posttoday

เปิดแฟ้มคดี"ยิ่งลักษณ์"สะเทือนเก้าอี้นายกฯ

27 กันยายน 2556

อนาคตทางการเมืองของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ในเวลานี้กำลังฝากไว้ที่ปัจจัยนอกสภาที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างองค์กรอิสระ

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

อนาคตทางการเมืองของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมในเวลานี้กำลังฝากไว้ที่ปัจจัยนอกสภาที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างองค์กรอิสระ โดยคดีความที่มีผลต่อเสถียรของรัฐบาลมีด้วยกันหลายกรณี ซึ่งอยู่ในการตรวจสอบของ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' และ 'คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ' (ป.ป.ช.)

คดีในศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่อยู่ในความสนใจเวลานี้ คือ "การวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่"

ปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้พิจารณา 2 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 1.การแก้ไขมาตรา 68 ที่ตัดสิทธิประชาชนในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงเพื่อให้วินิจฉัยการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ และ 2.การแก้ไขกระบวนการการได้มาซึ่งสว.ที่กำหนดให้สว.ต้องมาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว

ในส่วนของ "การแก้ไขมาตรา 68" ศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องไว้ 6 คำร้อง ประกอบด้วย สมชาย แสวงการ สว.สรรหา, พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว.สรรหา,บวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน, วรินทร์ เทียมจรัส อดีตสว.สรรหา, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ พรรคประชาธิปัตย์

ความคืบหน้าล่าสุดพบว่าภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้แล้วต่อมาได้มีคำสั่งให้คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 68 ที่มี "ดิเรก ถึงฝั่ง" สว.นนทบุรี เป็นประธาน ส่งเอกสารรายงานบันทึกการประชุมและเอกสารสำคัญมาให้ศาลรัฐธรรมนูญ

เช่นกันกับ "คดีการแก้ไขที่มาสว." ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องไว้เช่นกัน ซึ่งเป็นคำร้องของพล.อ.สมเจตน์ และพรรคประชาธิปัตย์ โดยศาลไม่ได้มีคำสั่งให้รัฐสภาระงับการลงมติเห็นชอบในวาระ 3 แต่อย่างใด

ในอนาคตถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามมาตรา 68 ให้รัฐสภาเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญและยุบพรรคการเมือง ย่อมเป็นเหตุให้ "ยิ่งลักษณ์" ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติรับหลักการในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับถูกขยายผลด้วยการยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.ไต่สวนในคดีอาญาและให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอนได้

อย่าลืมว่าที่ผ่านมาป.ป.ช.เคยดำเนินคดีอาญาและส่งเรื่องให้วุฒิสภาถอดถอน "นพดล ปัทมะ" อดีตรมว.ต่างประเทศมาแล้วหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเพื่อสนับสนุนการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 190

ขณะที่ คดีในป.ป.ช.นั้นจะเห็นได้ว่าล้วนเป็นคดีอาญาที่อยู่ในระหว่างการไต่สวนถึง 6 คดี ซึ่งมี "ยิ่งลักษณ์" เป็นผู้ถูกกล่าวหาในลำดับต้นๆแทบทั้งสิ้น ดังนี้

- คดีถอดถอนนายกฯยิ่งลักษณ์และพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมว.กลาโหมออกจากตำแหน่งจากกรณีโยกย้ายพล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ พ้นตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม

- คดีถอดถอนนายกฯยิ่งลักษณ์ จากกรณีละเว้นไม่ได้ดำเนินการตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องประกาศราคากลางเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างต่อสาธารณะ

- โครงการรับจำนำข้าว ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนโดยให้ 'วิชา มหาคุณ' กรรมการป.ป.ช.เป็นประธาน ซึ่งอยู่ในระหว่างการตรวจสอบเส้นทางการเงินและเตรียมแจ้งข้อหาผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

- การปล่อยให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ถ่ายทอดสดคำปราศรัยของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ บนเวทีชกมวยในรายการมวยไทยวอริเออร์สที่มาเก๊า

- การคืนหนังสือเดินทางระหว่างประเทศให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ โดยมิชอบ คดีนี้นายกฯยิ่งลักษณ์เป็นผู้ถูกกล่าวหาร่วมกับ 'สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล' รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ

- การบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาดจากการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 โดยคดีนี้มีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เมื่อครั้งเป็นรมว.ยุติธรรม เป็นผู้ถูกกล่าวหาร่วมกับนายกฯยิ่งลักษณ์ด้วย

ขณะเดียวกัน มีอีก 2 คดีที่ได้มีผู้ยื่นคำร้องให้ป.ป.ช.ดำเนินคดีอาญากับยิ่งลักษณ์และคณะรัฐมนตรีแต่คณะกรรมการป.ป.ช.ยังไม่ได้รับไว้ไต่สวนเพียงแต่สั่งให้เจ้าหน้าที่รวบข้อมูลไว้ก่อน ได้แก่ 1.การประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท (สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เป็นผู้ร้อง) และ 2.โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 2 ล้านล้านบาท (กลุ่มอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผู้ร้อง)

ทั้งนี้ คดีในสารบบป.ป.ช.ดังกล่าวจะมีผลต่อรัฐบาลก็ต่อเมื่อคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายกฯยิ่งลักษณ์

เนื่องจากมาตรา 55 ของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 บัญญัติให้ผูู้ถูกชี้มูลความผิดต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษาหรือวุฒิสภามีความเห็นในกรณีถอดถอนออกจากตำแหน่ง

หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่ายิ่งลักษณ์จะไม่สามารถทำหน้านายกรัฐมนตรีได้ บานปลายจนกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินบางประการที่ต้องอาศัยอำนาจนายกฯตามกฎหมายด้วย แน่นอนว่าการเมืองอาจจะเข้าสู่ภาวะสุญญากาศอย่างเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังสงบนิ่งในช่วงนี้อาจจะไม่นิ่งอีกต่อไปเมื่อความมั่นคงของเก้าอี้นายกฯเกิดการสั่นสะเทือนด้วยเสียงข้างมากของป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ