posttoday

โพลชี้กรมบังคับคดีมีส่วนช่วยการค้า-ลงทุนส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ

20 กันยายน 2560

ซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจประชาชนพบร้อยละ 98.4 กรมบังคับคดีช่วยการค้าการลงทุนและส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ โดยประชาชนเชื่อมั่นกระบวนการบังคับคดี

ซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจประชาชนพบร้อยละ 98.4 กรมบังคับคดีช่วยการค้าการลงทุนและส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ  โดยประชาชนเชื่อมั่นกระบวนการบังคับคดี

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. เวลา 13.30 น. น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี พร้อม นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล แถลงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี โดยผลจากการสำรวจร้อยละ 98.4 เชื่อมั่นว่า การทำงานของกรมบังคับคดีมีส่วนช่วยในด้านการค้า การลงทุน และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ

นางสาวรื่นวดี  สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า ภารกิจของกรมบังคับคดีเป็นกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งที่เกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่ง บังคับคดีล้มละลาย การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ การชำระบัญชี การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล และมีผลต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนมีส่วนในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี (พ.ศ.2559-2562) ของกรมบังคับคดี ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การยกระดับการบังคับคดีให้เป็นสากล และอำนวยความยุติธรรมอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ซึ่งได้กำหนดเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ ระบบบังคับคดีสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ และได้กำหนดตัวชี้วัดเรื่อง ร้อยละความเชื่อมั่นในกระบวนการบังคับคดี ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้รับบริการ กรมบังคับคดีจึงได้จัดทำโครงการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 เพื่อสำรวจการรับรู้ และความเข้าใจ ตลอดจนความเชื่อมั่นของประชาชน ผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมบังคับคดี อีกทั้งจะเป็นแนวทางในการปรับบปรุงและพัฒนางาน รวมทั้งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกรมบังคับคดี ซึ่งถือว่า เป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดีเป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ การดำเนินงานของกรมบังคับคดียังได้รับ การประเมินโดยธนาคารโลกตามกรอบการจัดอันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (Ease of Doing Business) ที่เกี่ยวกับตัวชี้วัดที่ 9 เรื่องการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง (Enforcing Contracts) และตัวชี้วัดที่ 10 เรื่องการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย (Resolving Insolvency ) ดังนั้น การบังคับคดีแพ่งและล้มละลาย และการดำเนินภารกิจที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ของกรมบังคับคดี ต้องมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และตอบสนองความต้องการของประชาชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่มาใช้บริการของกรมบังคับคดี และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การสำรวจมีความเป็นมาตรฐาน น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับ มีความเป็นกลาง และปราศจากอคติ ในการสำรวจ จึงต้องมีผู้ประเมินอิสระจากหน่วยงานภายนอกเป็นผู้ดำเนินการ กรมบังคับคดีจึงได้มอบให้สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เป็นผู้ดำเนินการตามโครงการนี้

อย่างไรก็ตาม กรมบังคับคดีจะนำผลสำรวจมาประเมินและปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ และเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนากระบวนการบังคับคดีและการให้บริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเป็นการดำเนินงานที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกและความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการเป็นสำคัญ เพื่อให้ประชาชนผู้รับบริการได้เข้าถึงบริการของกรมบังคับคดีได้อย่างง่าย และสะดวก และที่สำคัญคือ การดำเนินงานตามหลักความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้

นายนพดล กล่าวว่า การสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการบังคับคดี ใน 5 กระบวนการ ประกอบด้วย1. กระบวนการบังคับคดีแพ่ง   2. กระบวนการบังคับคดีล้มละลาย    3. กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้     4. กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี และ 5. กระบวนการติดตามและเฉลี่ยทรัพย์สินในคดีล้มละลาย และมีผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี จากกลุ่มประชากรเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 1,080 รายทั่วประเทศ โดยใช้วิธีการดำเนินการ 3 ส่วน คือ การสำรวจความเชื่อมั่นโดยการใช้แบบสอบถามประกอบการสัมภาษณ์ การสัมภาษณ์เชิงลึก และการจัดสนทนากลุ่ม สรุปผลการสำรวจได้ ดังนี้

1. การทำงานของกรมบังคับคดีมีส่วนช่วยการค้าการลงทุนและส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 98.4

2. การทำงานของเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีในภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ในอดีต คิดเป็นร้อยละ 86.3

3. กระบวนการขายทอดตลาดซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของกรมบังคับคดี มีความโปร่งใสเป็นธรรม ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 89.9

3.1) ผู้มีส่วนได้เสียมีความเชื่อมั่นต่อข้อมูลกระบวนการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีคิดเป็นร้อยละ 85.7

3.2) การขายทอดตลาดผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Offering Auction) เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียเวลาในการทำงาน และไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คิดเป็นร้อยละ 91.4

3.3) การอธิบาย หลักเกณฑ์ ขั้นตอนวิธีการ ตลอดจนการให้คำแนะนำและข้อตักเตือนในการขายทอดตลาดทรัพย์ มีความชัดเจน คิดเป็นร้อยละ 88.3    นอกจากนี้ พบว่าผู้รับบริการมีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีแพ่ง ร้อยละ 85.8 กระบวนการบังคับคดีล้มละลาย ร้อยละ 91.3 กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ร้อยละ 88.0 กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ร้อยละ 82.1 และกระบวนการติดตามและเฉลี่ยทรัพย์ในคดีล้มละลายร้อยละ 90.2 และร้อยละของความเชื่อมั่นในกระบวนการบังคับคดีที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนหรือผู้รับบริการในภาพรวม คิดเป็นร้อยละ 86.95 (ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ การบริการ)