posttoday

จันทวรรณ สุจริตกุล ส่งเสริมใช้เงินท้องถิ่นค้าอาเซียน

18 มิถุนายน 2560

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐในปี 2551 ที่เงินเหรียญสหรัฐมีความผันผวนสูง

โดย...พรสวรรค์ นันทะ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐในปี 2551 ที่เงินเหรียญสหรัฐมีความผันผวนสูง ทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสูงตามในแต่ละวัน ทำให้ผู้ประกอบการใน
ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศกำหนดราคาสินค้าลำบากจากค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงเร็ว ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศของไทยติดขัดพอสมควร

กระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ได้หันมาดำเนินนโยบายส่งเสริมให้เกิดการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยมีเป้าประสงค์สำคัญ คือ การลดความไม่แน่นอนที่เกิดจากการใช้เงินสกุลหลักของโลกอย่างเงินเหรียญสหรัฐ              

สำหรับหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นอีกคนของไทย คือ จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร แบงก์ชาติ ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนและประสานงานเรื่องนี้มานาน เพราะเธอต้องการส่งเสริมให้เกิดการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและการลงทุนระหว่างกันในภูมิภาคเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการที่อาจคุ้นเคยกับการชำระเงินด้วยเงินสกุลหลักมาตลอด

จันทวรรณ เล่าว่า ในภาวะที่เงินสกุลหลักมีความผันผวนสูงมาก เช่น ในบางช่วงที่เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นกว่า 6% เมื่อเทียบกับเงินยูโร หรือเงินเยนอ่อนไปกว่า 10% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ หากผู้ประกอบการกำหนดราคาสินค้าเป็นเงินสกุลหลักย่อมเจอภาวะของความผันผวนของรายได้เมื่อเทียบกลับมาเป็นเงินบาท ซึ่งความผันผวนนี้มิได้มีปัจจัยใดที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจไทย หรือเศรษฐกิจเพื่อนบ้านในเอเชียแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในตลาดประเทศอุตสาหกรรมหลักเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะมาจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ หรือความคาดหวังเกี่ยวกับนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

ดังนั้น การเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดราคาค่าสินค้าเป็นเงินสกุลท้องถิ่น จะทำให้รายรับที่ผู้ประกอบการไทยได้รับไม่มีความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลหลัก เพราะเงินสกุลภูมิภาคมีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน เป็นไปตามวัฏจักรทางเศรษฐกิจที่มีความสัมพันธ์กันมากกว่า

จันทวรรณ สุจริตกุล ส่งเสริมใช้เงินท้องถิ่นค้าอาเซียน

จันทวรรณ ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ประกอบการมีทางเลือกที่จะกำหนดราคาสินค้าเป็นเงินบาท หรือเงินสกุลริงกิตของมาเลเซีย รูเปียห์ของอินโดนีเซีย เป็นต้น อย่างน้อยคู่ค้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะไม่มีภาระในการต้องทำการประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเป็นการซื้อขายและจ่ายด้วยเงินในสกุลของตัวเองอยู่แล้ว ทำให้แต่ละฝ่ายสามารถที่จะนำค่าธรรมเนียมที่ประหยัดต้นทุนได้ มาแบ่งปันกันได้ ไม่ว่าจะในรูปของเงื่อนไขการชำระเงินที่ดีขึ้น หรือการลดราคาค่าสินค้าระหว่างกัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาซื้อขายเป็นเงินสกุลท้องถิ่นไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะการค้าขายด้วยเงินสกุลท้องถิ่นของแต่ละประเทศ หมายถึงประเทศหนึ่งต้องทำให้เงินสกุลของตัวเองสามารถซื้อขายได้ในตลาดต่างประเทศ (Off shore) เช่น หากไทยจะซื้อสินค้าโดยจ่ายค่าสินค้าในรูปสกุลเงินริงกิต ธนาคารของผู้ซื้อคนไทยต้องหาเงินริงกิตมาให้ลูกค้ากู้ยืม หรือให้ลูกค้านำเงินบาทไปซื้อริงกิตเพื่อนำไปชำระค่าสินค้านั้นได้

ซึ่งหากทางการของประเทศทั้งสองฝ่ายยินยอมที่จะผ่อนคลายกฎระเบียบระหว่างกัน เพื่อให้เงินสกุลของตัวเองสามารถจะซื้อขายได้ในตลาดของอีกประเทศหนึ่ง ก็จะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงเงินสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งได้สะดวกขึ้น ความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยให้เงินสกุลของประเทศที่ร่วมมือนั้นๆ มีการซื้อขายนอกประเทศมากขึ้น โดยที่ทางการยังคงสามารถกำกับดูแลได้อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นการซื้อขายเงินสกุลท้องถิ่นบนพื้นฐานของความต้องการเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่แท้จริง

จะเห็นได้ว่าการประสานความร่วมมือข้างต้นที่จันทวรรณมีส่วนเข้าไปทำมีส่วนช่วยส่งเสริมการค้าให้ขยายตัวได้ดีขึ้น จากการลดอุปสรรคด้านปัญหาเรื่องค่าเงินลง ช่วยให้สะดวกขึ้น ดีต่อการส่งเสริมการค้าขายระหว่างกันในภูมิภาคมากขึ้น เห็นได้จากสัดส่วนการใช้เงินเหรียญสหรัฐในการค้าขายกันภายในอาเซียนลดลงต่อเนื่อง และความนิยมในการใช้เงินบาทมาชำระค่าสินค้าและบริการในอาเซียน ไม่ว่าใน สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดฯ มาเลเซีย บรูไน และสิงคโปร์ ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย สะท้อนว่าเงินบาทไทยได้รับการยอมรับสูงขึ้นไม่แพ้สกุลใดเลยทีเดียว