posttoday

ค้านกทม.บีบเอกชนติดสปริงเกอร์ดับไฟ

14 มีนาคม 2555

สมาคมสถาปนิกสยามฯ ฮึ่ม ค้าน กทม.บีบเอกชนติดสปริงเกอร์ เหตุต้นทุนสูง แนะปรับปรุงบันไดหนีไฟ จวกเจ้าหน้าที่รัฐละเลยไม่บังคับใช้กฎหมาย

สมาคมสถาปนิกสยามฯ ฮึ่ม ค้าน กทม.บีบเอกชนติดสปริงเกอร์ เหตุต้นทุนสูง แนะปรับปรุงบันไดหนีไฟ จวกเจ้าหน้าที่รัฐละเลยไม่บังคับใช้กฎหมาย

นายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่จะแก้ไขกฎหมายเพื่อกำหนดให้ภาคเอกชนเจ้าของอาคารสูงที่สร้างก่อน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 ให้ติดตั้งระบบสปริงเกอร์รับมือเหตุเพลิงไหม้ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูงและใช้เวลานานในการดำเนินการ

นายทวีจิตร กล่าวว่า สมาคมสถาปนิกสยามฯ มีข้อเสนอว่า เบื้องต้นควรให้เจ้าของอาคารปรับปรุงระบบบันไดหนีไฟภายในอาคารอย่างน้อย 2 แห่ง ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถทำได้ทันที ใช้งบประมาณไม่มาก และง่ายกว่าการติดตั้งสปริงเกอร์

“บันไดหนีไฟที่มีประสิทธิภาพจะต้องเป็นระบบปิดล้อม ป้องกันไม่ให้ควันไฟเข้าถึงได้ ส่วนประตูหนีไฟต้องทำด้วยวัสดุทนความร้อน รวมถึงปรับปรุงทางเดินหนีไฟไม่ให้มีปลายตัน และต้องมีระยะทางไม่ไกลเกินกว่า 10 เมตร ซึ่งจะสามารถหน่วงสถานการณ์ได้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง” นายทวีจิตร กล่าว

นายทวีจิตร กล่าวว่า นอกจากนี้ตัวอาคารควรออกแบบให้มีพื้นที่ป้องกันไฟ โดยจำกัดพื้นที่เพลิงไหม้และควันไฟไม่ให้ลุกลามไปสู่พื้นที่ส่วนอื่นๆ รวมทั้งกำหนดให้ใช้วัสดุทนไฟเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามได้ง่าย

ทั้งนี้ องค์กรปกครองท้องถิ่นควรมีมาตรการส่งเสริมภาคเอกชนให้ปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยด้วยการจัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือใช้มาตรการจูงใจด้านภาษีและการประกันภัยด้วย

ด้านนายสุพิน เรียนศรีวิไล ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาคาร สมาคมสถาปนิกสยามฯ กล่าวว่า แม้กฎหมายจะไม่ครอบคลุมถึงอาคารเก่าที่สร้างก่อน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร แต่ก็มีกฎกระทรวงฉบับที่ 47 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถเข้าไปตรวจสอบและสั่งการให้เจ้าของอาคารปรับปรุงแก้ไขได้ โดยที่ กทม.ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่แต่อย่างใด

ขณะที่ พ.ต.ท.บัณฑิต ประดับสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านอัคคีภัย สมาคมสถาปนิกสยามฯ กล่าวว่า กฎหมายที่มีอยู่ถือว่าเพียงพอแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายซึ่งปล่อยปละละเลยและไม่มีการตรวจสอบอย่างทั่วถึง