posttoday

ศึกมหาอำนาจศก.หมายเลข2 จีนเบียด...ญี่ปุ่นยื้อ!

17 สิงหาคม 2553

กระแสคาดการณ์ที่ว่าจีนจะก้าวขึ้นมาแย่งชิงตำแหน่งมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกจากญี่ปุ่นภายในปีนี้เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น

กระแสคาดการณ์ที่ว่าจีนจะก้าวขึ้นมาแย่งชิงตำแหน่งมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกจากญี่ปุ่นภายในปีนี้เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

 

ศึกมหาอำนาจศก.หมายเลข2 จีนเบียด...ญี่ปุ่นยื้อ!

เมื่อญี่ปุ่นเปิดเผยอัตราการขยายตัวช่วงไตรมาส 2 ที่ชะลอตัวลงอย่างฮวบฮาบ โดยขยับขึ้นมาเพียง 0.4% ยังผลให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นช่วงไตรมาส 2 ปรับลงมาอยู่ที่ 1.288 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตัวเลขของจีนแซงขึ้นมาอยู่ที่ 1.337 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ตัวเลขนี้เป็นเพียงประจักษ์พยานล่าสุดว่า จีนมีโอกาสสูงมากที่จะชิงตำแหน่งอันดับ 2 จากญี่ปุ่นภายในเวลาอีกไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ เพราะแท้ที่จริงแล้วมีสัญญาณมากมายที่ยืนยันว่า หากไม่เกิดปาฏิหาริย์ทาเศรษฐกิจขึ้นในแดนอาทิตย์อุทัยแล้ว จีนจะเข้ามาแทนที่อันดับ 2 ของโลกได้อย่างไม่ยากเย็น

ไม่ว่าจะเป็นอำนาจการจับจ่ายของผู้บริโภค ซึ่งเป็นตัวชี้วัดกำลังซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศ ในส่วนนี้จีนแย่งชิงตำแหน่งที่ 2 จากญี่ปุ่นมาระยะหนึ่งแล้ว

เมื่อปีที่แล้วจีนยังก้าวขึ้นมาเป็นตลาดรถยนต์อันดับ 1 ของโลกแทนที่สหรัฐ ส่วนตลาดรถยนต์ญี่ปุ่นเผชิญกับวิกฤตเรียกรถคืนครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังต้องพึ่งพาตลาดจีนเพื่อทดแทนยอดขายที่ตกลงในหลายประเทศ

นอกจากนี้ จีนยังเป็นผู้นำเข้าสินแร่เหล็กมากที่สุดในโลก และเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ส่วนญี่ปุ่นรั้งอันดับ 3 ซึ่งหมายความว่า จีนมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างคึกคักยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาจากปริมาณการบริโภคทรัพยากรเพื่อการผลิตเชิงอุตสาหกรรมในปริมาณมหาศาลเช่นนี้

หรือไม่ว่าจะเป็นการที่จีนสามารถช่วงชิงตำแหน่งอันดับ 1 ของประเทศผู้ผลิตสินค้าส่งออกในตลาดโลกจากเยอรมนีเมื่อช่วงต้นปีนี้ ซึ่งหมายความว่าจีนยิ่งทิ้งห่างญี่ปุ่นมากขึ้นทุกขณะ

ในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเองต้องล้มลุกคลุกคลานกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและภาวะเงินฝืดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนแทบไม่มีความหวังที่จะฟื้นตัวได้ทันประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม จนถึงขนาดนี้แล้วญี่ปุ่นยังยืนยันว่า ตนคือมหาอำนาจเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

ยืนยันเสียงแข็งว่า อย่างน้อยก็ยังครองตำแหน่งเบอร์ 2 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

ส่วนครึ่งหลังของปีนั้นเป็นอีกเรื่อง!

ท่าทีนี้ถือเป็นการแสดงท่าทีเชิงการเมืองในความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

ญี่ปุ่นนั้นรู้ดีอยู่แก่ใจว่าไม่ปีนี้ก็ปีหน้าจะต้องเสียตำแหน่งให้กับจีนโดยดุษณีอย่างแน่นอน เพราะปัจจัยแวดล้อมล้วนแต่ไม่เอื้ออำนวย

ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินฝืด เนื่องจากภาคธุรกิจและผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างกระมิดกระเมี้ยน ผิดกับจีนอย่างสุดกู่ ดังจะเห็นจากการใช้จ่ายภาคธุรกิจที่ปรับขึ้นมาเพียง 0.5% ขณะที่การใช้จ่ายผู้บริโภคหยุดนิ่งมาเป็นไตรมาส 4 ติดต่อกันแล้ว

หรือจะเป็นภาวะถดถอยของประชากร ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อทรัพยากรบุคคลในการพัฒนาประเทศและในการบริโภค

ยังไม่นับภาวะเงินเยนแข็งค่า ซึ่งบั่นทอนศักยภาพของภาคธุรกิจและภาคส่งออกของประเทศ ซึ่งในจุดนี้ญี่ปุ่นอยู่ในภาวะตรงข้ามกับจีนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือเช่นกัน

ญี่ปุ่นมีทางเลือกไม่มากนักกับการก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของจีนเมื่อเทียบกับสหรัฐ ซึ่งช่องว่างระหว่าง จีดีพี ของทั้งสองประเทศยังห่างกันมากถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐกับ 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อย่างเร็วที่สุดอาจใช้เวลาถึง 10 ปีหรือในปี 2563 กว่าจะก้าวตามทัน จากการประเมินของบริษัท PricewaterhouseCoopers เมื่อเดือน ม.ค.  

ขณะที่ญี่ปุ่นไม่เพียงมีช่องว่างที่แคบมากเมื่อเทียบกับจีน แต่ยังต้องพึ่งพาตลาดจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในภาวะที่ต้องพึ่งพิงจีนพร้อมกับการเสียตำแหน่งมหาอำนาจให้จีน ทำให้ญี่ปุ่นตกอยู่ในภาวะกระอักกระอ่วนและผสมปนเปกันระหว่างความรู้สึกขมขื่นและไม่พอใจ

ดังจะเห็นได้จากผลสำรวจความเห็นของชาวญี่ปุ่นโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุน เมื่อเดือนเม.ย. พบว่า มีชาวญี่ปุ่นถึง 50% ที่เห็นว่าการที่ญี่ปุ่นหล่นลงมาอยู่ที่อันดับ 3 ของมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ขณะที่อีก 46% ไม่เห็นว่าเป็นปัญหาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจากโพลสะท้อนให้เห็นว่า ชาวญี่ปุ่นในอัตราส่วนเกือบ 50 ต่อ 50 ยังเสียงแตกต่อการผงาดขึ้นมาของจีน สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งคิดว่า การผงาดขึ้นสู่ตำแหน่งที่ 2 ของจีนจะยังประโยชน์ให้กับญี่ปุ่นมากกว่า

ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่สร้างความกระอักกระอ่วนให้กับอีกหลายประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย ไล่เรียงมาตั้งแต่เกาหลีใต้จนถึงนานาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในกรณีของเกาหลีใต้ จีนถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุด การก้าวขึ้นมาสู่อันดับเกือบสูงสุดของจีนจึงถือเป็นประโยชน์ทางตรงต่อเกาหลีใต้ แต่แนวโน้มที่ดีนี้กำลังถดถอยลงอย่างรวดเร็ว

เพราะแม้ในทางเศรษฐกิจทั้งสองจะมีความสัมพันธ์อันดี แต่ในทางการเมืองแล้วความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยิ่งเสื่อมทรามลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกาหลีเหนือจมเรือรบของเกาหลีใต้ นานาประเทศต่างประณามการกระทำนี้โดยพร้อมเพรียงกันยกเว้นเพียงจีน

ท่าทีนี้ช่วยตอกย้ำให้เกาหลีใต้ไม่ลืมเลือนว่า แท้จริงแล้ว จีนยังเป็นผู้สนับสนุนอันดับหนึ่งของเกาหลีเหนือ พร้อมๆ กับเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของเกาหลีใต้

จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลสำรวจความเห็นชาวเกาหลีใต้โดย Pew Global Attitude Project พบว่า มีถึง 56% มีทัศนคติด้านลบต่อจีน

ขณะเดียวกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็หาใช่ “ของตาย” สำหรับจีนเลยไม่ เพราะแม้จีนจะสามารถแย่งชิงสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในฐานะคู่ค้าอันดับ 1 มาจากญี่ปุ่นได้เป็นผลสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว แต่เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นในเชิงการเมืองแล้ว จีนมีโอกาสกระทบกระทั่งกับอาเซียนได้ง่ายกว่าและรุนแรงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีพิพาทเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์ตามหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้

แม้ญี่ปุ่นจะสูญเสียอาเซียนให้กับจีน แต่ในระยะยาวแล้วมีโอกาสที่จะแย่งชิงกลับคืน หากเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง

ด้วยเหตุนี้ จึงยากที่จีนจะเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจที่มีความเสถียร หากจะวัดจากปัจจัยหมิ่นเหม่ทางการเมือง

นอกจากนี้ การดำรงตนเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จำต้องอาศัยอำนาจด้านที่อ่อนโยน หรือ Soft Power เพื่อพยุงฐานะและขยายอิทธิพลอย่างแนบเนียน ซึ่งญี่ปุ่นและสหรัฐ (รวมถึงเกาหลีใต้) มีทักษะในด้านนี้มากกว่าจีนอย่างเห็นได้ชัด

ภายในปีนี้ จีนอาจแย่งชิงตำแหน่งเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 จากญี่ปุ่นได้ในที่สุดตามความคาดหมายของกูรูหลายๆ สำนัก

แต่ญี่ปุ่นยังไม่หมดโอกาสที่จะรั้ง หรือทวงคืนฐานะเดิมของตนไปเสียทีเดียว หากพิจารณาถึงรากฐานของจีนที่ยังไม่แข็งแกร่งนัก

แม้ว่าญี่ปุ่นเองจะอยู่ในภาวะที่ล้มลุกคลุกคลาน และอยู่ท่ามกลางความหวังที่ริบหรี่ก็ตาม