posttoday

ขึ้นทะเบียนต่างด้าวต่ำกว่าคาด... ปัญหาอยู่ที่ไหน

14 สิงหาคม 2560

การปิดศูนย์เฉพาะกิจจดแจ้งทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขนายจ้างและแรงงานมาลงทะเบียนน้อยผิดปกติกว่าที่คาด

โดย...ดร.ธนิต  โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย

การปิดศูนย์เฉพาะกิจจดแจ้งทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขนายจ้างและแรงงานมาลงทะเบียนน้อยผิดปกติกว่าที่คาด ซึ่งน่าจะมีแรงงานทั้งบัตรสีชมพูและไม่มีบัตรอะไรเลยมาขึ้นทะเบียนไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคน เชื่อว่ามีนายจ้างจำนวนมากยังรีๆ รอๆ ทำให้น่าจะมีแรงงานตกค้างเป็นจำนวนมาก ตัวเลขที่นายจ้างมายื่นเพื่อขึ้นทะเบียนขอคิวยื่นเอกสารทำงานให้ถูกต้องมีเพียงไม่ถึงครึ่งของจำนวนแรงงานที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ควรออกมาโบ้ยว่าเอกชนไม่ใส่ใจ จากนี้ไปจะไล่จับแต่เป็นเรื่องที่จะต้องมีการติดตามว่าปัญหาคืออะไร

จากตัวเลขหลังปิดยอดจดทะเบียนจำนวนแรงงานน่าจะประมาณ 7.5 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเทศเมียนมาสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 57.7 รองลงมาเป็นแรงงานกัมพูชา ร้อยละ 29.17 และ สปป.ลาว ร้อยละ 13.18 ขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการเปิดศูนย์เพื่อให้นายจ้างนำลูกจ้างไปรับการพิสูจน์ความสัมพันธ์ได้ตามวัน เวลา สถานที่ ที่ได้แจ้งไว้ตอนเมื่อมาขอขึ้นทะเบียน ซึ่งน่าจะเสร็จสิ้นภายในต้น ก.ย.ปีนี้ โดยแรงงานจะต้องไปจัดทำเอกสารรับรองสัญชาติ (CI)

ประเด็นคือทำไมทั้งที่กระทรวงแรงงานใจป้ำเปิดโอกาสให้นายจ้างมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง และคิดค่าธรรมเนียมในอัตราผ่อนปรนปีละ 900 บาท ค่าทำวีซ่าและค่าตรวจสุขภาพอย่างละ 500 บาท แต่แรงงานอาจจะต้องไปเสียค่าใช้จ่ายในประเทศของตน เช่น กัมพูชา ค่าทำ “Traveler Document” ค่าทำพาสปอร์ต 240 บาท และค่าใช้จ่ายที่ด่านอีก 5,000 บาท ตัวเลขค่าใช้จ่ายระดับนี้เทียบกับค่าปรับ 4-8 แสนบาท ไม่คุ้มกับความเสี่ยง เพราะกฎหมายต่างด้าวฉบับ คสช.ไม่ได้ยกเลิก เพียงแต่ออกมาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้บางมาตรา พอเริ่มปีใหม่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเขาจ้องเอาแน่ เพราะงานนี้เดิมพันสูงคุ้มค่าเหนื่อย

หากจะต้องการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวให้มีความโปร่งใส รัฐบาลคงต้องใจกว้างมาดูว่าอะไรคือปัญหาเพื่อที่จะได้ออกมาตรการมาแก้ได้อย่างตรงจุด ข้อสังเกตจำนวนนายจ้างที่มาแจ้งขอขึ้นทะเบียนมีจำนวนประมาณ 1.83 แสนราย คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของสถานประกอบการทั่วประเทศที่จดทะเบียนนิติบุคคลมีประมาณ 6.59 แสนราย สิ่งที่ต้องนำมาวิเคราะห์คือจำนวนแรงงานในแต่ละเซ็กเตอร์ ซึ่งมาขึ้นทะเบียนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เช่น ภาคก่อสร้าง 1.64 แสนคน ซึ่งแรงงานต่างด้าวในภาคส่วนนี้ไม่น่าจะน้อยกว่า 5 แสนคน ขณะที่ภาคส่วนอื่นๆ เช่น โรงงานการ์เมนต์ อัญมณี แปรรูปสินค้าเกษตร แรงงานในภาคบริการ โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ ที่ก่อนหน้านี้ออกมาโวยวายกันทำไมหายไปหมด

สำหรับจังหวัดที่ใช้แรงงานมากๆ แค่ 10 จังหวัดแรกมีแรงงานบัตรสีชมพูจำนวนรวมกัน 613,000 คน ไม่รวมพวกที่ไม่มีเอกสารอะไรเลย ซึ่งมีจำนวนไม่รู้อีกเท่าไร งวดนี้มาน้อยผิดปกติ เช่น จ.ปทุมธานี ตัวเลขแรงงานบัตรสีชมพู 125,398 คน มาขึ้นทะเบียนเพียง 32,640 คน จ.สมุทรสาคร ที่เกือบเป็นเมืองของคนเมียนมาตามตัวเลขเฉพาะบัตรสีชมพูมีแสนคนเศษ มางวดนี้หมื่นนิดหน่อย ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่ทราบกันดีว่ามีแรงงานผิดกฎหมายจำนวนมาก เช่น จ.ตาก กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ งวดนี้มาขึ้นทะเบียนโหรงเหรง ที่น่าสนใจคือสวนยางภาคใต้เดิมมาโวยว่าแรงงานต่างด้าวมีความจำเป็นในการกรีดยางทำไมเขาเปิดจึงไม่มาลงทะเบียน

คำถามคือ ปัญหาคืออะไร หากวิเคราะห์เล่นๆ ส่วนหนึ่งเป็นหลักแสนคนหนีกลับไปบ้านก่อนหน้านี้ออกไปแล้วกลับมายาก เพราะนายจ้างใหม่ก็ไม่กล้ารับ ค่าใช้จ่ายในการกลับเข้ามาก็สูง คงรีรอดูเหตุการณ์ที่บ้านเขา ส่วนอีกประเด็นเข้าใจว่าแรงงานผิดกฎหมายที่มายื่นจดทะเบียน 7 แสนกว่าคน ส่วนใหญ่น่าจะเป็นพวกบัตรสีชมพู เพราะประกาศกระทรวงแรงงานระบุชัดเจนว่าให้กลับไปพิสูจน์สัญชาติแล้วกลับมาสามารถขยายขอทำงานได้ไปถึงปี พ.ศ. 2563

แต่แรงงานประเภทไม่มีบัตรเป็นแรงงานผิดกฎหมาย คล้ายกันตรงที่ว่าให้ออกไปแล้วกลับมา แต่ทำงานได้แค่ 31 มี.ค. 2561 ถึงแม้จะบอกว่าไม่มีการผลักดันให้ออกนอกประเทศโดยให้ต่อสัญญาได้คราวละ 2 ปี แต่ก็ไม่ชัดเจนเหมือนบัตรสีชมพู เพราะระยะเวลาเพียง 3 เดือน ไม่คุ้มกับความเสี่ยงเปิดหน้า-เปิดตัวทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

รัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะนำแรงงานผิดกฎหมายให้โปร่งใสพ้นจากข้อกล่าวหาว่าประเทศไทยสนับสนุนการค้ามนุษย์ ซึ่งการขอขึ้นทะเบียนรอบนี้มีแรงงานผิดกฎหมายตกค้างจำนวนมาก ถึงแม้ว่าข้อเท็จจริงนายจ้างอาจไม่ค่อยให้ความร่วมมือ หรือยังกล้าๆ กลัวๆ จากบางมาตรการที่ไม่ชัดเจน

ไหนๆ ก็มาถึงตรงนี้แล้ว ควรเปิดให้มีการขอขึ้นทะเบียนอีกรอบ และงวดนี้ขอให้เป็นงวดสุดท้าย เรียกเอกชนมาถามเลยว่าติดขัดอะไร กังวลอะไร วิตกอะไร นำมาแก้ไขเปิดรอบใหม่แล้วยังไม่แสดงตัว ปีหน้าเอาจริง-จับจริง คงช่วยอะไรไม่ได้ แต่ช่วงนี้ควรดูว่ามาตราอะไรของ พ.ร.ก.ต่างด้าว ซึ่งควรจะแก้ไข โดยเฉพาะอาชีพที่สงวนให้คนไทย บทปรับที่โหดร้ายไม่ควรเอาถึงตาย ช่วงนี้ก็ควรเร่งดำเนินการคู่ขนานกันไป...บทความฉบับนี้ผมเขียนไว้ล่วงหน้า 7-8 วัน เพราะมีธุระต้องไปต่างประเทศ หากข้อมูลไม่อัพเดทต้องขออภัยด้วยครับ (สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)