posttoday

ชาวบ้านพื้นที่เหมืองพิจิตรร้องม.รังสิตตรวจน้ำผุด

25 กุมภาพันธ์ 2558

กลุ่มชาวบ้านได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำร้องมหาวิทยาลัยรังสิตช่วยตรวจพิสูจน์น้ำผุดในพื้นที่

กลุ่มชาวบ้านได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำร้องมหาวิทยาลัยรังสิตช่วยตรวจพิสูจน์น้ำผุดในพื้นที่

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 58 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต กลุ่มชาวบ้านหลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร นำโดยนางอารมณ์ คำจริง เข้าร่วมงานเสวนา “ผลกระทบชาวบ้านจากการพัฒนาที่ไม่คำนึงสิ่งแวดล้อม” พร้อมยื่นจดหมายถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัย เพื่อขอความช่วยเหลือในการลงพื้นที่ตรวจพิสูจน์เพิ่มเติม

ซึ่งการขอตรวจพิสูจน์ครั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีน้ำผุดบริเวณท้ายพื้นที่ของชาวบ้านใกล้กับหลุมกักเก็บกากแร่ โดยมีกลิ่นเหม็นและสีผิดปกติ ขนาดกว้างประมาณ 10 ไร่และสูงกว่า 1 ฟุต ซึ่งชาวบ้านเกรงกลัวว่าจะเกิดการรั่วของกากแร่จริง สอดคล้องกับผลการตรวจของทางมหาวิทยาลัยที่พบสารโลหะหนักในกระแสเลือดของชาวบ้านก่อนหน้านี้

ตัวแทนชาวบ้านเผยว่า ปัจจุบันชุมชนล่มสลายเหลือบ้านอยู่เพียง 5 หลัง โรงเรียนและวัดเหลือเพียงป้าย ถนนถูกระเบิดและเสาไฟฟ้าขนาดใหญ่ถูกย้ายเพื่อเอาทองคำใต้ดิน ลูกจ้างของบริษัทที่เจ็บป่วยไม่ได้รับการเหลียวแล เมื่อไปเรียกร้องกลับถูกบริษัทฟ้องทั้งๆที่มีสิทธิ รวมทั้งการพยายามแก้กฎหมาย พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่คือการส่งเสริมให้ทำลายทรัพยากรอย่างไร้ขีดจำกัด พื้นที่ใดที่นายทุนได้รับสิทธิสัมปทานถูกกำหนดให้เป็นของนายทุนทันที ประชาชนถูกกำจัดให้ขาดสิทธิในที่ดิน

ดร.อาภา หวังเกียรติ กล่าวว่า ประเทศไทยเรามีศักยภาพของแหล่งแร่ทองคำสูง โดยมีแหล่งทองสายใหญ่พาดผ่านหลายจังหวัด ซึ่งทางบริษัทดังกล่าวได้อาชญาบัตรในการสำรวจและขุดเจาะถึง 8 แสนไร่ จึงน่าสงสัยว่าทำไมกฎหมายไทยถึงให้บริษัทแห่งเดียวจองแหล่งแร่ทองคำขนาดใหญ่นี้ได้ รวมถึงการลงทุนทำเหมืองแร่ในไทยนั้นยังมีต้นทุนที่ถูกกว่าที่อื่น ซึ่งรัฐเก็บค่าภาคหลวงเพียง 10% ทั้งที่เป็นธุรกิจที่สร้างความเสียหายมากมาย นำเอากำไรเอาออกนอกประเทศ และสิ่งที่ทิ้งไว้มีเพียงมรดกสารพิษและภาระของผู้ได้รับผลกระทบที่ประเทศเราต้องแบกรับไว้เอง

ด้านการสัมปทานปิโตรเลียม ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ กล่าวว่า กฎหมายไทยนั้นเอื้อประโยชน์ทุกอย่างให้กับบริษัทข้ามชาติภายใต้ระบบสัมปทานแก่เอกชน โดยที่ประชาชนไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและร่วมกระบวนการตัดสินใจทั้งที่เป็นผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ หากนำพื้นที่สัมปทานรอบที่ 19-21 รวมกัน พบว่าภาคอีสานประมาณ 2 ใน 3 จะถูกสัมปทาน ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินโครงการล้วนละเมิดสิทธิชุมชน ทั้งการเข้าพื้นที่สำรวจ ขุดหลุมฝังระเบิดในพื้นที่นาของชาวบ้าน หรือการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วยข้อมูลที่บิดเบือน ปราศจากข้อมูลวิชาการ และหลอกล่อชาวบ้านในการเซ็นยอมรับอย่างไม่ตรงไปตรงมา

“ข้อเสนอคือกิจการพลังงานน้ำมันและก๊าซควรจะต้องกลับมาเป็นของรัฐไม่ใช่เอกชน โดยผลกำไรนั้นจะต้องกลับมาพัฒนาการศึกษา ระบบสาธารณสุขและอื่นๆ นอกจากนี้จะต้องให้ประชาชนในท้องถิ่นมีตัวแทนเข้าไปควบคุมบริหารจัดการ และอยากถามว่าทำไมเราถึงไม่รอให้เทคโนโลยีการขุดเจาะต่างๆนั้นดีกว่านี้ เกิดผลกระทบต่อชุมชนน้อยกว่านี้แล้วค่อยทำ ในเมื่อทรัพยากรต่างๆยังคงอยู่รอเหมือนเดิมไม่หนีหายไปไหน”ดร.ไชยณรงค์กล่าว