posttoday

โค้งสุดท้าย 6 ก.ย. ร่างรัฐธรรมนูญฉลุย

01 กันยายน 2558

บทสรุปเรื่องร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.อาจออกมาในรูปแบบที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ เป็นฝ่าย กำชัยชนะแบบไม่ยากเย็น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

6 ก.ย. กำลังจะเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย เพราะเป็นวันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะลงมติว่าเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยไม่ว่า สปช.จะลงมติอย่างไร ย่อมถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญแทบทั้งสิ้น

หาก สปช.เห็นชอบก็จะเป็นอีกครั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ถูกฉีกกลางสภาก่อนเข้าสู่กระบวนการประชามติในอีก 4 เดือนข้างหน้า หรือถ้า สปช.ลงมติไม่เห็นชอบจะมีผลให้ทิศทางการเมืองไทยเกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ กล่าวคือ จะต้องมีการตั้ง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 21 คนขึ้นมาเพื่อเขียนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่นั่นยังไม่เท่ากับการทำให้การเลือกตั้งครั้งใหม่จากเดิมที่วางไว้ในเดือน ก.ย. 2560 ต้องเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อยเกือบปี

ท่าทีล่าสุดของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต่อการลงมติของ สปช.ที่แสดงออกมาเมื่อวันที่ 31 ส.ค. นับว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

“รับได้ทั้งนั้นครับ ผ่าน สปช.และประชามติก็ดีใจและเหนื่อยแต่พร้อมที่จะทำงานต่อ ไม่ผ่านก็โล่งใจ ไม่มีอะไรเป็นของเราเอง อย่าว่าแต่รัฐธรรมนูญที่ร่างเลย ตัวเราเองพระพุทธเจ้าก็บอกว่าไม่ใช่ของเรา เพราะถ้าเป็นของเราจริง มันต้องบังคับไม่ ให้แก่ได้ ไม่ให้ป่วยได้ เมื่อคิดได้ดังนี้ ปลงลงได้ดังนี้ มันก็ไม่ทุกข์...

...อยากจะบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านยอมรับได้ทั้งนั้น แต่ถ้าถามใจลึกๆ แล้วอยากให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน รัฐธรรมนูญจะเป็นสัญญาประชาคมได้จริงก็ต่อเมื่อประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ออกมาบอกว่ายอมให้ใช้กติกานี้เป็นกติกาบริหารบ้านเมือง” ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ระบุ

คำพูดที่ออกมาจากบวรศักดิ์ ด้านหนึ่งดูเหมือนเป็นการถอดใจ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น

การที่ประธาน กมธ.ยกร่างฯ บอกล่วงหน้าว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน สปช. และประชามติจะต้องมีงานทำต่อนั้น ย่อมหมายถึงการส่งสัญญาณว่าอาจจะดึง สปช.บางส่วนเข้ามาเป็นทีมเขียนกฎหมายลูกเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ

ต้องไม่ลืมว่าคณะ กมธ.ยกร่างฯ ไม่สามารถนั่งเขียนกฎหมายลูกได้เพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องอาศัยแรงของ สปช.มาช่วยด้วย ดังนั้น อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ สปช.ยอมลงมติเห็นชอบแลกกับการเข้ามาเป็นคนร่วมเขียนกฎหมายลูก ซึ่งกฎหมายลูกที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ วางแนวทางเอาไว้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งข้อเสนอจาก สปช.ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองขุมกำลังของ สปช.ในขณะนี้ถือว่ามีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย สปช.กลุ่มรักชาติ ประมาณ 10-15 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยพยายามผลักดันการเปิดกาสิโนในเมืองไทย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะ สปช.ไม่เห็นด้วย ประกอบกับถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่ม สปช.ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ สปช.กลุ่มนี้เก็บความไม่พอใจเอาไว้ และเตรียมไปลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นการตอบโต้

ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่ม สปช.จังหวัดประมาณ 20-30 คน เป็นฝ่ายสนับสนุนอีกแรง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสนิทสนมกับฝ่ายพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พอสมควร ทำให้แรงต้านร่างรัฐธรรมนูญเริ่มมีพลังมากขึ้น

กลุ่มที่ 2 เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่มพลังหลักอยู่ที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ ที่เป็น สปช. จำนวน 20 คน โดยขณะนี้เดินสายทำความเข้าใจกับสมาชิก สปช.ในสภาภายใต้สูตร 1 ต่อ 8

หมายความว่า กมธ.ยกร่างฯ ที่เป็น สปช. 1 คน ลงประสานงานกับสมาชิก สปช.ให้มาสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ 8 คน หากสูตรประสบผลสำเร็จจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญมีแรงสนับสนุนประมาณ 150 คน ซึ่งเพียงพอกับการช่วยให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน สปช.ไปได้ จากเดิมที่ต้องใช้เสียงเพียง 124 คนจากสมาชิก สปช.ทั้งหมด 247 คน

กลุ่มที่ 3 ยังไม่ตัดสินใจแบบเด็ดขาด เป็นกลุ่มสายข้าราชการและนักวิชาการประมาณ 20-30 คน ซึ่งยังชะลอการตัดสินใจว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ อาจเรียกได้ว่ารอจนถึงวินาทีสุดท้ายก็ได้ แต่ถ้ามองท่าทีของ สปช.กลุ่มนี้แบบลึกๆ มีแนวโน้มว่าจะลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ

เหตุผลสำคัญที่มีผลต่อให้ สปช.กลุ่มนี้ร่วมวงสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ คือ การมองเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ด้อยไปกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550

แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะคุมเข้มการทำงานของฝ่ายการเมือง แต่ถ้าเป็นในเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและบทบัญญัติการปฏิรูปประเทศ ถือว่ามีการพัฒนามากกว่ารัฐธรรมนูญในอดีต จึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะลงมติสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ดังนั้น บทสรุปของการเมืองเรื่องร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.นี้ อาจจะออกมาในรูปแบบที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ เป็นฝ่าย กำชัยชนะแบบไม่ยากเย็นนักด้วยคะแนนระหว่าง 150-180 เสียง เว้นเสียแต่จะมีสัญญาณจากผู้มีบารมีนอกสภาที่ส่งมาให้สปช.หักด้ามพร้าด้วยเข่า เพื่อไม่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญถูกฉีกโดยการทำประชามติในปี 2559