posttoday

พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงนำสมัย ยึดมั่นความยุติธรรม

06 ธันวาคม 2559

ในหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะองคมนตรี”ซึ่งจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะองคมนตรี”ซึ่งจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2554 ได้มีการบันทึกคำให้สัมภาษณ์ขององคมนตรีในฐานะผู้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โอกาสนี้เป็นอีกครั้งที่โพสต์ทูเดย์ขอนำเสนอโดยเป็นส่วนการให้สัมภาษณ์ของ อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ อดีตประธานศาลฎีกา ซึ่งมีความน่าสนใจตรงที่การให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ

อรรถนิติ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2550 โดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้นำเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2550 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 63 ปีพอดี

องคมนตรีควรรู้กฎหมาย

องคมนตรีด้านกฎหมายท่านนี้ เล่าว่า “ในวันที่ผมเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ผมรู้สึกประทับใจและตื้นตันใจที่สุดในชีวิต เมื่อมีพระราชดำรัสว่า ‘ขอบใจที่มาช่วยงาน’ อันแสดงถึงพระเมตตาที่พระราชทานแก่ประชาชนทุกคนตลอดมา อีกทั้งยังมีพระราชดำรัสต่อไป มีใจความว่า ‘งานด้านกฎหมายเป็นงานที่มีความสำคัญ และจำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงานแทบทุกเรื่อง องคมนตรีจึงควรมีความรู้ด้านกฎหมาย แม้จะมิได้เรียนจบด้านกฎหมายมาก็ตาม’

“หลังจากที่ผมได้เข้ารับหน้าที่เป็นองคมนตรี ผมได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่อยู่ในคณะองคมนตรีฝ่ายกฎหมาย อันประกอบด้วย องคมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นหัวหน้า องคมนตรีจำรัสเขมะจารุ และองคมนตรีสันติ ทักราล ต่อมาได้มีองคมนตรีฝ่ายกฎหมายเพิ่มอีก 2 ท่าน ได้แก่ องคมนตรีศุภชัยภู่งาม และองคมนตรีชาญชัย ลิขิตจิตถะ”

“ในส่วนที่เกี่ยวกับงานด้านกฎหมาย ที่องคมนตรีฝ่ายกฎหมายรับผิดชอบ และถวายความเห็นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพอย่างล้ำลึกในสาขานิติศาสตร์ รวมทั้งได้ทรงแสดงถึงพระปรีชาสามารถในการพิจารณาปัญหาต่างๆ โดยอยู่ในกรอบของกฎหมายและความเป็นธรรมที่พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพในด้านกฎหมายนั้น”

อภัยโทษ : พระราชอำนาจอิสระ

ทั้งนี้ ความน่าสนใจของบทสัมภาษณ์ครั้งนี้อยู่ที่การบอกเล่าถึงพระราชกรณียกิจของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เกี่ยวกับการพระราชทานอภัยโทษ

อดีตประธานศาลฎีกา อธิบายว่า พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษนี้ มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทยทุกฉบับ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจอิสระและเด็ดขาดของพระมหากษัตริย์ หมายความว่า เรื่องนี้ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์และพระราชอัธยาศัย พระองค์ไม่ต้องทรงผูกพันตามความเห็น หรือคำแนะนำของฝ่ายบริหารหรือคณะองคมนตรีแต่อย่างใด ทว่าในการใช้พระราชอำนาจดังกล่าวพระองค์ทรงใคร่ครวญอย่างรอบคอบทุกเรื่องเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเสมอมา

ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานองคมนตรี เคยกล่าวในการสัมมนาเกี่ยวกับการประสานงานในกระบวนการยุติธรรมว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรตรวจสำนวนเองแทบทุกเรื่อง เรารู้ เพราะบางคดีท่านย้อนสำนวนให้องคมนตรีพิจารณาอีกครั้ง โดยทรงถามมาว่า ข้อนั้นๆ อยู่ตรงไหน เช่น ทรงถามว่า ปืนของกลางจับได้เมื่อใด... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงละเอียด ทรงใช้เวลาวินิจฉัยฎีกานักโทษด้วยพระองค์เอง บางเรื่องก็ง่าย เช่น ยาเสพติดให้โทษ แต่คดียากที่ทรงทักท้วงให้พิจารณาอีกครั้งบ่อยๆ คือ คดีประหารชีวิต...”

อรรถนิติ บอกอีกว่า “หลายคนอาจไม่รู้ว่า แม้ขณะประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อรับการถวายการรักษาพระวรกาย พระองค์ท่านก็ยังทรงงานพระบรมราชวินิจฉัยฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษของนักโทษอย่างสม่ำเสมอ และมีพระราชกระแสในฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตลอดมาไม่ได้ทรงหยุด พระองค์ท่านไม่ได้ทรงรักษาพระองค์เหมือนคนป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวตามโรงพยาบาล แต่ยังคงทรงงานตลอดเวลาเพราะทรงทราบดีว่าทุกคนฝากความหวังไว้ที่พระองค์ท่าน และพระองค์ท่านเองก็ไม่เคยทรงละเลยพระเมตตาที่มีต่อประชาชน”

“คำว่า ‘พระราชอำนาจ’ ในการพระราชทานอภัยโทษนี้ มิได้จำกัดเฉพาะโทษทางอาญาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโทษทางวินัยกรณีอื่นด้วย เช่น ในคราวเกิดวิกฤตการณ์ทางตุลาการเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และมีการกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้พิพากษาพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากถูกลงโทษทางวินัยให้ออกจากราชการ พระองค์ท่านได้พระราชทานอภัยโทษลดโทษทางวินัย จากโทษให้ออกเหลือเพียงโทษงดบำเหน็จความชอบ ซึ่งเป็นโทษในสถานเบา ทำให้ผู้พิพากษาเหล่านั้นยังคงรับราชการได้ต่อไป ซึ่งในเวลาต่อมา บางท่านได้มีโอกาสเป็นผู้นำในกระบวนการยุติธรรม บางท่านทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ”

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระเมตตาธรรมสูง มีพระบรมราชวินิจฉัยฎีกานักโทษด้วยพระเมตตา แม้จะเป็นผู้กระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พระองค์ก็พระราชทานอภัยโทษให้”

“แม้ว่าพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษตามรัฐธรรมนูญ จะเป็นพระราชอำนาจอันเด็ดขาดและกว้างขวาง แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชอำนาจภายในกรอบของกฎหมาย และทรงยึดมั่นในความยุติธรรมและเมตตาธรรม เป็นมูลฐานในการมีพระบรมราชวินิจฉัยให้สอดคล้องกับรูปเรื่องในแต่ละเรื่อง ส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่พสกนิกรผู้ต้องอาญาแผ่นดินเป็นรายบุคคลโดยตรงรวมทั้งมีพระราชปรารภเกี่ยวกับฎีกาต่างๆ ที่ทูลเกล้าฯ ถวาย อีกทั้งพระราชทานพระราชดำริส่วนพระองค์ในเรื่องเหล่านั้นเป็นครั้งคราว”

ทรงยึดมั่นในความยุติธรรม

อดีตประธานศาลฎีกา บอกเล่าถึงพระราชกรณียกิจด้านการยุติธรรมเพิ่มเติมว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดมั่นในพระปฐมบรมราชโองการและทศพิธราชธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับความเที่ยงธรรมอย่างเคร่งครัดในการทรงงาน หลักดังกล่าวอยู่ในพระราชหฤทัยเสมอมา ไม่ว่าในพระราชจริยวัตรหรือพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และพระราชกระแส ที่พระราชทานแก่นักกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น ทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา อาจารย์สอนกฎหมาย หรือเป็นผู้ใช้กฎหมายในหน้าที่ต่างๆ ดังปรากฏในพระราชดำรัสในโอกาสที่ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำกระทรวงเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ ศาลาดุสิดาลัย วันเสาร์ที่ 21 ธ.ค. 2539 ความตอนหนึ่งว่า

“...สถาบันตุลาการนั้นถือว่าเป็นสถาบันหนึ่งในสามสถาบันการปกครอง คือ สถาบันนิติบัญญัติ บริหาร และยุติธรรม ท่านก็เป็นส่วนหนึ่งในสามสถาบันซึ่งเป็นรากฐานของการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย ถ้าท่านได้ทำด้วยดี ก็หมายความว่าประเทศชาติจะไปรอด เป็นที่น่าสังเกตว่า สถาบันบริหารนั้นต่อเนื่องมาจากสถาบันนิติบัญญัติ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนสถาบันตุลาการนั้น เป็นสถาบันเอกเทศ และเป็นสถาบันที่ควรจะรักษาความเป็นเอกเทศนั้น เพื่อที่จะให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน ในการนี้ก็จะต้องทำงานหลายด้าน ผู้พิพากษานั้นจะต้องเข้าไปตัดสินความต่างๆ ในศาลทุกศาล และให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงเป็นสถาบันที่เป็นที่พึ่งของประชาชน สามารถที่จะคิดว่าประเทศเรามีขื่อมีแป ทำให้สบายใจว่า ถ้ามีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นจะมีผู้ที่จะช่วยให้ได้รับความยุติธรรม ฉะนั้น หน้าที่ของผู้พิพากษาทุกคนมีความสำคัญอย่างยิ่ง และจะไม่มีใครบังคับให้ทำอะไรได้เพราะว่าแต่ละคนมีความรู้และมีความสุจริต ดังที่ได้กล่าวคำสัตย์...”

ส่วนคำว่า “ยุติธรรม” นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสในโอกาสที่รองประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษา เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ครั้งแรก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันจันทร์ที่ 20 เม.ย. 2530 ไว้ดังนี้

“...คำว่ายุติธรรมนั้น เป็นคำที่แปลว่า การตกลง พิจารณาในทางที่ถูกต้องตามธรรมะ แล้วธรรมะนี้ก็หมายความว่าสิ่งที่ควรจะปฏิบัติให้นำความเจริญแก่มวลมนุษย์ ในการปฏิบัตินี้ก็จะต้องมีความเที่ยงตรง และปราศจากอคติ...”

นอกจากนี้ ได้พระราชทานพระราชดำรัสหลายองค์เป็นแนวทางให้นักกฎหมายได้ตระหนักถึงความยุติธรรม อันเป็นอุดมคติสูงสุดของพระบวนการยุติธรรม ส่วนกฎหมายเป็นเพียงวิถีทาง หรือเครื่องมือนำไปสู่ความยุติธรรมเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องรักษาความยุติธรรมเป็นสำคัญ มิใช่รักษากฎหมายซึ่งเป็นเพียงเครื่องมือในการนำมาซึ่งความยุติธรรม ความยุติธรรมจึงต้องมาก่อนและอยู่เหนือกฎหมาย

ในบรรดาหลักธรรมทั้งหลาย “ความเป็นธรรม” เป็นหลักธรรมหนึ่งที่ทรงยึดถือและให้ความสำคัญมาตลอด ดังที่ทรงแสดงให้ปรากฏในพระราชกรณียกิจ พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และพระราชกระแสในโอกาสต่างๆ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ประชาชนชาวไทยและเป็นแนวทางที่นักกฎหมายและประชาชนพึงระลึกถึง และยึดถือปฏิบัติ ผลสุดท้ายจะนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อยของประเทศอันเป็นประโยชน์สูงสุดแก่แผ่นดิน