posttoday

เจ้านายกับรถยนต์เมื่อแรกมีในไทย

10 พฤษภาคม 2558

รถยนต์เต็มถนนในกรุงเทพ มหานคร จนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่นักเดินทางต่างชาติต้องหามุมสวยๆ

โดย...ส.สต

รถยนต์เต็มถนนในกรุงเทพ มหานคร จนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่นักเดินทางต่างชาติต้องหามุมสวยๆ ถ่ายภาพเก็บไว้เพื่อบอกว่ามาถึงแล้วกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ เมืองหลวง ไม่เฉพาะมีชื่อยาวแห่งหนึ่งของโลก แต่รถติดอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน

ก่อนที่จะมีรถเต็มถนนทุกวันนี้ ทุกอย่างต้องมีการเริ่มต้น นั่นคือผู้ที่นำรถยนต์คันแรกเข้ามาเมืองไทย และคนขับรถคนแรกๆ

บุษยารัตน์ คู่เทียม แห่งสำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ เขียนเล่าเรื่องเจ้านายกับรถยนต์เมื่อแรกมีในเมืองไทย ว่ารถยนต์ที่เข้ามาเมืองไทยยุคแรกเป็นรถที่ใช้น้ำมัน และแบตเตอรี่ ไม่มีพวงมาลัย แต่ใช้คันโยกเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา นึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่าจะทำอย่างไร ห้ามล้ออยู่ตรงไหน แต่บุษยารัตน์ก็ไม่ทันเห็นเหมือนกัน บอกว่าขับยากกว่ารถใช้พวงมาลัย

รถที่ใช้น้ำมันเรียกว่า มอเตอร์คาร์ ทับศัพท์ไปเลย ที่ใช้แบตเตอรี่ เรียกว่ารถไฟฟ้า ต่อมาจึงบัญญัติศัพท์ว่ารถยนต์ และใช้มาถึงทุกวันนี้

ส่วนรถยนต์คันแรกที่เข้ามาเมืองไทย สั่งซื้อโดยจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เสนาบดีกระทรวงเกษตรา ธิการ สั่งเข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2440 สมัยรัชกาลที่ 5  ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตามหารถคันนี้เพื่อจะนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์พระนคร แต่หาไม่ได้ เจ้าของส่งเข้ามาซ่อมในเรือนจำกรุงเทพฯ (คลองเปรม) แล้วหายสาบสูญไป

ส่วนรถยนต์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดและพระราชทานชื่อว่า แก้วจักรพรรดิ เป็นรถยี่ห้อ เมอร์ซิเดส เดมเลอร์ สีแดง ที่กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ขณะเสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ทรงสั่งให้สร้างขึ้น และทรงนำเข้ามาน้อมฯ ถวาย เมื่อ พ.ศ. 4724 จากนั้นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงสั่งเข้ามาอีก 10 คัน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งราชสำนักใช้รถยนต์แทนรถม้า

ส่วนคนขับรถก็เป็นปัญหาใหญ่ เพราะทั้งกรุงเทพฯ มีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระองค์เดียวที่ขับเป็น จึงเป็นสารถีขับถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้านายอื่นๆ ต่อมากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้ฝึกหัดให้พระราชธิดา และมหาดเล็กหัดขับจนเป็น

ในจำนวนมหาดเล็กนั้น มีมหาดเล็กของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เมื่อดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชด้วยคนหนึ่ง ชื่อ เทียบ ต่อมาเป็น พล.ต.ต.พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง ต้นสกุล อัศวรักษ์

นายเทียบนี้ ต่อมาได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ถวายการหัดขับรถแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่การถวายหัดขับสร้างความลำบากใจและยุ่งยากมาก เพราะเจ้านายกับบ่าวไพร่ นายเทียบจึงหาเหล็กมาตรึงกับดุมล้อเพื่อเป็นที่ยืนด้านหลัง (รถสมัยนั้น ดุมไม่ได้หมุนตามล้อ ในขณะที่ล้อหมุนโดยอาศัยแกนเพลา (งง) ) เพื่อถวายการหัดขับ จนทั้งสองพระองค์สามารถขับได้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระราชทานเสื้อถักด้วยฝีพระหัตถ์เป็นของขวัญ ส่วนสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าพระราชทานกางเกงแพรสีประจำวัน 7 ตัว

ชื่อรถหลวง

สำหรับรถยนต์หลวง ซึ่งเป็นรถพระที่นั่ง รถพระประเทียบฝ่ายใน รวมทั้งรถที่พระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานชื่อไว้ทุกคัน ดังนี้

1.แก้วจักรพรรดิ รถยนต์พระที่นั่ง

2.ทัดมารุต รถยนต์พระที่นั่ง

3.ครุฑพ่าห์ รถยนต์พระที่นั่ง

4.มหาหงษ์ รถยนต์พระที่นั่ง

5.ทรงหนุมาน ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

6.สราญรมย์ ของกรมขุนนครราชสีมา

7.พรหมมาศ ของกรมพระนครสวรรค์วรพินิต

8.ราชสีห์ ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

9.นาภีปรามาศ ของกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ

10.อากาศประกาย ของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม

11.พระพายผัน ของพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค)

12.จันทรมณฑล ของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

13.ย่นมรรคา ของพระโสภณเพชรรัตน์ (กี้)

14.พิทยาธร ของพระยามหิบาลบริรักษ์

15.อมรโอสถ ของพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์

16.สิบคชประชุม ของหลวงนาวาเกณิกร

17.ประทุมรัตน์ ของกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ

18.อัศวพาหน ของพระยาศรีสหเทพ (เส็ง)

19.พลดิเรก ของกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน

20.เมขลา ของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

21.ปราสาทสังข์ ของกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์

อ่านต่อสัปดาห์หน้า