posttoday

สุริยะใสชี้3ปีคสช.ยังปฏิรูปไม่ถึงโครงสร้างอำนาจ

21 พฤษภาคม 2560

สุริยะใส ชี้ 3 ปี คสช. ปฏิรูปยังไปไม่ถึงโครงสร้างอำนาจ ปรองดองยังคลุมเครือ ติง 3 เดือน ป.ย.ป. ติดกับดักงานระดับกระทรวงจนเกินไป

สุริยะใส ชี้ 3 ปี คสช. ปฏิรูปยังไปไม่ถึงโครงสร้างอำนาจ ปรองดองยังคลุมเครือ ติง 3 เดือน ป.ย.ป. ติดกับดักงานระดับกระทรวงจนเกินไป

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า การบริหารแผ่นดินของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ตลอด 3 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. พ.ศ.2557 นอกเหนือจากปัญหาปากท้องความเดือดร้อนทั่วไปของประชาชนที่เป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลอยู่แล้ว ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นรัฐบาลในสถานการณ์พิเศษก็มีวาระพิเศษมีเรื่องที่สังคมคาดหวังเป็นกรณีพิเศษต่างจากรัฐบาลปกติทั่วไปด้วย

โดยเฉพาะวาระการปรองดองและการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นเป้าประสงค์สำคัญของการรัฐประหารที่ผ่านมาและเป็นเรื่อวที่สังคมคาดหวังว่าทั้ง 2 เรื่องจะมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไป แต่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควรทั้ง 2 เรื่อง

เรื่องการปรองดองปมความขัดแย้งแตกแยกยังคงอยู่ แค่ถูกกดทับด้วยอำนาจพิเศษของ คสช. เมื่อสถานการณ์เหมาะสมปมเหล่านี้ก็จะกลับมาแสดงตนอีก แม้ในภาพกว้างพลวัตรของการปรองดองจะมีบรรยากาศที่ดีขึ้น แต่เนื้อในก็มีโอกาสปะทุขึ้นอีกในช่วงเลือกตั้ง

เรื่องการปฏิรูปในระดับการผ่าตัดโครงสร้างทางอำนาจยังไม่ชัดไปยังไม่ถึงรัฐบาล คสช.ก็เห็นปัญหานี้จนต้องตั้ง ป.ย.ป. ขึ้นมาเพื่อกระชับอำนาจคล้ายๆ เป็น ครม.ส่วนหน้าเพื่อดูงานปฏิรูปประเทศโดยตรง แต่ 3 เดือนของ ป.ย.ป. กลับไปแบกอยู่กับงานระดับกระทรวงจนเกินไปทำให้ยังไม่เห็นการจุดพลุในเรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นการปฏิรูประดับโครงสร้างอำนาจอย่างแท้จริง

"กว่า 2 ปีจากนี้ไปจึงจะมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้ง ถือเป็นโค้งสุดท้ายที่ คสช. ต้องผลักดันลงมือปฏิรูปในเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปทำสารพัดเรื่อง 3 ปีที่ผ่านมาสังคมก็เห็นว่า คสช.ทำงานเยอะไม่ได้เกียร์ว่างแต่งานส่วนใหญ่เป็นงานเฉพาะหน้ามากเกินไป"นายสุริยะใสกล่าว

อย่างไรก็ตามจากนี้ไป เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว หมวดการปฏิรูปและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ คสช.ควรใช้เป็นกลไกหรือเวทีเพื่อดึงพลังหรือกระแสปฏิรูปกลับมา โดยเฉพาะการเอาพลังปฎิรูปจากสังคมและประชาชนมาเป็นแนวร่วมมากขึ้น ไม่ใช่คอยตั้งแง่หรือหวาดระแวงเหมือนที่ผ่านๆ มา