posttoday

กาญจน์เร่งแก้ปัญหาช้างลงจากป่าหนีแล้ง

28 กุมภาพันธ์ 2557

กาญจนบุรี-รองผู้ว่าฯเมืองกาญจน์เดินหน้าแก้ปัญหาช้างลงจากป่าหนีภัยแล้งหากินในชุมชน

กาญจนบุรี-รองผู้ว่าฯเมืองกาญจน์เดินหน้าแก้ปัญหาช้างลงจากป่าหนีภัยแล้งหากินในชุมชน
 
นายสุริยันต์ กาญจนศิลป์ รองผวจ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ปัญหาช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรและทรัพย์สินของราษฎร บริเวณพื้นที่รอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เริ่มต้นในปี พ.ศ.2533 ในท้องที่ตำบลท่ากระดาน ต.หนองเป็ด ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2545 จนกระทั้งถึงปัจจุบัน สถานการณ์ดังกล่าวได้ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น จากเดิมเข้ามาในพื้นที่ ต.วังด้ง ต.ช่องสะเดา อ.เมือง และ ต.หนองกุ่ม ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย ทำให้เกิดความสูญเสียถึงชีวิตทั้งคนและช้าง ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและการพัฒนาของประเทศ เช่น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้พืชอาหารและแหล่งน้ำของสัตว์ป่าในฤดูแล้งขาดแคลน
 
ทั้งนี้ส่งผลให้เกิดการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน ถนน ทำให้แบ่งพื้นที่ป่าออกเป็นหย่อมป่า ประกอบกับประชาชนได้บุกรุกพื้นที่เพื่อทำการเกษตรมากขึ้น  จึงทำให้ความรุนแรงของปัญหาช้างป่าออกมาหากินในพื้นที่ของราษฎรเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ.2556 คาดว่าประชากรช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ที่มีอยู่ 250 ถึง 300 ตัว  คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนช้างป่าทั่วประเทศ โดยสถานการณ์ปัจจุบันสภาวะโลกร้อนทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ฝนตกในพื้นที่เขตสลักพระน้อยลง ทำให้ปริมาณของในในแหล่งน้ำลดลงไปด้วย ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของช้างป่า และสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ทั้งระบบ
 
นายสุริยันต์ กล่าวอีกว่า แต่ละปี ช่วงระหว่างปลายเดือนก.พ. – มิ.ย.ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง ช้างป่ามักจะเดินออกจากป่าเพื่อมาหากินอาหารในเขตชุมชนอยู่เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงที่มะม่วงออกผล ก็จะมีเหตุการณ์เช่นนี้อยู่บ่อยๆ เนื่องจากผลมะม่วงเป็นอาหารที่ช้างโปรดปรานมากเป็นพิเศษ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามป้องกันเพื่อไม่ให้ช้างป่าออกมาจากเขตป่า เช่น แนวรั้วไฟฟ้า แต่ปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ขุดสระน้ำเพิ่มเติมในเขตป่า และปลูกพืชอาหารช้างเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ช้างมีแหล่งน้ำและแหล่งอาหารที่เพียงพอ
 
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้ร่วมกับชุมชน จัดชุดเฝ้าระวังในเรื่องดังกล่าวอยู่ ดังนั้นหากประชาชนพบเห็นช้างป่าอย่าไปทำร้ายมัน ขอให้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือผู้นำชุมชนในพื้นที่เพื่อไล่ต้อนให้มันกลับเข้าไปในป่า เพราะหากทำร้ายมันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้