posttoday

ข้อสอบโอเน็ตผิดพลาด ล้มเหลววัดทักษะและความรู้

11 มิถุนายน 2559

ต้องลุ้นกันทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นการสอบโอเน็ต ว่าจะเกิดปัญหาข้อสอบผิดพลาดหรือไม่ ท้ั้งที่โอเน็ตคือการทดสอบ

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ต้องลุ้นกันทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นการสอบโอเน็ต ว่าจะเกิดปัญหาข้อสอบผิดพลาดหรือไม่ ท้ั้งที่โอเน็ตคือการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานแห่งชาติ ที่ต้องมีความรัดกุม มาตรฐานในการออกข้อสอบ

ผลจากการทักท้วงของ อาจารย์ปิง ดาว้องก์ หรืออาจารย์ปิง เจริญศิริวัฒน์ ติวเตอร์ชื่อดังที่สอนวิชาภาษาไทยและสังคม ที่ชี้ว่า ข้อสอบโอเน็ต ม.6 วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม น่าจะมีข้อสอบผิดพลาดถึง 5 ข้อ ได้แก่ ข้อ 63 ข้อ 72 ข้อ 58 ข้อ 80 ข้อ 85 และยังมีข้อสอบกำกวมอีกหลายข้อ แม้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จะออกมายืนยันว่า ผิดพลาดเพียงข้อเดียว

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นข้อตอกย้ำว่า โอเน็ต เป็นข้อสอบที่อ่อนไหวต่อความผิดพลาด จนถูกนำมาล้อเลียนในรูปแบบต่างๆ กันในโลกโซเชียลจนแทบไม่เหลือภาพลักษณ์ที่ดี

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 การสอบโอเน็ตกลายเป็นข่าวใหญ่ของแวดวงการศึกษา เมื่อมีการเพิ่มรูปแบบข้อสอบโอเน็ต จากเดิมเป็นข้อสอบแบบปรนัย 4 ตัวเลือก นักเรียนต้องเลือกข้อที่ถูกที่สุดเพียง 1 ข้อ ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2549-2551 มีการเพิ่มส่วนหนึ่งของข้อสอบและกระดาษคำตอบขึ้นอีก 3 แบบ คือ 1.แบบปรนัยหลายตัวเลือก โดยผู้เข้าสอบต้องอ่านบทความที่เป็นโจทย์ แล้วเลือกตัวเลือกที่สัมพันธ์กัน 2.แบบปรนัยหลายตัวเลือกหลายคำตอบ ผู้สอบต้องเลือกคำตอบที่ถูกต้อง 2 คำตอบ จาก 6 ตัวเลือก และ 3.แบบระบายค่า/ตัวเลขที่เป็นคำตอบ

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จัดทำขึ้นเพื่อหวังสกัดนักเรียนที่เข้ามาเดาคำตอบ เนื่องจากข้อสอบปรนัยรูปแบบเดิมเพียงแบบเดียวที่ใช้มานาน เป็นข้อสอบที่ถกเถียงกันว่า ผู้ตอบสามารถเดาถูกได้ 1 ใน 4 หรือ 25% เท่ากับว่า ถ้ามีข้อสอบ 100 ข้อ ข้อละ 1 คะแนน นักเรียนที่ได้ 25 คะแนน อาจได้มาจากการเดา

ผลที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น คือ นักเรียนในหลายพื้นที่ นอกจากจะกุมขมับจากข้อสอบแล้ว ยังต้องงงกับกระดาษคำตอบเพิ่มขึ้นมาอีก ทางออกที่จะแก้ปัญหาก็ยังเป็นเหมือนเดิม คือเดาเท่าที่เดาได้ สุดท้ายคะแนนก็ออกมาในระดับที่น่าเป็นห่วงว่า คะแนนเฉลี่ยทั้งประเทศตกกราวรูดทุกวิชา

สิ่งที่อยู่ควบคู่กับผลการสอบ คือ โอเน็ตคืออะไร และนอกเหนือจากเป็นคะแนนที่ใช้ยื่นเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นตามสัดส่วนแล้วยังมีความสำคัญอย่างไรอีก

วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการด้านการศึกษา ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Eduzones.com ระบุว่า ข้อสอบโอเน็ตนั้นถูกตั้งคำถามถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงเรื่อยมา ทั้งที่ตามหลักแล้ว การทดสอบระดับชาติควรมีเจตนาเพื่อควบคุมคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนทั้งประเทศ ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน

ในทางปฏิบัติแล้ว โรงเรียนแต่ละแห่ง ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนไม่เหมือนกัน หากนโยบายการศึกษาคาดหวังให้เด็กมีความรู้และสมรรถนะที่เป็นเสมือนเป็นแกนกลางเดียวกัน ก็จำเป็นต้องมีเครื่องมือกลาง คือ แบบทดสอบระดับชาติเพื่อวัดผล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ข้อสอบโอเน็ตที่มี นอกจากจะไม่สามารถใช้วัดสิ่งที่ต้องการได้ ยังลืมไปว่า เป้าหมายของการเรียนที่จะให้เด็กมีสามสิ่ง คือ ความรู้ ทักษะการใช้ชีวิต และจริยธรรม สามารถสอบวัดได้แค่เพียงสองสิ่งแรก

ขณะเดียวกัน ความรู้และทักษะการใช้ชีวิตนั้น มีรายละเอียดเรื่องความเฉพาะถิ่นรวมอยู่ด้วย ข้อสอบโอเน็ตจึงล้มเหลวในการวัดความรู้และทักษะ กลายเป็นเหลือประโยชน์อย่างเดียว คือใช้เพื่อเป็นคะแนนเข้าเรียนต่อ จนกลายเป็นต้องกวดวิชาเพื่อสอบโอเน็ตให้ได้คะแนนสูง

วิริยะ กล่าวว่า สิ่งที่ สทศ.ดำเนินการเกี่ยวกับข้อสอบโอเน็ต คือยกเลิกการใช้เป็นสัดส่วนคะแนนในการเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา และหากจะวัดมาตรฐานการเรียนการสอนก็หันไปใช้การสอบหรือข้อสอบประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ก็สามารถวัดหาข้อมูลที่นำมากำหนดนโยบายการศึกษาได้เช่นกัน

พงศธร นามพิลา นักเรียนโรงเรียนโซ่พิสัยพิทยาคม จ.บึงกาฬ ระบุว่า จากประสบการณ์ตรงในฐานะที่ได้สอบโอเน็ตพบว่า ข้อสอบนี้ยังมองข้ามรายละเอียดบางอย่างไป เช่น นักเรียนระดับมัธยมปลายนั้นเรียนหลายแผน หรือหลายสาย เช่น วิทย์-คณิต วิทย์-ชีวะ ศิลป์-คำนวณ ศิลป์-ภาษา ซึ่งมีความรู้ความถนัดที่ต่างกัน โอเน็ตจึงไม่สามารถวัดความรู้ของเด็กมัธยมปลายได้

พงศธร เล่าว่า ในแวดวงของนักเรียนจะพูดถึงข้อสอบโอเน็ตกันไปต่างๆ นานาทุกปี ส่วนใหญ่ก็เป็นแง่ลบและตั้งคำถามว่า ทำไมข้อสอบวัดระดับประเทศถึงได้มีข้อผิดพลาดซ้ำซากได้ทุกปี คะแนนที่ออกมาต่ำมาก เพราะข้อสอบยากเกินไป บางวิชาวัดความสามารถของพวกเขาแทบไม่ได้

“ทุกปี เราได้เรื่องความผิดพลาด บางปีก็ข้อสอบซ้ำกัน ข้อสอบไม่สมเหตุสมผล คำตอบก็กำกวมคือไม่สามารถชี้ชัดได้ จนกลายเป็นเรื่องเอามาเสียดสีกันเมื่อสอบเสร็จ ที่สำคัญคือไม่มีการเปิดเผยข้อสอบ ถ้าเราไปยื่นเรื่องกับ สทศ.ก็ได้มาแค่กระดาษคำตอบแต่ไม่ได้ข้อสอบมาด้วย จนกลุ่มเด็กลือกันแล้วว่า โรงเรียนกวดวิชาบางแห่งถึงกับบอกเด็กว่า ใครจำข้อสอบมาบอกได้ จะให้รางวัล ข้อละ 1,000 บาท เมื่อได้ยินอย่างนี้ เด็กก็ยิ่งอยากไปเรียนในสถาบันกวดวิชาที่บอกอย่างนี้ เพราะเข้าใจว่า ไปเรียนแล้วจะทำให้ได้คะแนนโอเน็ตดีขึ้น” พงศธร กล่าว