posttoday

หนี้พุ่ง-ขาดดุลสะบั้น

19 กรกฎาคม 2555

ตลาดทุนทั่วโลกอาจจะอกหักกันเป็นแถวหลัง เบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

ตลาดทุนทั่วโลกอาจจะอกหักกันเป็นแถวหลัง เบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกแนวแทงกั๊กไม่ยอมประกาศมาตรการช่วยซื้อสินทรัพย์รอบใหม่ หรือคิวอี รอบที่ 3 ออกมาเสียที และมีทีท่าด้วยว่านักลงทุนทั้งหลายอาจต้องเตรียมดามใจรับอาการอกหักต่อไปอีกนาน หลังเบอร์แนนคีส่งสัญญาณเป็นนัยว่า ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากขนาดนั้น

เพราะทั้งเฟดและรัฐบาลสหรัฐ ต่างก็อยู่ในอาการ “หมดแม็ก” ด้วยกันทั้งคู่ ไม่เหลือกระสุนเงินออกมาจัดการปัญหาเศรษฐกิจได้เหมือนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาอีกแล้ว

การขยับตัวของสหรัฐในวันนี้กำลังถูกจำกัดอย่างหนักด้วยปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ “หนี้สาธารณะ” และ “งบประมาณขาดดุล” ซึ่งน่ากลัวไม่แพ้ฝั่งยูโรโซนแม้แต่น้อย และแม้แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยังได้พาดพิงถึงสถานะการคลังของสหรัฐว่าเป็นอีกประเด็นที่น่ากังวล

ภาวะที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดต่างๆ นี่เอง ที่อาจทำให้สหรัฐไม่สามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และเป็นที่พึ่งพิงให้เขตเศรษฐกิจอื่นๆ ทั่วโลกในปีนี้ได้

หากดูจากตัวเลขพื้นฐานทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ แล้วจะพบว่า เฟดได้เดินทางมาถึงขีดจำกัดในความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจอเมริกันแล้ว หลังจากที่ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วมากมายตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อาทิ การลดอัตราดอกเบี้ยลงมาติดพื้นที่ระดับ 0-0.25% และการออกมาตรการผ่อนปรนทางการเงิน หรือการช่วยซื้อสินทรัพย์ ที่ดำเนินมาแล้วถึง 2 ครั้ง และก็ไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากอย่างที่คาดไว้

ทว่า นอกจากความล้มเหลวของคิวอีทั้งสองครั้งก่อนแล้ว ข้อจำกัดสำคัญที่สุดที่ทำให้เฟดไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้มาก อาจมาจากสถานะทางการคลังของสหรัฐ ซึ่งกำลังเป็นปัจจัยเสี่ยงล่าสุด

หนี้พุ่ง-ขาดดุลสะบั้น

ปัจจุบันสหรัฐมีการขาดดุลงบประมาณสูงถึง 7.77 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 24 ล้านล้านบาท) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว ทว่าการขาดดุลที่พุ่งสูงเช่นนี้ได้ยังคงทำให้หนี้สาธารณะของประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐในขณะนี้ ได้พุ่งไปแตะระดับ 15.55 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 482.05 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 103% ของจีดีพีประเทศแล้ว และทำให้สหรัฐยังคงเป็นหนึ่งในประเทศเสี่ยงทางการคลังไม่แพ้ชาติใดในโลก

สถานะทางการคลังดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐต้องดำเนินมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้ก่อหนี้ผูกพันเพิ่ม โดยไม่แน่ใจว่าการก่อหนี้นั้นๆ จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะแผนการออกคิวอี ที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วจาก 2 ครั้งก่อนหน้าว่า ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้คุ้มค่ากับเงิน 1.25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 38.75 ล้านล้านบาท) และอีก 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 18.6 ล้านล้านบาท) ที่ได้ทุ่มทุนไปก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกันความพยายามของรัฐบาลสหรัฐที่จะตัดลดงบประมาณขาดดุลเพื่อลดหนี้ที่พอกพูนนั้น ก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ขึ้นมาด้วยเช่นกัน

รายงานฉบับหนึ่งของอุตสาหกรรมอากาศยานในสหรัฐ ได้ระบุไว้ว่า การตัดลดงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีหน้าเป็นต้นไปนั้น อาจส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานในประเทศถึงกว่า 2 ล้านอัตรา และอาจดันให้อัตราการว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.5% ในปี 2556 และจะส่งผลให้อัตราว่างงานของสหรัฐในปีหน้าพุ่งทะลุระดับ 9% และอาจฉุดให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐดิ่งลงกลับมาสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง และฉุดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีในปีหน้าลงถึง 2 ใน 3

แม้ว่าปัจจุบันนี้อัตราการว่างงานของสหรัฐจะปรับลดลงมาดีขึ้นอยู่ที่ 8.2% จากที่เคยพุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 10.2% ในปี 2552 ซึ่งถือเป็นการแตะระดับสูงสุดในรอบ 26 ปี เท่าที่เคยมีการสำรวจ ทว่าอัตราปัจจุบันก็ยังไม่ใช่ระดับที่น่าพึงพอใจ โดยล่าสุดพบว่าในไตรมาส 2 นี้ มีการสร้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยแค่ 7.5 หมื่นอัตราต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่สร้างงานเพิ่มได้เฉลี่ยถึง 2.26 แสนอัตราต่อเดือน

อัตราการจ้างงานในสหรัฐนั้นนับว่าเป็นส่วนสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่ง เนื่องจาก 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจสหรัฐล้วนมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศ เมื่องานไม่มี เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น เงินก็ไม่พอที่จะจับจ่ายใช้สอย และเป็นเหตุผลว่าทำไมตัวเลขค้าปลีกล่าสุดของสหรัฐ จึงออกมาน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

ตัวเลขการค้าปลีกสหรัฐในเดือน มิ.ย.นั้น ลดลง 0.5% สวนทางกับการวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ว่าจะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย ซึ่งการปรับตัวลดลงล่าสุดยังเป็นตัวเลขค้าปลีกที่ลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันอีกด้วย

การต้องมาตามแก้ปัญหาหนี้สาธารณะและงบประมาณขาดดุลในภายหลังนั้น ยังหมายถึงความเสี่ยงต่อการขึ้นภาษี การต้องเผชิญภาวะการใช้จ่ายภายในประเทศที่ลดลง และอีกหลายปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง โดยอาจไม่คุ้มค่ากับมาตรการคิวอี หรือการโหมอัดงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในคราวเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่โลกจะเห็นสหรัฐเลือกใช้มาตรการขนาดย่อมต่างๆ แทน อาทิ การขยายอายุมาตรการ “โอเปอเรชัน ทวิสต์” หรือการขายพันธบัตรระยะสั้นเพื่อนำไปซื้อพันธบัตรระยะยาว โดยทุ่มงบอีก 2.67 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8.277 ล้านล้านบาท) และขยายอายุอีก 6 เดือน ให้สิ้นสุดในสิ้นปีนี้

เพราะการซื้อเวลามาหลายครั้งก่อนหน้านี้ ล้วนเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นกันอย่างชัดเจนแล้ว...