posttoday

วาระร้อนผู้นำจีนเยือนไทย

20 พฤศจิกายน 2555

วาระของการเปิดรับการลงทุนกับจีนเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านสินค้าเกษตรนับเป็นไฮไลต์สำคัญ

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

เวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 20-21 พ.ย. เป็นการเดินทางมาประเทศไทยคล้อยหลังบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บินออกไทยไปแล้วสองวัน   จากความเป็นเจ้าภาพที่ดีเปิดประตูรับข้อตกลงด้านความมั่นคงและการค้ากับสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือตรวจอาวุธร้ายแรงน่านน้ำสากล   และแสดงท่าทีอ้าซ่าทบทวนเจรจาเอฟทีเอ ไทย สหรัฐในระยะเวลาอันใกล้นี้ 

แล้วกับชาติยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียอย่างจีน คือคู่แข่งขันทางการทหารและการค้ากับสหรัฐ ไทยจะจัดเต็มอะไรให้?

เปิดดูวาระการมาเยือนของผู้นำจีนครั้งนี้ วางยุทธศาสตร์ใช้วัฒนธรรมนำการค้า เห็นได้จากการเดินทางครั้งนี้ชูประเด็นกระชับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่าง 2 ประเทศ  โดยผู้นำจีนจะมีการพบปะกับตัวแทนจากสมาคมหอการค้าไทย-จีน และตัวแทนองค์กรชาวจีนด้วย แถมวางโปรแกรมพบองคมนตรีถึงสามคน ที่ล้วนเป็นอดีตนายทหารยศพล.อ. และอยู่ในเหตุการณ์ปฏิรูปประเทศแต่สัมพันธ์อันดีกับอดีตผู้นำจีน  ไม่ว่าจะเป็น   พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ  พล.อ.สิทธิ เศวตศิลา  พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นับเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่ลึกซึ้งยิ่ง

สิ่งที่ต้องจับตา นั่นคือการพบปะผู้นำไทย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล  ซึ่งใช้ห้องเดียวกับพบบารัค พร้อมกับมีการหารือเต็มคณะด้วย    อย่างไรก็ดี สาระการพูดคุยดูจะต่างกัน  เพราะวาทะหรูที่เปิดหัวพบบารัคคือการแสดงความยินดีกับการได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐสมัยสองและแสดงความเสียใจแด่ชาวอเมริกากรณีเหตุภัยพิบัติพายุเฮอริเคนแซนดี  แต่สำหรับการวาทะต้อนรับผู้นำจีนคือการแสดงความยินดีกับเวิน เจีย เป่าที่ได้ขึ้นสู่อำนาจและการเป็นมิตรที่ดีอันยาวนานพร้อมกับการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

วาระร้อนผู้นำจีนเยือนไทย

โอกาสนี้ ยิ่งลักษณ์ยังจะแสดงถึงความพร้อมรับข้อเสนออย่างยินดียิ่ง ไม่ว่าจะเป็น โครงกาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น รถไฟความเร็วสูงจากจีน ลาว ไทย  หรือโครงการสนับสนุนเงินกองทุนต่าง ๆ  และการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท    

นี่คือความแตกต่าง ระหว่างการพบบารัค และเวิน เจีย เป่า

ถึงกระนั้น รัฐบาลโดยโฆษกและครม.จะสื่อสารกับประชาชนอีกครั้งว่า จีนถือเป็นอีกตัวเลือกที่เคยลงนามเอ็มโอยูศึกษาร่วมกันเกี่ยวกับบริหารจัดการน้ำ เหมือนกับที่เคยทำเอ็มโอยูกับ เกาหลี ญี่ปุ่น  ซึ่งเช่นเดียวกับการรับข้อเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงก็จะบอกเช่นกันว่า จีนเป็นอีกตัวเลือก เหมือนที่นายกฯเดนทางไปดูงาน สหราชอาณาจักร เกาหลี ญี่ปุ่น  เพราะการจัดหารถไฟความเร็วสูงยังจะมีการจัดงานประกวดข้อเสนออีกครั้งที่เมืองไทยปลายปีนี้ จึงยังไม่มีการลงนามส่วนนี้ 

การแสดงวาทะเปิดรับการลงทุนกับจีนเรืองต่างๆ  เพื่อวางภาพความสัมพันธ์นั่นเอง 

ข้อตกลงพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นในการมาเยือนครั้งนี้ ก็ยังอยู่ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา การโอนย้ายนักโทษระหว่างกัน   ส่วนวาระปลีกย่อย อาจติดตามเรื่องโครงการวิจัยหมีแพนด้า  ตามที่ไทยได้ทำสัญญากับจีนยืมหมีแพนด้ามาไว้ที่สวนสัตว์เชียงใหม่   

วาระที่ไทยจะแสดงเจตจนารมย์การค้าการลงทุนจีนต่อไป นั่นคือ การสนับสนุนศูนย์อาเซียนจีน ซึ่งเคยมีการลงนามจัดตั้งที่กรุงปักกิ่งเมื่อ ต.ค. 2542 โดยไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยจีน วาระดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากครม.เมื่อวันที่ 12 พ.ย. โดยไทยจะสนับสนุนงบประมาณ  จำนวน  15,873 ดอลลาห์สหรัฐ  

ความร่วมมือด้านสินค้าเกษตรนับเป็นไฮไลท์สำคัญ เพราะนอกจากการการเจรจาเรื่องมันสำปะหลัง ยางพารา แต่จะมีการลงนามเอ็มโอยูซื้อข้าวจากไทย ประเด็นนี้ มีความพยายามจากที่ประชุมครม.เมื่อสัปดาห์ก่อน  เห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงพาณิชย์ ให้ลงนามเจรจาซื้อขายข้าวรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) กับจีน จำนวน  5 ล้านตันต่อปี เป็นระยะเวลา 3ปีตั้งแต่ปี 2556-2558  โดยอ้างว่าต้องรีบดำเนินการเพื่อให้ทันวันที่ผู้นำจีนจะเดินทางมาเยือน  

วาระนี้น่าจับตา หลายประการ ประการแรก  นังตั้งแต่ครม.ให้ความเห็นชอบ ปรากฎว่า มีความพยายามไม่เปิดเผยมติการลงนามจีทูจีดังกล่าวต่อสาธารณะชน  ทั้งที่เรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นข่าวดีของวงการข้าวไทย  ทำให้เกิดคำถามมากมายตามมา จนกระทั่งคนในรัฐบาลอย่างนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เพิ่งมาแถลงหลังจากผ่านมติครม.ไปแล้วหนึ่งวัน

ทั้งที่เป็นข่าวดี เป็นข่าวดีที่เกิดขึ้นพร้อมการถูกตรวจสอบขึ้นทันที ไม่ว่าจะเป็นผู้เกี่ยวข้องวงการข้าว  ฝ่ายค้าน  ที่เตรียมนำประเด็นดังกล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจ   เป็นข่าวดีที่มีคำถามว่า  ตัวเลขการซื้อข้าวจากจีนครั้งนี้จริงเท็จประการใด  เพราะก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ก็สร้างความคลุมเคลือต่อกรณี การเปิดเผยว่ามีการระบายข้าวแบบจีทูจี 7.3 ล้านตัน ให้กับ 7 ประเทศ หนึ่งในนั้นมีจีนด้วย แต่รายละเอียดก็ยังไม่ชัดเจน  และมาถึงครั้งนี้มีการลงนามใหม่อีกแล้วกับจีน 

เป็นข่าวดีที่ถูกตั้งคำถามว่า วิธีการจีทูจีครั้งนี้จะเป็นการขายตรง โดยไม่มีนายหน้าตามที่มีข้อครหาหรือไม่ และเป็นการขายไป เงินมา  หรือ ขายไปแลกกับอะไร  แลกกับข้อตกลงในอนาคตเรื่องการเปิดให้จีนเข้ามาบริหารโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เช่นระบบโลว์จิสติก  โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือแม้แต่โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทหรือไม่   

เหล่านี้เป็นคำถามต้องติดตามกันต่อไป ผลจะออกมาเป็นประการใดภายหลังความสัมพันธ์ชื่นมื่นเกิดขึ้น 

******************

สำหรับกำหนดการเบื้องต้น เวินเจียเป่า และคณะ จะเดินทางมาถึงประเทศไทยเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 20 พ.ย. โดยเครื่องบินส่วนตัว และในวันที่ 21 พ.ย. เวลา 09.00 น. นายกฯ จีน และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะร่วมกันเป็นประธานเปิดศูนย์วัฒนธรรมจีน ต่อด้วยการหารือกับยิ่งลักษณ์ จากนั้นจะร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลง และเอกสารความร่วมมือไทยจีน ที่ทำเนียบรัฐบาล และเวลา 16.00 น. นายกฯ จีน จะเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ก่อนเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช และเดินทางกลับ