posttoday

ปทีป สู่ วิเชียร ความเหมือนที่ยังน่าเป็นห่วง

10 สิงหาคม 2553

ก้าวสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 7 แบบไม่พลิกโผ สำหรับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี หลังจากเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) มีมติ 8 ต่อ 0 เสียงเห็นชอบตามที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เสนอ

ก้าวสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 7 แบบไม่พลิกโผ สำหรับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี หลังจากเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) มีมติ 8 ต่อ 0 เสียงเห็นชอบตามที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เสนอ

โดย........ทีมข่าวการเมือง

ปทีป สู่ วิเชียร ความเหมือนที่ยังน่าเป็นห่วง

นอกจากเหตุผลเรื่อง “อาวุโส” ที่ได้เปรียบรอง ผบ.ตร. คนอื่นๆ ด้วยการติดยศ พล.ต.อ. เมื่อปี 2545 โดยเฉพาะเป็นก่อน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ถึง 2 ปี แถมเคยรักษาราชการแทน ผบ.ตร. มาแล้ว 2 ครั้ง ในช่วงเดือน ส.ค. 2552

อีกเหตุผลสำคัญกับการขึ้นสู่ตำแหน่งครั้งนี้ คือเรื่องความ “เป็นกลาง” ไม่มีสีไม่เอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งท่ามกลางบรรยากาศสังคมที่ขัดแย้งกันรุนแรง

การวางตัว พล.ต.อ.วิเชียร ซึ่งมีจุดแข็งเรื่องการประนีประนอมและเข้าได้กับทุกฝ่าย มากุมบังเหียนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในยุคนี้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับแผนการเตรียมยกเครื่องวงการสีกากี ตามที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ส่งสัญญาณออกมา

เมื่อปฏิเสธไม่ได้ว่าขุมกำลังที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จัดวางไว้ใน สตช. อย่างเหนียวแน่นยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่สามารถทลายลงได้ และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานตลอดมา

แม้เวลาจะล่วงผ่านมานาน แต่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ตอบสนองการบริหารงานของรัฐบาล จนถูกขนานนามเป็น “ตำรวจเกียร์ว่าง” และพัฒนาเป็น “ตำรวจมะเขือเทศ”

การตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร ขึ้นมาเป็น ผบ.ตร. อีกด้านหนึ่งยังปิดทาง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ พี่เขย พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ให้เข้ามามีบทบาทหลักใน สตช.ได้อย่างแยบยล

เพราะหากไม่มีอุบัติเหตุอะไรทำให้ตำแหน่งของ พล.ต.อ.วิเชียร ต้องสะดุดลงก่อนเกษียณอายุราชการในปี 2556 นั่นย่อมปิดทางการเข้ามามีอำนาจใน สตช.ของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ที่จะเกษียณในปี 2555
อย่างไรก็ตาม เส้นทางต่อจากนี้คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ พล.ต.อ.วิเชียร ตามที่รัฐบาลประชาธิปัตย์วาดหวังจะให้ “ตำรวจ” กลับมาเป็นกลไกเกื้อหนุนการบริหารของรัฐบาล

ถ้าจำได้ความพยายามนี้เคยเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้วตั้งแต่สมัย “เด็กดื้อ” พยายามดัน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ขึ้นเป็น ผบ.ตร.แบบไม่สนใจ “สัญญาณพิเศษ” ที่ต้องการดัน พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย

ความไม่ลงตัวในครั้งนั้นส่งผลต่อเนื่องให้ พล.ต.อ.ปทีป ต้องปฏิบัติหน้าที่รักษาการ ผบ.ตร. มาเป็นเวลาแรมปีพร้อมเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.นี้ ด้วยตำแหน่ง “รักษาการ” ผบ.ตร.

ที่สำคัญการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจภายใต้การบัญชาการของรักษาการ ผบ.ตร. กลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง ถึงขั้นรัฐบาลไม่อาจจะไว้วางใจให้รับมือดูแลการชุมนุมของเสื้อแดง จนต้องดึงกองทัพเข้ามารับหน้าที่แทน

แน่นอนว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้องคาพยพของตำรวจไม่สามารถขับเคลื่อนไปอย่างมีเอกภาพ มาจากตำแหน่งรักษาการ ผบ.ตร. ซึ่งมีอำนาจครึ่งๆ กลางๆ ไม่พอจะเรียกความเชื่อมั่น ชี้นำองค์กรได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ดังนั้น การตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร ขึ้นมาบัญชาการ สตช.แบบเต็มตัว มีอำนาจเต็มมือทั้งการให้คุณให้โทษ ย่อมเรียกความเชื่อมั่นเพื่อให้การขับเคลื่อน สตช. ต่อจากนี้เป็นไปแบบมีทิศทางชัดเจน ไม่ใช่ “เกียร์ว่าง” รอความชัดเจนอย่างที่ผ่านมา

แต่ที่น่าเป็นห่วงอยู่ตรง “เส้นทาง” สู่เก้าอี้ ผบ.ตร.ของ พล.ต.อ.วิเชียร ไม่ใช่ไลน์คุมกำลังหลัก ที่จะได้มีคนไว้เนื้อเชื่อใจมาเป็นมือไม้คอยทำงาน ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ

เมื่อ พล.ต.อ.วิเชียร เติบโตจนก้าวสู่ตำแหน่ง หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ (หน.นรป.) ก่อนได้ย้ายกลับมาประจำ สตช. ได้ทำหน้าที่ รอง ผบ.ตร.ฝ่ายความมั่นคง ในยุค พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เรืองอำนาจ

ครั้งนั้นได้ทำหน้าที่คุมงานสำคัญ คือเป็นผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง (ศรส.ลต.ตร.) คุมเกมวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหญ่ช่วงปลายปีนั้น

เส้นทางสายบุ๋นของ พล.ต.อ.วิเชียร ที่ผ่านมาจึงถูกมองว่าอาจจะไม่ตอบสนองงานด้านการปราบปราม ไม่ว่าจะเป็นคดีทางการเมืองที่ต้องออกแรงกันอีกหลายยก หรือการติดตามตัวผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีคดี

จนนำมาสู่กระแสข่าวว่ามีการเตรียมวางตัว พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ฝ่ายปราบปราม เพื่ออุดช่องว่าง เสริมจุดอ่อน ให้การทำหน้าที่

งานนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเป้าหมายเบื้องต้นในการทำหน้าที่ ผบ.ตร. ไม่ว่าจะกลไกสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย เร่งคลี่คลายภาพลักษณ์การซื้อขายตำแหน่งในช่วงที่ผ่านมา ไปจนถึงการยกระดับความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ยังไม่รวมถึงการทำหน้าที่ปราบปราม และวางมาตรการรับมือกับการเคลื่อนไหวในคดีทางการเมือง ที่เป็นปัญหาของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง

การเปลี่ยนจาก พล.ต.อ.ปทีป มาเป็น พล.ต.อ.วิเชียร จึงอาจไม่ส่งผลแตกต่างอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบทันที เรื่องนี้คงได้แต่ต้องรอพิสูจน์ผลงานต่อจากนี้