posttoday

‘เชียร์ไทย พาวเวอร์’ ยืนหยัดเพื่อบอลไทย

21 มกราคม 2560

ปรากฏการณ์แฟนฟุตบอลไทยกว่าครึ่งแสนคนแห่เข้าไปให้กำลังใจทัพ "ช้างศึก" ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดย...ชมณัฐ รัตตะสุข

ปรากฏการณ์แฟนฟุตบอลไทยกว่าครึ่งแสนคนแห่เข้าไปให้กำลังใจทัพ "ช้างศึก" ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้กลายเป็นจุดแข็งสำคัญของทีมที่ขุนพลคู่แข่งต่างหวาดหวั่น ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ได้ไม่ใช่เพราะผลงานของทีมแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยสำคัญจากคนกลุ่มเล็กๆ นามว่า “เชียร์ไทย พาวเวอร์” ที่ยืนหยัดเคียงข้างทีมชาติไทยให้คนทั้งประเทศได้เห็นมาโดยตลอด แม้ในวันที่สนามมีคนดูไม่กี่ร้อยคนก็ตาม

กลุ่ม “เชียร์ไทย พาวเวอร์” เป็นการรวมตัวของแฟนฟุตบอลไทยจากทั่วสารทิศ เพื่อเข้าไปให้กำลังใจทีมชาติไทยยามลงสนาม โดยประจำการเต็ม 4,000 ที่นั่งบนอัฒจันทร์ฝั่งหลังประตูโซน N ของสนามราชมังคลากีฬาสถาน อันเป็นที่รวมตัวแทบทุกนัด เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2544 ภายใต้หัวเรือใหญ่คือ พินิจ งามพริ้ง ก่อนจะส่งมอบตำแหน่งประธานกลุ่มให้กับ ชัยวัฒน์ แก้วผลึก ในอีก 10 ปีต่อมา และทำหน้าที่เป็นผู้นำกลุ่มจนถึงปัจจุบัน

"ตอนที่ก่อตั้งกลุ่ม ฟุตบอลไทยคนดูแทบจะไม่มี บอลลีกก็ยังไม่เป็นมืออาชีพ ผลงานของทีมชาติก็ดร็อปลง เราจึงตั้งชมรมเพื่อตามเชียร์และให้กำลังใจ แรกเริ่มมีไม่ถึงร้อยคน โดยมีรูปแบบการเชียร์ที่สนุกและเร้าใจ มีเพลงเชียร์ของตัวเอง มีอุปกรณ์การเชียร์ให้ดูเป็นสากลมากขึ้น อาศัยการบอกกันปากต่อปากชักชวนแฟนบอลให้มาร่วมกลุ่ม ซึ่งเราคิดแค่ว่าอยากจะให้ฟุตบอลไทยได้รับความนิยมเหมือนฟุตบอลเมืองนอก มีความหวังที่จะเห็นคนดูเต็มสนาม เพียงแต่เราไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้" ชัยวัฒน์ ย้อนความ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสลูกหนังไทยฟีเวอร์ ก็คือผลงานของทีมชาติไทยที่พัฒนาคู่ขนานกับฟุตบอลลีกที่เป็นมืออาชีพมากขึ้น ซึ่ง “เชียร์ไทย พาวเวอร์” ในฐานะกลุ่มกองเชียร์รุ่นบุกเบิกจึงมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่โซเชียลเน็ตเวิร์กเริ่มใช้กันแพร่หลาย ปัจจุบันมีสมาชิกติดตามในเพจ Cheerthai Power กว่า 1 แสนคน

"รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจมากที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฟุตบอลไทยได้รับความนิยมจนถึงวันนี้ เราเหมือนเป็นรุ่นพี่ มีหลายคนในกลุ่มของเราแยกตัวไปก่อตั้งกลุ่มเชียร์ต่างๆ ในรูปแบบของตัวเอง อาทิ กลุ่มเซาธ์เคิร์ฟ กลุ่มไทยแลนด์ฮาร์ดคอร์ และกลุ่มอุลตราส์ ทำให้ในสนามมีสีสันมากขึ้น คนดูที่ไม่ใช่ขาประจำก็อยากจะเข้ามาดูในสนามมากขึ้น เพราะบรรยากาศมันสนุก ซึ่งทุกกลุ่มไม่ได้แตกแยกกัน ยังคงพูดคุยให้คำปรึกษากันตลอด เพียงแต่ว่าอาจมีวิธีการเชียร์หรือการจัดการในกลุ่มต่างกันเท่านั้น และทุกกลุ่มก็มีเป้าหมายเดียวที่เหมือนกันคือเข้ามาให้กำลังใจนักฟุตบอล"

‘เชียร์ไทย พาวเวอร์’ ยืนหยัดเพื่อบอลไทย

 

ประธานกลุ่มเชียร์ไทยฯ กล่าวต่อว่า ในอดีตที่ทีมชาติญี่ปุ่นเดินทางมาแข่งที่เมืองไทย ในสนามกลับเต็มไปด้วยแฟนบอลของผู้มาเยือน ทำให้นักฟุตบอลไทยไม่ได้รู้สึกถึงความได้เปรียบจากการลงเล่นในรังเหย้า ทว่าในปัจจุบันสังเวียนราชมังคลากีฬาสถานเต็มความจุกว่า 5 หมื่นคน เกือบทุกนัด จนกลายเป็นจุดแข็งที่ทุกชาติให้การยอมรับไม่เว้นแม้แต่ "ซามูไร บลูส์" กองเชียร์ญี่ปุ่นที่ยกย่องว่าไทยเหนือกว่า เพราะพลังดังกล่าวเป็นเสมือน "ผู้เล่นคนที่ 12" ที่ช่วยผลักดันผลงานนักเตะในสนามอย่างแท้จริง

เหนือสิ่งอื่นใดกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้พวกเขาเหล่านั้นต้องเสียสละทั้งเวลาและเม็ดเงิน เพราะการจะเดินทางไปเชียร์ในสนามแต่ละครั้งต้องวางแผนล่วงหน้าหลายเดือน ยอมเสียสละเวลาไปซื้อตั๋วเข้าชม สละเวลาเดินทางไปสนามซึ่งหลายครั้งไม่ตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์

รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องลงขันกันเองสำหรับซื้อและซ่อมอุปกรณ์การเชียร์จำพวกเครื่องดนตรีและธงผืนใหญ่ไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นบาท รวมถึงอุปกรณ์จิปาถะ อาทิ เทปกาว สายรุ้ง และกระดาษแปรอักษร ที่ต้องใช้เงินราว 7,000-8,000 บาทในแต่ละนัด เพื่อให้เกิดภาพที่สวยงามในสนามเผยแพร่ไปสู่สายตาคนทั่วโลก ไม่นับรวมการที่ต้องเดินทางไปเชียร์ต่างแดนที่ต้องใช้เวลาและทุนทรัพย์ที่มากขึ้นอีกหลายเท่า โดยเฉพาะในศึกฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ที่ต้องลัดฟ้าไปถึงแดนอาหรับ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 3 หมื่นบาท

สิ่งเหล่านี้คือความตั้งใจของกลุ่มเชียร์ไทยฯ ที่พยายามวางรากฐานการเชียร์ให้เกิดสีสันและมีความเป็นสากลมาต่อเนื่องนับสิบปี แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบต่อกองเชียร์บางกลุ่มที่ทำผิดกฎจนหลายคนกังวลว่าจะกระทบต่อภาพรวมตลอดจนส่งให้แฟนบอลเข้าสนามลดน้อยลง

"ในอนาคตผมอยากให้กองเชียร์ทุกคนหรือทุกกลุ่มมีส่วนร่วมกันมากขึ้น อยากให้มีการใช้รูปแบบเดียวกันเชียร์พร้อมกันในราว 10-20 นาที เพื่อให้เกิดความสามัคคีและเป็นภาพที่สวยงาม รวมถึงร่วมกันพัฒนาการเชียร์รูปแบบใหม่ที่ดีขึ้น อาจจะรับอิทธิพลจากต่างประเทศมาผสมกับความเป็นไทยได้ แต่สิ่งสำคัญคือทุกอย่างต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ที่โตขึ้นมาได้เห็นและอยากที่จะสืบทอดต่อไป ไม่เช่นนั้นหากวันใดวันหนึ่งผลงานของทีมชาติไทยดร็อปลงหรือยังมีการทำผิดกฎมากขึ้นคนดูก็อาจจะลดลง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่เขาไม่อยากเข้าสนาม แต่ถ้าเรามีกลุ่มกองเชียร์ที่แข็งแกร่งและอยู่ในกรอบแม้ผลงานของทีมจะเป็นอย่างไรก็จะยังคงมีคนดูในสนามทุกนัด" ชัยวัฒน์ ทิ้งท้าย

แน่นอนว่าแม้ทุกอย่างจะต้องมีขึ้นและมีลง แต่หากทุกฝ่ายร่วมมือกันก็จะไม่มีสิ่งใดทำลายศรัทธาลงได้ เหมือนอย่างที่กลุ่ม "เชียร์ไทย พาวเวอร์" ได้แสดงให้เห็นมาตลอดแล้วว่าแม้ทีมชาติไทยจะผลงานไม่ดีหรือคนดูจะไม่อยากเข้าสนาม แต่พวกเขาก็ยังคงยืนหยัดส่งเสียงเชียร์เป็นพลังสำคัญอยู่เบื้องหลังนักเตะช้างศึกมานานกว่า 16 ปี