posttoday

นักวิชาการชี้หลื่อมล้ำเป็นต้นตอความขัดแย้ง

07 กันยายน 2556

นักวิชาการชี้ความเหลื่อมล้ำต้นตอความขัดแย้ง แนะทางแก้ปัญหาต้องให้ประชาชนร่วมกำหนดนโยบาย จัดสรรงบประมาณทั่วถึง

นักวิชาการชี้ความเหลื่อมล้ำต้นตอความขัดแย้ง แนะทางแก้ปัญหาต้องให้ประชาชนร่วมกำหนดนโยบาย จัดสรรงบประมาณทั่วถึง

ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ ) จัดเวทีสาธารณะ เรื่อง  “ก้าวข้ามความขัดแย้ง  กับ กระบวนการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย” ดำเนินรายการโดย นายภิญโญ  ไตรสุริยธรรมา โดยมีนายชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นางผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ร่วมเสวนา

นายนิธิ กล่าวว่า ความขัดแย้งของสังคมที่แท้จริง คือ ด้านสังคมและเศรษฐกิจ ประชาชนต้องการให้รัฐเข้ามาดูแลประกันความเสี่ยงในด้านต่างๆ มากขึ้น ระบอบการเมืองการปกครองไม่เอื้อต่อประชาชนมากนัก เนื่องจากศูนย์รวมอำนาจไปตกอยู่ที่ส่วนกลางเป็นหลัก จึงต้องกระจายไปสู่ส่วนท้องถิ่นให้เข็มแข็งมากขึ้น นอกจากนั้นคนชั้นกลางจะพบความเสี่ยงมากขึ้นไปด้วยจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันซึ่งโดนปัญหาเงินเฟ้อโจมตี หรือจะเป็นเรื่องการศึกษา หลายส่วนที่เป็นปัญหาจึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งหากประชาชนปรับตัวไม่ทันก็จะนำไปสู่ความขัดแย้ง

นายนิธิ กล่าวต่อว่า ปัจจัยการเมืองเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องก้าวข้ามไปให้ได้ อาทิ เรื่องโครงสร้างภาษี ขณะที่อำนาจรัฐเป็นผู้กำหนดบทบาท ฉะนั้นพื้นที่ทางการเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องให้เกิดการกระจายอำนาจที่เป็นธรรม การปฏิรูปด้านอื่นจะตามมาเอง

"พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเริ่มปฏิรูปตนเอง เช่น ให้มีระบบไพรมารี่มากขึ้น สมาชิกพรรคการเมืองต้องฟังความเห็นของประชาชนก่อน ส่งต่อเป็นแนวคิด นโยบายขึ้นไป และสามารถกำกับดูแลนักการเมืองได้มากขึ้น ประชาชนต้องผลักดันให้เกิดจุดนี้" นายนิธิ กล่าว

ขณะที่ นางผาสุก กล่าวว่า เศรษฐกิจในสังคมไทยของกลุ่มต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก เศรษฐกิจของชนชั้นกลางปัจจุบันเทียบกับรุ่นพ่อแม่สูงกว่าถึง 3 เท่า แต่กลุ่มต่างๆ ในสังคมไม่ได้เปลี่ยนตามไปด้วย ยังเกิดความแตกต่างของชนชั้นสูงและชนชั้นต่ำอยู่ตลอดเวลา ความแตกต่างตรงนี้เป็นชนวนของความขัดแย้งได้ อาทิ เรื่องที่ดิน หุ้น จากผลวิจัยพบว่ามีการกระจุกอยู่กับคนรวยมากอยู่ไม่กี่คนจากสัดส่วนของทั้งประเทศในระดับที่สูงมาก ซึ่งความเหลื่อมล้ำสูง ความขัดแย้งจะสูงด้วยตามมาเป็นปกติของทุกประเทศ

"ทางแก้ก็คือภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมทางด้านต่างๆ เช่น เรื่องสุขภาพ เพิ่มงบการศึกษาให้มากขึ้น" นางผาสุก กล่าว

ขณะที่นายชัยอนันต์ กล่าวว่า ปัจจุบันเกิดความขัดแย้งสูงมาจากผลประโยชน์ทางการเมืองที่มากขึ้น อำนาจทางการเมืองได้ครอบคลุมไปหมดทุกอย่างจึงเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมา ตัวจุดชนวนความขัดแย้งซึ่งคือประชาชนจึงใช้ความรุนแรงเนื่องจากเห็นว่าพวกตัวเองอยู่ในภาวะไม่มีอะไรจะเสีย