posttoday

ย้อนตำนาน นายกฯมาตรา 7

05 ธันวาคม 2556

กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกรอบ เมื่อ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประกาศงัดรัฐธรรมนูญมาตรา 7 มาเป็นใบเบิกทางสู่ “สภาประชาชน” เดินหน้าลุยตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วยเป้าหมายทำให้เกิดประชาธิปไตยบริสุทธิ์

กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกรอบ เมื่อ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประกาศงัดรัฐธรรมนูญมาตรา 7 มาเป็นใบเบิกทางสู่ “สภาประชาชน” เดินหน้าลุยตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วยเป้าหมายทำให้เกิดประชาธิปไตยบริสุทธิ์

มาตรา 7 ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทย เพราะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคยหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในข้อเสนอฝ่าวิกฤตในช่วงขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงปี 2549 ที่มีเป้าหมายเดินหน้าขอให้มีนายกฯ พระราชทานตามมาตรา 7

สุเทพประกาศชัดในพันธกิจ “รวมพลังโค่นระบอบทักษิณ” จากทั้งหมด 6 ข้อ โดยข้อ 2 ระบุว่า ยืนยันให้มีการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 เพื่อการจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติเพื่อการปฏิรูปการเมือง โดยนายกรัฐมนตรีและ ครม. (คนนอก) ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านการดำเนินการปฏิรูปสังคมและการเมือง

ไม่ต่างจากท่าทีก่อนหน้านั้นของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จนถูกขนานนามเป็น “มาร์คม.7” โดยวันที่ 28 ก.พ. 2549 ภายหลังหารือร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน 3 พรรคขณะนั้น เพื่อยืนยันท่าทีการไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง อภิสิทธิ์ ระบุว่า มาตรา 7 เป็นทางออกของปัญหา แต่ที่ผ่านมายังไม่มีประเพณีปฏิบัติ และเชื่อว่าสุดท้ายแล้วจะต้องมีการใช้มาตรานี้

แต่ทว่ากระแสสังคมยังไม่ให้การตอบรับแนวทางมาตรา 7 เท่าที่ควร เนื่องจากมองว่าเป็นการดำเนินการนอกระบบปกติ จนทำให้สุดท้ายแนวทางนี้ตีบตันไป ก่อนจะถูกปัดฝุ่นกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งในรอบนี้ และเริ่มมีกระแสคัดค้านไม่ต่างจากเดิม

โภคิน พลกุล มือกฎหมายของพรรคพลังประชาชน ระบุว่า ในกรณีหากเกิดสุญญากาศทางการเมือง เมื่อนายกรัฐมนตรียุบสภาและลาออกจากตำแหน่ง จะเข้าเงื่อนไขที่สามารถนำรัฐธรรมนูญมาตรา 7 มาบังคับ หากทำเช่นนั้นก็จะทำขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง เนื่องจากในรัฐธรรมนูญระบุให้การรักษาการจนกว่าจะมี ครม.ใหม่เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างทางการบริหาร

ชูศักดิ์ ศิรินิล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชวาทแก่คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด ว่า “มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอยืนยันว่ามาตรา 7 ไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่ มาตรา 7 นั้นพูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินได้ ทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำเขาก็จะว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ซึ่งจริงๆ ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทาน นายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษ แบบมั่ว แบบไม่มีเหตุมีผล สำคัญอยู่ที่ท่านที่เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา มีสมองแจ่มใส สามารถกลับไปคิดวิธีที่จะปฏิบัติ คือ ปกครองต้องมีสภา สภาที่ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วนก็ว่าไม่ได้ แต่อาจจะต้องหาวิธีที่ตั้งสภาที่ไม่ครบถ้วน แบบตำนานได้ แต่ก็มั่ว ขอโทษอีกทีนะ ใช้คำมั่วไม่ถูก ไม่ทราบใครจะทำมั่ว ปกครองประเทศมั่วไม่ได้ ที่คิดแบบว่าทำปัดๆ ไปให้เสร็จ ถ้าทำไม่ได้ก็โยนให้พระมหากษัตริย์ทำ ซึ่งยิ่งร้ายกว่าทำมั่วอีก เพราะพระมหากษัตริย์ไม่มีหน้าที่ที่จะไป ก็เลยต้องมาขอร้องฝ่ายศาลให้คิดและช่วยกันคิด”

ทั้งนี้ หากดูรายละเอียดมาตรา 7 ระบุว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นเป็นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยเนื้อหามาตรานี้ปรากฏครั้งแรกในธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ซึ่งครั้งนั้นระบุอยู่ในมาตรา 20 หรือมาตราสุดท้ายของธรรมนูญ

ที่ผ่านมากรณีนายกฯ พระราชทานที่ถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่าง คือ “สัญญา ธรรมศักดิ์” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งนายกฯ โดยเกิดจากเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เมื่อนักศึกษา ประชาชนจำนวนมหาศาลเดินขบวนขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เกิดการปะทะกันระหว่างทหารกับประชาชน ทำให้จอมพลถนอมต้องลาออกจากทุกตำแหน่ง

ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ เกิดภาวะ “สุญญากาศ” ไม่มีนายกฯ และ ครม.ผู้ใดจะเป็นผู้ใช้บังคับกฎหมาย กลไกของรัฐที่จะให้มีนายกฯ ก็ใช้การไม่ได้ เพราะประเทศไม่มีสภา หากจะจัดให้มีการเลือกตั้งก็จะใช้เวลานานเกินกว่าจะป้องปัดความเสียหายจากวิกฤตนี้ได้ จนนำมาสู่นายกฯ พระราชทาน

หากย้อนไปดูธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2515 ในมาตรา 22 ระบุว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย

ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี ขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัย ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัยชี้ขาด