posttoday

คนไทยใช้ชีวิตคุณภาพดีสุดในเอเชียแปซิฟิก

20 ธันวาคม 2556

ไทยครองแชมป์การใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพสูงสุดใน 15 ประเทศทั่วเอเชีย-แปซิฟิก

ไทยครองแชมป์การใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพสูงสุดใน 15 ประเทศทั่วเอเชีย-แปซิฟิก

นายมาร์ค ทักเกอร์ ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท เอไอเอ เผยว่า ได้ทำการสำรวจในตลาด 15 ประเทศทั่วเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งประเทศไทยด้วย พบว่า ประชาชนในประเทศไทยมีคะแนนการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพสูงสุดในภูมิภาค ด้วยคะแนน 61 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 จากการสำรวจดัชนีเฮลธ์ตี้ ลิฟวิ่ง (Healthy Living Index Survey) ประจำปี พ.ศ.2556 ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชากรวัยทำงานกว่า 1 หมื่นคน จาก 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยคะแนนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ทำได้ 57 คะแนน ในปี พ.ศ.2554

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมรูปแบบในการดำเนินชีวิตแบบสมัยใหม่ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต อาทิ พฤติกรรมการติดอินเทอร์เน็ต และความกังวลเรื่องการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป แม้ว่าการเข้ามามีบทบาทของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจะยังไม่สูงเท่ากับตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ แต่ผลการสำรวจประชากรวัยทำงานไทยพบว่า 78% เห็นด้วยว่าการติดต่อสื่อสารทางโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นการเสพติดชนิดหนึ่ง โดย ตัวเลขดังกล่าวนับว่าเป็นเปอร์เซนต์ที่สูงที่สุดในภูมิภาค

นอกจากนี้ แนวโน้มการติดอินเทอร์เน็ตยังเพิ่มสูงขึ้นอีกในหมู่เยาวชนที่เติบโตในยุคที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน  การขยายตัวของโรคติดอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีผลในเชิงลบ เนื่องจากอาการติดอินเทอร์เน็ตส่งผลให้ออกกำลังกายน้อยลง พักผ่อนน้อยลง และมีผลเสียต่อบุคลิกภาพ

แม้ว่า ประเทศไทยยังตามหลังหลายประเทศในด้านการมีสุขนิสัยที่ดี แต่ก็มีการพัฒนาไปในทางที่ดีให้เห็นมากขึ้น โดย 73% ของประชากรวัยทำงานบอกว่าพวกตนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจาก 63% ในปี พ.ศ.2554 โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยจะใช้เวลาออกกำลังกาย 2.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ.2554 ที่อัตรา 2.5% ซึ่งก็ยังต่ำกว่าสถิติของประเทศในภูมิภาคที่มีค่าเฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และต่ำกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำไว้

สำหรับความกังวลต่อเรื่องความปลอดภัยในอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จากการสำรวจ ชาวไทย 69% บอกว่าตนเองมีความกังวลเรื่องส่วนผสมในอาหารที่เป็นอันตราย และ 74% กล่าวว่าส่วนประกอบในอาหารไม่ตรงกับฉลาก หรือ 70% คิดว่าอาหารที่ซื้ออาจจะเสียแล้ว

มลภาวะยังเป็นปัญหาสร้างความกังวลอย่างมากในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในประเทศไทยนั้น 97% ของประชากรวัยทำงานรู้สึกว่ามลภาวะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ซึ่งประชากรวัยทำงานในประเทศไทยมีความกังวลในมลภาวะทางอากาศมากที่สุดคิดเป็น 78% ตามด้วยมลภาวะในดิน (62%) มลภาวะทางน้ำ (58%) และอีก 53% กังวลเรื่องระบบการจำกัดของเสียที่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการใช้เทคโนโลยี