posttoday

ผลกระทบ : กฎอัยการศึก-รัฐประหาร

25 พฤษภาคม 2557

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา และวันที่ 22 พ.ค. ก็เกิดรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ ตามด้วยการประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ระหว่างเวลา 22.0005.00 น. แม้ว่าประชาชน นักลงทุน นักวิเคราะห์ทั้งไทยและต่างประเทศจะให้การตอบรับถึงวิธีการปลดล็อกปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจของไทย แต่ก็มีแรงกระเพื่อมส่งผลกระทบบ้างในระยะสั้น

ต่างชาติทิ้งเงินบาทผันผวนหุ้นตก

เห็นได้ชัดเจนจากความผันผวนของค่าเงินบาท โดยตอนเช้าของวันที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก (20 พ.ค.) เงินบาทอ่อนลงไป 32.66/67 บาทต่อเหรียญสหรัฐ คงเป็นเพราะตลาดตกใจ แต่ตอนเย็นกลับฟื้นตัวมาแข็งค่าจากช่วงเช้า มาปิดที่ระดับ 32.54/55 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

เช่นเดียวกับวันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศยึดอำนาจของประเทศ ค่าเงินอ่อนมาปิดตลาดที่ระดับ 32.58/59 บาท อ่อนค่าจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 32.47/48 บาท

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ต่างประเทศคาดการณ์แนวโน้มค่าเงินบาทแตกต่างกันอย่างมาก โดยมอร์แกน สแตนเลย์ วาณิชธนกิจชื่อดังจากสหรัฐ คาดการณ์ทิศทางค่าเงินบาทหลังไทยประกาศใช้กฎอัยการศึก ระบุว่า มีแนวโน้มน่าจะอ่อนลงแตะ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ด้านเจพี มอร์แกน วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐ กลับเห็นตรงข้ามว่าเงินบาทกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ 31.4 บาทต่อเหรียญสหรัฐในช่วงสิ้นปีนี้

ด้านการลงทุนในตลาดหุ้น นักลงทุนต่างชาติได้เทขายออกมามากถึง 2 หมื่นล้านบาท ในช่วง 4 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ทิ้งหนักที่สุดถึง 8,335 ล้านบาท และขายต่อเนื่องจำนวน 3,061 ล้านบาท และ 1,882 ล้านบาท จนมาถึงวันที่ 23 พ.ค. ขายมากกว่า 6,776 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกองทุนต่างชาติบางแห่งห้ามลงทุนในประเทศที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและเกิดรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม ดัชนีหุ้นกลับปรับตัวลงไม่มากอย่างที่กังวลกัน แม้ว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกจะกดดันการลงทุนจนทำให้ดัชนีหลุดระดับสำคัญ 1,400 จุด ปิดที่ 1,394.69 จุด ติดลบ 15.94 จุดก็ตาม หลังจากนั้นก็กระเตื้องขึ้นตามแรงซื้อจากนักลงทุนไทยทุกประเภท และวันรุ่งขึ้นหลังจากเกิดรัฐประหาร ดัชนีทรุดหนักสุดเพียง 29.8 จุด คิดเป็น 2.12% ก่อนมีแรงไล่ซื้อกระชากให้ดัชนีฟื้นตัวมาปิดที่ระดับ 1,396.84 จุด ลดลงเพียง 8.37 จุดเท่านั้น ด้วยมูลค่าการซื้อขายถึง 53,516.32 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 8 เดือน นับจากวันที่ 19 ก.ย. 2556 ที่ 82,712.68 ล้านบาท

นอกจากนั้น นักลงทุนต่างชาติได้เทขายตราสารหนี้ไทยมากถึง 7,300 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากเข้ามาซื้อคืน หายตกใจการประกาศใช้กฎอัยการศึก

ผลกระทบ : กฎอัยการศึก-รัฐประหาร

 

ท่องเที่ยวอีเวนต์เดี้ยง

ด้านภาคธุรกิจเอกชนมีการประเมินผล ที่กระทบหนักจริงๆ จะเป็นภาคธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากการประกาศใช้กฎอัยการศึก และรัฐประหารที่เกิดขึ้น ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศดูน่ากลัว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงทันที 23% เหลือวันละไม่ถึง 1 แสนคน จากเดิมอยู่ที่ 1.3-1.4 แสนคน ขณะที่ภาพรวมมีนักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางมาไทยประมาณ 50% พร้อมจับตาดูว่าสถานทูตใดจะประกาศยกระดับคำเตือนหรือไม่ แต่ยังเชื่อว่าเหตุการณ์จะมีผลแค่ช่วงระยะสั้น เพราะในระยะยาวไทยยังเป็นเป้าหมายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จากทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในแง่การลงทุนโรงแรมทั้งในประเทศและจากต่างประเทศยังเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องในจังหวัดแหล่งท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา หัวหิน และสมุย โดยมองว่าไทยเป็นตลาดที่คุ้มค่าที่สุด และปัญหาการเมืองมีในทุกประเทศ

อีกภาคธุรกิจหนึ่ง คือ ธุรกิจอีเวนต์และการจัดงานที่มีบางส่วนยกเลิก เช่น งานคอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า และบางส่วนต้องเสี่ยงจัดงานต่อไป โดยมีจำนวนคนเข้าชมงานหรือเงินสะพัดในงานน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 2030% โดยภาพรวมในไตรมาสแรกเติบโตติดลบ และอาจจะชะลอตัวในช่วงเดือน พ.ค.–มิ.ย. แต่หวังว่าไตรมาส 3 จะพลิกฟื้นกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ขณะที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประเมินว่าตลาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ติดลบ 20-25% โดยคาดการณ์มูลค่าตลาดปีนี้อยู่ที่ 2.5-2.7 แสนล้านบาท แต่ยังอยู่ในระดับที่รับได้ และหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้โดยเร็ว ยังเชื่อว่าความต้องการในตลาดโครงการแนวราบยังสามารถเติบโตได้ ขณะที่ตลาดในต่างจังหวัดตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ ยังมีการเติบโตไปได้ดี

สำหรับภาคธุรกิจสื่อและโฆษณา 4 เดือนแรก เติบโตติดลบ 7% ส่วนแนวโน้มเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ยังชะลอ แต่ถ้ามีความชัดเจนตามมาโดยเร็ว เชื่อว่าจะมีการกลับมาซื้อสื่อโฆษณา เหมือนเดิม

นอกจากนี้ ยักษ์ใหญ่ต่างประเทศด้านออนไลน์อย่างกูเกิล ยังเปิดตัวบริการยูทูบอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ทำให้คาดว่าจะกระตุ้นเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์แตะ 5,000 ล้านบาท

ผลกระทบ : กฎอัยการศึก-รัฐประหาร

 

สั่งทูตพาณิชย์แจงคู่ค้าหลังรัฐประหาร

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลัง คสช.ประกาศยึดอำนาจว่า ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ 64 แห่งทั่วโลก รีบชี้แจงและทำความเข้าใจกับคู่ค้าอย่างเร่งด่วนว่า เป็นเรื่องการเมืองภายในของไทย แต่ไม่มีผลกระทบต่อภาคการค้า โดยไทยยังสามารถผลิตและส่งออกสินค้าได้ปกติ ขอให้คู่ค้ามั่นใจและทำการค้ากับไทยต่อไป

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบภาวะราคาสินค้า เพราะอาจมีพ่อค้า แม่ค้าฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภค

นักท่องเที่ยวผ่านสุวรรณภูมิหด

นางพรทิพย์ หิรัญเกตุ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฝ่ายตลาด กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิลดลง 23% เหลือไม่ถึงวันละ 1 แสนคน เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีการเดินทางเข้ามาวันละ 1.3-1.4 แสนคน ถือว่าลดลงสูงสุดนับจากมีการชุมนุม ส่วนทางด้านสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวจะทยอยยกเลิกการเดินทางมายังประเทศไทยไม่น้อยกว่า 50% โดยเฉพาะตลาดเอเชียและอาเซียน

ผลกระทบ : กฎอัยการศึก-รัฐประหาร

 

เคอร์ฟิวทำพิษปั๊มเอ็นจีวีขาดก๊าซ

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า การประกาศเคอร์ฟิวส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) อย่างหนักในพื้นที่ กทม. โดยหลายปั๊มมีรถยนต์เข้าคิวเติมยาวมาก โดยเฉพาะกลุ่มรถแท็กซี่ เพราะ ต้องรีบหยุดวิ่งรถให้ทันเวลา 22.00 น. ตามประกาศ อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานได้ขอผ่อนผันกับทาง คสช.ให้รถขนส่งน้ำมัน ก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจี สามารถขนส่งได้ในช่วงเวลากลางคืน

คลังเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทหารเข้าบริหารประเทศเต็มตัว และเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมกันหารือ และเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังจัดลำดับความสำคัญเพื่อออกมาตรการเรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เช่น การทำงบประมาณปี 2558 เพื่อให้ใช้ได้ทันวันที่ 1 ต.ค. 2557 การเร่งหาเงินประมาณ 9 หมื่นล้านบาท มาจ่ายชาวนาตามโครงการจำนำข้าวทั้งหมดใน 20 วัน นับตั้งแต่วันแรก 26 พ.ค.นี้ และการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ 7% ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2557 การขยายเวลาการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 20% เป็นต้น