posttoday

สนช.พิจารณาร่างกฎหมายพรรคการเมือง 20 ก.ค.นี้

18 กรกฎาคม 2560

สนช. พิจารณาร่างพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรการเมือง 20 ก.ค.นี้ พิจารณา5ประเด็นปัญหา

สนช. พิจารณาร่างพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรการเมือง 20 ก.ค.นี้ พิจารณา5ประเด็นปัญหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 20 ก.ค.จะมีวาระการประชุมสำคัญ คือ การพิจารณาตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  พ.ศ...... จำนวน 11 คน ตามมาตรา 11 วรรค5 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ภายหลังจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)มีความ เห็นโต้แย้งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว  จำนวน 5 ประเด็น 

ทั้งนี้ โดยรายชื่อกมธ.ร่วม 11 คน ประกอบด้วยตัวแทนสนช. 5คน ได้แก่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายกล้านรงค์ จันทิก  นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์  พล.อ.วิชิต ศรีประเสริฐ  ส่วนตัวแทนกรธ.5 คนได้แก่ นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง นายอุดม รัฐอมฤต  นายภัทระ คำพิทักษ์ นายนรชิต สิงหเสนี นายประพันธ์ นัยโกวิท และตัวแทนกกต.1 คนได้แก่ นายศุภชัย สมเจริญ

อย่างไรก็ดี เหตุผล 5 ข้อของกรธ.ประกอบ ด้วย 1.การพิจารณาบทบัญญัติใดแห่งร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  ต้องพิจารณาบทบัญญัติแห่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวประกอบบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองตามมาตรา 258 ก. (1) ของรัฐธรรมนูญ อันแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชัดเจนว่าประสงค์ให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผย ตรวจสอบได้ เพื่อให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน 

2.การให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมสรรหาผู้สมัครเลือกตั้ง ตามมาตรา 50 และ51 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ อาจมีกรณีทำให้กระบวนการนั้น เป็นไปโดยไม่สุจริต เนื่องจากไม่มีมาตรการจัดการทุจริตในชั้นประชุมสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง  ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่มุ่งให้ขจัดการทุจริตทุกรูปแบบ

3.มาตรา 51 (4) กำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ลำดับ1 ระบบบัญชีรายชื่อเท่านั้น ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ  ทำให้หัวหน้าพรรคไม่สามารลงสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้ ทั้งที่เป็นสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานของผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมือง

4.มาตรา 35 กำหนดให้จังหวัดที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือสาขาพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกทุกเขตเลือกตั้งมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน  เพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วมเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ทำให้พรรคการเมืองที่ยังมีสมาชิกในเขตเลือกตั้งไม่ถึงจำนวนดังกล่าว ไม่สามารถจัดให้สมาชิกเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งงในเขตเลือกตั้งนั้นได้ เป็นการตัดสิทธิพรรคการเมืองไม่ให้ส่งผู้สมัคร  กระทบหลักการรัฐธรรมนูญที่ให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมายต่อการเลือกตั้ง

5.มาตรา 138 ระบุว่าในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ภายหลังจากพ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ  หากพรรคใดจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไว้แล้วในจังหวัดใด ให้พรรคนั้นส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น ทำให้พรรคขนาดใหญ่ได้เปรียบพรรคขนาดกลางและพรรคเล็ก  จึงเข้าลักษณะเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรมตามมาตรา 27 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ