posttoday

"พรเพชร"วอนอย่ามองแง่ร้ายเลื่อนเลือกตั้ง

19 กันยายน 2560

ประธาน สนช. วอนอย่ามองแง่ร้ายเลื่อนเลือกตั้ง ยันเดินตามโรดแมป ชี้ หากกฎหมายลูกตกสภา กรธ.ต้องทำใหม่โดยไม่มีเวลามาบีบ

ประธาน สนช.  วอนอย่ามองแง่ร้ายเลื่อนเลือกตั้ง ยันเดินตามโรดแมป ชี้ หากกฎหมายลูกตกสภา กรธ.ต้องทำใหม่โดยไม่มีเวลามาบีบ

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า การเลือกตั้งจะสามารถเกิดขึ้นในกลางปี 2561 ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งที่เหลืออยู่มีการประกาศใช้ กระบวนการของการจัดทำร่างกฎหมายถูกบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้วว่าขั้นตอนใดใช้เวลาเท่าไร

“ดังนั้นถ้าขั้นตอนใดไม่เกิดขึ้น เช่น ไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม หรือไม่มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็ตัดขั้นตอนนั้นไป เป็นต้น แต่ถ้ามีขั้นตอนดังกล่าวขึ้นหมายความว่ามันต้องขยายระยะเวลาออกไปตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนด” นายพรเพชร กล่าว

เมื่อถามว่า กระบวนการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่จะมีผลกระทบกับการเลือกตั้งหรือไม่อย่างไร นายพรเพชร กล่าวว่า กกต.ชุดปัจจุบันยังคงทำหน้าที่รักษาการต่อไปและมีอำนาจตามปกติจนกว่าจะมีกกต.ชุดใหม่ ซึ่งคิดว่าคงไม่เป็นปัญหาต่อการกำหนดวันเลือกตั้ง เพราะกกต.ชุดปัจจุบันยืนยันแล้วว่าจะเดินหน้าทำงานเต็มที่

เมื่อถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีการปรองดองก่อนการเลือกตั้ง นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าประเด็นนี้ใครเป็นคนตั้ง อย่างไรก็ตาม การสร้างความปรองดองเป็นสิ่งเราเรียกร้อง แต่ไม่ได้เป็นเงื่อนไข การปรองดองเป็นเป้าหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ส่วนการเลือกตั้งก็ดำเนินการตามโรดแมป

เมื่อถามว่า ปัจจุบันร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส.และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังไม่ได้ส่งมายังสนช. จะมีผลกระทบต่อการพิจารณาร่างกฎหมายให้ทันตามกำหนดหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว กรธ.ยืนยันมั่นคงแล้วว่าจะต้องส่งมายังสนช.ภายในต้นเดือนธ.ค. จึงไม่มีเหตุผลที่จะล่าช้าออกไป เพราะเป็นกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญ และเมื่อส่งมายังสนช.แล้ว สนช.ก็ต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วัน

“ถ้า 60วันนั้นเสร็จ ก็นำขึ้นกราบบังคมทูลฯและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา แต่จากตัวอย่างที่เห็นมาแทบทุกฉบับมีการโต้แย้งและต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม มีเพียงฉบับเดียวที่ไม่ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม คือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากกฎหมายไม่ได้เปิดโอกาสให้ศาลยุติธรรมสามารถโต้แย้งได้ ดังนั้น คงต้องดูต่อไปว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมในร่างกฎหมายสส.และสว.หรือไม่ กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ยากเพราะต้องรับฟังความเห็นพรรคการเมืองและประชาชนจำนวนมาก ซึ่งสนช.ก็ได้เตรียมการศึกษาล่วงหน้าเอาไว้ก่อน” นายพรเพชร กล่าว

เมื่อถามว่า ถ้าพ้นกำหนด 240 วันที่กรธ.มีหน้าที่เสนอร่างกฎหมายเลือกตั้งให้กับสนช. แต่เกิดกรณีที่สนช.ลงมติไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายเลือกตั้งฉบับใดฉบับหนึ่ง องค์กรใดจะทำหน้าที่เสนอร่างกฎหมายใหม่อีกครั้ง นายพรเพชร กล่าวว่า ถ้ามันเป็นอย่างนั้น กรธ.ต้องเป็นคนยกร่างขึ้นมาใหม่ เพราะกรธ.เขาบอกเอง เป็นไปตามหลักธรรมดาที่เมื่อมีการโต้แย้งมากรธ.ก็ต้องเอาไปปรับปรุงใหม่ในคณะกรรมาธิการร่วม และถ้าสมมติมันเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวต้องตกไป เขาก็ต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ

เมื่อถามอีกว่า หากกรธ.ต้องนำกลับไปทำใหม่ จะต้องมีกรอบเวลาในการทำงานหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า กรอบเวลาจะถูกบังคับโดยสภาพการณ์ที่จะต้องทำให้เสร็จอย่างรวดเร็ว เอาเป็นว่าอย่าไปสมมติเลย เพราะมันถูกบังคับโดยสภาพการณ์อยู่แล้ว

เมื่อถามว่า การที่ไม่กำหนดกรอบเวลาลงไป จะทำให้เป็นช่องให้เกิดการลากยาวออกไปหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า “ต้องมองกรธ.ในแง่ดีบ้างนะ อย่างไรเขาก็ต้องรีบทำ ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น มาถามผมเรื่องถ้าอย่างนี้ แล้วไปลงข่าวไม่ตรง ผมก็เสียหายนะ อย่าเพิ่งถ้าเลย ถ้ามันเกิดขึ้นแล้วมาถามอีกทีดีกว่า”