posttoday

J-Cruises 5

18 มิถุนายน 2560

11.30 น. คือเวลาที่ทั้งห้องอาหารบุฟเฟ่ต์ Giardino และห้องอาหาร Botticelli พร้อมเปิดให้บริการอีกครั้งสำหรับมื้อกลางวัน

11.30 น. คือเวลาที่ทั้งห้องอาหารบุฟเฟ่ต์ Giardino และห้องอาหาร Botticelli พร้อมเปิดให้บริการอีกครั้งสำหรับมื้อกลางวัน ผมเลือกทานบุฟเฟ่ต์ต่ออีกมื้อเพราะต้องการทำเวลา เพื่อเตรียมตัวไปเที่ยว ไลน์บุฟเฟ่ต์ของมื้อกลางวันมีอาหารหนักขึ้นกว่ามื้อเช้าเยอะมาก โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่มีทั้งเนื้ออบ สเต๊กเนื้อ พอร์คชอป ไก่ย่าง ปลาย่าง และอื่นๆ อีกมากมาย กินมื้อเดียวไม่มีทางครบ
ทีแรกตั้งใจว่าจะนั่งกินแป๊บๆ แต่ที่ไหนได้อาหารมันเยอะจนต้องลองให้ครบทุกอย่าง เพราะมาดูตารางการเทียบฝั่งของอีก 3-4 วันหลังจากนี้ ปรากฏว่าเทียบท่าเช้าออกเย็นและค่ำทุกวันยกเว้นวันนี้ คิดแล้ววันต่อๆ ไปคงไม่มีโอกาสได้กินกลางวันบนเรือเป็นแน่แท้

อย่ากระนั้นเลยขอจัดเต็มให้อิ่มไปถึงมืดเลยละกัน กินเสร็จก็ปาเข้าไปเกือบบ่ายโมงแล้ว รีบทำธุระส่วนตัวเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนเรือเทียบท่าเวลาบ่ายโมงครึ่ง วันนี้เรือเข้าเทียบท่า Maizuru ที่อยู่ทางเหนือของเกียวโตติดกับทะเลญี่ปุ่น หลายท่านอาจเข้าใจผิดคิดว่าเกียวโตไม่ติดทะเล มีนะครับเพียงแต่มันอยู่ห่างจากจุดท่องเที่ยวมหานิยมอย่างวัดและศาลเจ้าทั้งหลาย มีนักท่องเที่ยวขึ้นไปเกียวโตตอนเหนือกันไม่น้อยเพราะชื่อเสียงอันโด่งดังของ Amanohashidate จุดชมวิวที่งดงามติดอันดับ 1 ใน 3 ของญี่ปุ่น และในระยะ 2-3 ปี ที่ผ่านมา อิเนะ (Ine) หมู่บ้านริมน้ำก็เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย เลยยิ่งทำให้เกียวโตตอนเหนือเปล่งประกายเป็นจุดหมายใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว

J-Cruises 5

เราซื้อทัวร์ของทางเรือเอาไว้ ศัพท์เฉพาะทางเรียกว่า Shore Excursions ผู้โดยสารได้รับการนัดหมายให้ไปรวมพลกันที่ Grand Bar Piazza Italia ชั้น 8 สิ่งที่เราต้องเตรียมให้ครบคือ 1.บัตรยืนยันทัวร์ที่ระบุพร้อมรหัสทัวร์ ชื่อของเรา หมายเลขห้อง และวันที่ทัวร์ออก 2.Cruise Card สำหรับการขึ้นลงเรือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดทัวร์จะขานชื่อทัวร์ที่เราซื้อพร้อมขานชื่อเราเพื่อแสดงตนและมอบสติ๊กเกอร์ให้ติดบนเสื้อในตำแหน่งที่เห็นชัดเจน ในกรณีที่มาเป็นหมู่คณะ เจ้าหน้าที่อาจจะจัดบัตรยืนยันทัวร์และสติ๊กเกอร์ให้กับหัวหน้าทัวร์มาแจกจ่ายเองเหมือนกับคณะของเรา หลังจากนั้นก็ทยอยขึ้นฝั่งตามลำดับหมายเลข

สำหรับท่านที่ไม่ได้ซื้อทัวร์หากอยากขึ้นฝั่งก็สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นหลังจากคณะทัวร์ขึ้นฝั่งเสร็จสิ้นแล้วเพื่อป้องกันความวุ่นวายและย้ำตรงนี้ว่า ทุกครั้งที่ขึ้นลงเรือต้องมีการแสดงตนด้วยการสแกน Cruise Card เสมอไม่มีการยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในเอกสาร Today มีระบุไว้ว่า Non-Japanese Guests ต้องใช้ Cruise Card + Passport แต่พอลงไปจริงๆ ปรากฏว่าไม่ได้ตรวจหนังสือเดินทางแต่อย่างใด อันนี้ผมเลยขออนุมานเอาเองว่า เราผ่านการตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินฟุกุโอกะมาแล้ว และขณะที่ล่องเรือใน 3-4 วันนี้เราล่องอยู่ในน่านน้ำญี่ปุ่น ไม่ได้ออกนอกประเทศ จึงเสมือนเป็นการเที่ยวในประเทศเลยไม่ต้องสำแดงหนังสือเดินทาง

J-Cruises 5

ท่าเรือ Maizuru เป็นท่าเรือสินค้าที่ดัดแปลงพื้นที่ส่วนหนึ่งให้มารองรับเรือสำราญ อาคารผู้โดยสารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ดูไม่ถาวรเท่าไหร่ แต่ต้องขอชื่นชมเพราะถึงจะไม่ถาวร กลับจัดระเบียบและสิ่งอำนวยความสะดวกได้ดีมาก ไม่มีติดขัดอะไรแม้แต่น้อย ลงมาปุ๊บก็มีห้องน้ำรอเลย มีเต็นท์ให้ข้อมูลพร้อมโบรชัวร์ท่องเที่ยวแจกผู้โดยสารที่ไม่ได้ซื้อทัวร์ของเรือ มีของที่ระลึก และมีอาหารง่ายๆ อย่างยากิโซบะ ทาโกะยากิ ในราคาปกติจำหน่ายด้วย พวกเราแอบเล็งไว้แต่ไม่มีเวลาเพราะต้องรีบไปขึ้นรถบัสที่จอดเรียงลำดับตามหมายเลข ทุกคนต้องแสดงบัตรยืนยันทัวร์ก่อนขึ้นรถเพื่อความมั่นใจว่าไม่ผิดกรุ๊ปและเช็กจำนวนไปด้วยในคราวเดียว เมื่อครบแล้วขบวนรถบัสก็เคลื่อนตัวออกจากลานจอดวิ่งผ่านเมืองไมซุรุ

ผมเคยมาเมืองนี้ครั้งนึงเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นมาดูโรงไฟฟ้าที่มีจุดเด่นตรงปากปล่อยระบายความร้อนงุ้มงอเล็กน้อยคล้ายปากนกกระเรียน สอดรับกับชื่อเมืองที่มีคำว่า Tsuru อยู่ด้วย และยังได้ไปกินปลาดิบที่ร้านท้องถิ่นเล็กๆ แต่อร่อยมาก เสียดายว่าจำชื่อและที่ตั้งไม่ได้ ลองมองๆ หาก็คุ้นตาไปหมด รถบัสวิ่งไปได้สัักครึ่งชั่วโมงก็จอดพักให้เข้าห้องน้ำ ใจก็คิดว่าจอดทำไมเพิ่งวิ่งมาได้ครู่เดียว จนเมื่อวิ่งต่อไปถึงยังจุดหมายปลายทางถึงเข้าใจ เพราะที่ท่าเรือมีห้องน้ำเล็กๆ แค่ห้องสองห้อง ทีมงานทัวร์เขาชำนาญเลยบอกเราเข้าให้เรียบร้อยตรงจุดแวะพักกันก่อนจะได้ไม่ไปแย่งกันใช้ที่ท่าเรือ

J-Cruises 5

ทัวร์ที่เราซื้อมาเป็นทัวร์ Amanohashidate and Funaya ถ้าอ่านแบบเผินๆ ก็ เอ๊ะ!หมู่บ้านอิเนะของชั้นหายไปไหน เวลาเราพูดถึง Ine สิ่งหนึ่งที่ต้องมาคู่กันเสมอคือ Funaya อธิบายง่ายๆ Ine คือชื่อเมืองที่มีบ้านริมน้ำเรียงรายอยู่ตลอดริมอ่าว ส่วน Funaya คือบ้านริมน้ำที่มีลักษณะโดดเด่นของเมือง Ine ดังนั้น บ่อยครั้งที่เราจะเห็นคนพูดถึง Ine และบางครั้งก็พูดถึง Funaya ซึ่งไม่ผิดแต่ประการใด แต่ถ้าจะเรียกให้ชัดเจนไปเลยก็คือ The Funaya of Ine หรือ Ine no Funaya ในภาษาญี่ปุ่น ทีนี้บ้านที่เรียกว่า Funaya มันน่าดูตรงไหน ขอแยกศัพท์ 2 ตัวให้เห็นกันชัดๆ Funa แปลว่า Boat และ Ya แปลว่า House รวมเป็น Boathouse ที่หมายถึงบ้านหรืออาคารที่มีโรงจอดเรืออยู่ข้างล่าง (อย่าจำสลับกับ Houseboat เรือที่เอามาทำเป็นบ้านหรือที่พักนะครับ) เพราะในอดีตชาวบ้านแถบนี้ที่มีอาชีพทำประมงในอ่าว มีการสร้างอาคารจอดเรือด้วยไม้และมุงหลังคาด้วยหญ้าฟางไว้หลบฝนหลบพายุโดยไม่มีส่วนพักอาศัย จนภายหลังได้พัฒนาอาคารจอดเรือให้ชั้นบนเป็นที่พักอาศัยด้วย จึงกลายเป็นบ้านที่มีเอกลักษณ์อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

ที่เมืองอิเนะนี้ มี Funaya อยู่ราวๆ 200 กว่าหลัง ประกอบกับอยู่ในอ่าวเล็กเลยทำให้บ้านกระจุกตัวเป็นกลุ่มๆ ก่อให้เกิดทัศนียภาพที่งดงามแปลกตา การจะชมหมู่บ้านอิเนะให้เข้าถึงควรมีเวลาเดินเล่นและเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน หรือถ้าสามารถพักค้างใน Funaya บางหลังที่ปรับเปลี่ยนเป็น Minshuku ด้วย ก็จะยิ่งเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจ เสียดายที่กรุ๊ปทัวร์ของเรามีเวลาน้อย เลยได้แต่เพียงล่องอ่าวชมทัศนียภาพของหมู่บ้านอิเนะทางเรือ เห็นได้แค่ภาพรวมของชุมชนริมน้ำแห่งนี้เท่านั้น แต่ครึ่งชั่วโมงที่อยู่บนเรือก็ได้ทั้งความประทับใจจากทัศนียภาพ และความตื่นเต้นจากบรรดานกทะเลที่บินโฉบมาเอาขนมจากมือของพวกเรา คุณไกด์บอกไม่ต้องกลัวมันแค่โฉบเอาขนม ที่ไหนได้ นอกจากนกทะเลแล้วยังมีเหยี่ยวมาร่วมวงด้วย เล็บเหยี่ยวที่ยาวและคมกว่าเล็บนก ได้สร้างรอยประทับไว้อย่างไม่รู้ลืมเลยครับ

J-Cruises 5

J-Cruises 5