posttoday

กม.ยุคไดโนเสาร์ สร้างอาณาจักรความกลัว

01 พฤษภาคม 2560

"ร่างกฎหมายนี้ไม่ใช่การปฏิรูปสื่อ แต่เป็นการกระทำที่ยิ่งกว่าการถอยหลังเข้าคลอง เพราะย้อนกลับไปในยุคของไดโนเสาร์"

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม, พัชรศรี ปิ่นแก้ว

“ถ้าเขาออกกฎหมายมาตามร่างฯ นี้ สื่อก็จะจบในแง่ของบทบาทในเชิงสังคม และก็ไม่รู้จะมีสื่อทำไม เมื่อต้องให้สื่อกลายเป็นผู้ที่อยู่ในระเบียบวินัย ทำตามที่องค์กรภาครัฐต้องการเท่านั้น”

ความห่วงใยของ พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ ที่มองว่าร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน มีจุดประสงค์ต้องการควบคุมสื่อ ซึ่งเท่าที่ดูไม่มีประเทศไหนในโลกให้สื่อต้องขึ้นทะเบียน มีใบประกอบวิชาชีพ นอกจากประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีน ที่สำคัญช่วงนี้ไม่ควรควบคุมและลดคุณค่าของสื่อ เพราะสื่อกำลังมีความหลากหลายสูงมาก

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กระแทกไปยังรัฐบาลเพราะเชื่อว่าต้องการควบคุมการทำงานของสื่อมวลชนแบบเบ็ดเสร็จ โดยวันนี้ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปสื่อสารมวลชนที่เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อให้เห็นชอบส่งต่อไปยังรัฐบาลเดินหน้าออกเป็นกฎหมาย

องค์กรวิชาชีพสื่อออกมาคัดค้านเพราะเห็นว่า เป็นการละเมิดสิทธิการรับรู้ของประชาชน และเปิดช่องให้อำนาจรัฐแทรกแซงการทำงานของสื่อ ทั้งยังมีบทลงโทษรุนแรงถึงขั้นจำคุกกับสื่อทุกประเภท

อาจารย์นิเทศศาสตร์จุฬาฯ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังมองสื่อภายใต้ทัศนะการควบคุม และหากบังคับให้สื่อขึ้นทะเบียนก็จะทำให้ภาครัฐรู้รายชื่อว่ามีใครบ้างและกำลังทำอะไรสามารถที่จะสอดส่องได้ตลอด ขณะเดียวกัน สิ่งที่ไม่ควรคือการที่ร่างกฎหมายกำหนดว่าหากสื่อไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมต่างๆ จะต้องเข้าสู่กระบวนการรับโทษ ซึ่งต่างกับการกำกับดูแลกันเองที่ไม่มีบทลงโทษ

พิรงรอง กล่าวว่า การกำกับดูแลกันเองตั้งแต่อดีตเป็นเรื่องของความสมัครใจที่เกิดจากสำนึกและจริยธรรม โดยไม่ต้องมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องโทษอย่างมากที่สุด คือ เมื่อทำผิดก็ออกจากการเป็นสมาชิก หรือการเรียกปรับกันเอง รัฐบาลไม่ได้เข้ามาเกี่ยว แต่ขณะนี้รัฐบาลหรือ สปท.พยายามทำกฎหมายโดยรวมสองสิ่งมาไว้ด้วยกัน คือ กฎหมาย กับจริยธรรม และไม่แน่ใจว่า การให้มีสภาวิชาชีพสื่อนี้เป็นเพราะเห็นรูปแบบจาก กสทช.ที่กำกับดูแลได้เพียงด้านโทรทัศน์และวิทยุเท่านั้นหรือไม่ จึงจุดประกายว่า ถ้าต้องการมาคุมสื่อส่วนนี้อีกก็ต้องมีสภาวิชาชีพสื่อ ซึ่งไม่ใช่การให้กำกับดูแลกันเอง

พิรงรอง ย้ำว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่ใช่การปฏิรูปสื่อ แต่เป็นการกระทำที่ยิ่งกว่าการถอยหลังเข้าคลอง เพราะย้อนกลับไปในยุคของไดโนเสาร์ ทั้งนี้ การปฏิรูปสื่อยุค 4.0 คือ การทำอย่างไรให้เข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่อย่างกระจายกว้างขวางมากขึ้น เพราะจุดเริ่มเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 การที่รัฐบาลทหารปิดกั้นสื่อ ทำให้ความจริงไม่ปรากฏเกิดสถานีไอทีวีขึ้นและมาในปัจจุบันที่มีสื่อหลากหลายมากขึ้น

“ยุคสมัยหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าการกำกับดูแลสื่อ สุดท้ายก็พยายามจะปิดสื่อ แต่ไม่สามารถทำได้เพราะเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2540 จึงทำให้เห็นข้อจำกัดที่จะปิดสื่อไม่ได้ แต่สามารถเซ็นเซอร์เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมได้ ต่อมาในยุคปัจจุบันความต้องการให้มีโครงสร้าง โดยมีคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนมีช่องทางให้ประชาชนรู้ว่าต้องร้องเรียนสื่ออย่างไร รวมถึงกระบวนการเอาผิดกับสื่อ ความจริงเรื่องดังกล่าวในต่างประเทศเคยมีที่รัฐเข้าคุมสื่อแต่นานมากแล้ว เช่น ที่อังกฤษ สหรัฐ สุดท้ายรัฐบาลของเขาจะค่อยๆ สลายตัวไปเมื่อสื่อดูแลกันเองได้จนไม่ต้องมีกฎหมาย”

พิรงรอง กล่าวอีกว่า ในยุคอินเทอร์เน็ตปัจจุบันมีสื่อโซเชียลก็มีการกำกับดูแลกันเอง เพราะการนำเสนอผ่านออนไลน์ไม่ได้มีเพียงนักวิชาชีพสื่อ แต่ทุกคนสามารถเป็นสื่อเองได้หมด เว็บไซต์ต่างๆ จึงทำหน้าที่เป็นเพียงแพลตฟอร์มสื่อกลางการนำเสนอเนื้อหา เช่น Pantip Facebook แต่ช่องทางพวกนี้จะมีการออกแบบให้มีการแจ้งเรื่องที่ไม่เหมาะสมกับเนื้อหา โดยคนที่เข้ามาเล่นเว็บนั้นจะเข้ามาช่วยกันกำกับดูแลกันเองได้และสามารถทำได้ดี โดยไม่ต้องพึ่งกฎหมาย หรือรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง

“การให้สื่อต้องขึ้นทะเบียน รวมถึงการร้องเรียนจนถึงการตัดสินความผิดถูกของสื่อ ประเด็นอยู่ที่ว่าแล้วใครจะเป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติตามร่างกฎหมายฉบับนี้ เมื่อมีตัวแทนรัฐบาลเข้ามา 2 คน แม้จะดูเป็นเสียงส่วนน้อย แต่ส่วนที่เหลือผู้แทนจากสภาวิชาชีพก็ไม่รู้ว่าจะมีเรื่องผลประโยชน์ด้วยหรือไม่ แต่ถึงอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นในโลกยุคนี้”

อย่างไรก็ตาม พิรงรอง ยอมรับว่า สื่อส่วนหนึ่งก็มีปัญหาที่สังคมวิจารณ์ แต่กรณีนี้ก็ไม่ควรจะเหมาเข่งออกกฎหมายมาคุมสื่อทั้งหมด ซึ่งสังคมชอบการเหมารวม เช่น สื่อถูกมองว่าเป็นผู้บิดเบือน เลือกข้างและเชื่อไม่ได้ และก็มีทั้งสื่อดีและไม่ดี ขัดต่อค่านิยมและจริยธรรมของสื่อเองทั้งนั้น ส่งผลให้สังคมเกิดความเสื่อมศรัทธา เพราะรู้สึกไม่น่าเชื่อถือ เมื่อมีกฎหมายออกมาว่าต้องมีการดูแลสื่อ สังคมก็จะรู้สึกว่ามีการควบคุมดีแล้ว

อาจารย์นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เสนอทางออกว่า อยากให้เรื่องนี้หยุดลงไปก่อน แต่ควรเสริมทางกลไกทางสังคมให้แข็งแรง ให้ประชาชนรู้ทันสื่อ เพราะเป็นเรื่องการพัฒนาในระยะยาว

“ความคิดที่จะร่างกฎหมายนี้จึงเป็นที่น่าขำ เพราะไม่มีทางเข้าไปควบคุมความคิดของคนได้ในยุคสมัยนี้ เพราะความจริงเป็นสิ่งสำคัญสุด ท้ายที่สุดไม่มีอะไรเอาชนะความจริงได้ การตีทะเบียนจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมกับสื่อที่ดี สิ่งสำคัญคือการทำให้เกิดบรรยากาศความกลัว และไม่ยุติธรรมทั้งการจะเข้ามาดูแล และการวินิจฉัยการตัดสินว่าผิดหรือถูก”พิรงรอง สรุปทิ้งท้าย