนถึงการประชุมรัฐสภาจะเกิดความสง่างามเพราะมีประธานสภาและผู้นำฝ่ายค้าน แต่ความสง่างามจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อปัจจุบันตุลาการ 5 ท่านที่หมดวาระไปแล้วปฏิบัติหน้าที่ต่อไปภายใต้คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 24/2560 ถ้าท่านพูดถึงเรื่องสง่างาม ผมคิดว่าถ้ามีการสรรหาหรือคัดเลือกในทันที ท่านจะได้ตุลาการชุดใหม่ที่มีความสง่างามมากกว่า"

"ปัจจุบันท่านปฏิบัติหน้าที่ครบ 9 ปีแล้ว จะให้ปฏิบัติหน้าที่จนถึงปีที่ 11 ปีที่ 12 ปีที่ 13 ต่อไป ผมว่าความสง่างามจะไม่เกิดขึ้น" สุพจน์ กล่าว

จากนั้นที่ประชุม สนช.มีมติเสียงข้างมาก 187 ต่อ 5 คะแนนเห็นชอบมาตรา 76 และมีมติเสียงข้างมาก 193 ต่อ 3 เห็นชอบมาตรา 77