posttoday

รัฐติดบ่วงพรก.โอนหนี้

14 กุมภาพันธ์ 2555

แม้ว่า พ.ร.ก.โอนภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ1.14 ล้านล้านบาท ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

แม้ว่า พ.ร.ก.โอนภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ1.14 ล้านล้านบาท ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

แม้ว่า พ.ร.ก.โอนภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ1.14 ล้านล้านบาท ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เก็บค่าต๋งจากธนาคารพาณิชย์มาใช้หนี้ไม่เกิน 1% ของเงินฝาก จะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องฟ้องจากฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภา ตีความ พ.ร.ก.โอนหนี้เป็นการออกกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน

ส่งผลให้รัฐบาลกลายเป็นยักษ์มีกระบองแต่ไม่มีอำนาจไปชั่วขณะ เพราะหลายฝ่ายมองว่า เมื่อศาลรับพิจารณาก็ควรหยุดการดำเนินการตาม พ.ร.ก. รอให้มีความชัดเจนเป็นที่สิ้นสุดเสียก่อน

แม้แต่ ธปท.และธนาคารพาณิชย์ก็แอบรับลูกแนวคิดดังกล่าวอยู่เงียบๆ เพื่อลุ้นว่า พ.ร.ก.โอนหนี้จะอยู่หรือไป โดยอ้างว่ายังมีเวลาพิจารณาอีกนาน

ภาวะดังกล่าวทำให้รัฐบาลเหมือนถูกผลักตกน้ำลอยคออยู่กลางทะเล เพราะถูกจี้ถามเช้าเย็น หาก พ.ร.ก.ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกเป็นโมฆะ เพราะขัดกับมาตรา 184 วรรคหนึ่งและวรรคสอง รัฐบาลจะรับผิดชอบต้องลาออกหรือไม่ ตามธรรมเนียมที่มีการปฏิบัติกันมา

รัฐติดบ่วงพรก.โอนหนี้

ส่งผลทำให้ พ.ร.ก.ที่รัฐบาลต้องการออกมาสร้างความเชื่อมั่น กลายเป็นบูเมอแรงใส่รัฐบาลเขย่าความเชื่อมั่นเสียมากกว่า

แรงกดดันดังกล่าว ทำให้รัฐบาลกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เหมือนถูกกดให้จมน้ำหายใจไม่ออก จนต้องฝ่าวงล้อมออกมายืนยันถึง พ.ร.ก.ไม่ผ่านก็ไม่ออก เพราะจะแก้ลำเสนอกฎหมายใหม่ออกเป็น พ.ร.บ. 3 วาระรวด

ถือเป็นการส่งซิกยืนยันว่า การโอนหนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลคิดถูกทำถูก ต้องเดินหน้าทำตามที่พยายามชี้แจงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ไม่ทำไม่ได้ การกู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำหลายแสนล้านบาทจะติดขัด เพราะมีหนี้กองทุนฟื้นฯ เป็นก้างขวางคออยู่

นอกจากนี้ รัฐบาลยังตีตื้นด้วยการเรียก ธปท.และธนาคารพาณิชย์มาเคาะการเก็บค่าต๋งในอัตรา 0.47% ของฐานเงินฝากและตั๋วบี/อีเสร็จเรียบร้อยเหมือนติดจรวด

พร้อมยังแก้ปมที่ธนาคารพาณิชย์ติดใจว่าธนาคารรัฐได้เปรียบ โดยเก็บค่าต๋งจากธนาคารรัฐในอัตราเดียวกัน

แต่เงินส่วนนี้ไม่ได้ไปช่วยใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ อย่างที่ธนาคารพาณิชย์ต้องการ

โดยเงินที่เก็บจากธนาคารรัฐ รัฐบาลจะไปตั้งกองทุนพัฒนาประเทศ ถือเป็นการเต้นออกจากมุมอับ ยิงนกทีเดียวได้สองตัว เพราะนอกจากแก้ความไม่เท่าเทียมแล้ว รัฐบาลยังมีเงินมาตั้งกองทุนจับจ่ายใช้ โดยไม่ต้องเสียเวลาไปผ่านงบประมาณประจำปีอีกปีละหลายหมื่นล้านบาท

อีกด้านหนึ่งรัฐบาลยังรื้อการคุ้มครองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เมื่อในวันที่ 1 ม.ค. 2555 จะเหลือการคุ้มครอง 1 ล้านบาท ให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อแก้ปมความไม่เท่าเทียมที่ธนาคารพาณิชย์อ้างว่าธนาคารรัฐได้เปรียบไม่ต้องเสียค่าต๋ง และยังได้รับการคุ้มครองเงินฝากเต็มร้อยอีกต่างหาก

การเดินหน้าเกียร์ห้าของรัฐบาล เคาะรายละเอียดการดำเนินการโอนภาระหนี้กองทุนฟื้นฯ ลบเหลี่ยมมุมทุกด้านที่มีปัญหา นอกจากสร้างความชัดเจนให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว

แต่เป้าหมายสำคัญจริงๆ รัฐบาลต้องการนำความชัดเจนที่ขนมาเต็มสูบเป็นข้อมูลหักล้าง ข้อกล่าวหาที่ผ่ายค้านและ สว.ยื่นฟ้องศาลรัฐนูญให้ตีความว่าการออก พ.ร.ก.โอนหนี้เป็นโมฆะ

ตามคิวรัฐบาลจะต้องไปชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 15 ก.พ.นี้ ซึ่งถือว่าเป็นงานหิน ข้อมูล เหตุผล ขั้นตอนแนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ต้องชัดเจนเกินร้อย มากที่สุดเท่าที่ขนมาได้ เพื่อแก้ต่างให้หลุดพ้นไม่ให้ พ.ร.ก.ถูกตีความกลายเป็นโมฆะ

ปมใหญ่ที่ฝ่านค้านยื่นให้ตีความ นอกจากพุ่งเป้าไปที่การออก พ.ร.ก.ไม่มีความเร่งด่วน เพราะภาระสัดส่วนการชำระหนี้ยังไม่เกินกรอบความยั่งยืนการคลังที่กำหนดไว้ 15% เพราะปัจจุบันปีงบประมาณ 2555 อยู่ที่ 9.33% และยังสามารถกู้เงินได้อีก 2 ล้านล้านบาท กรอบเพดานถึงจะชน 60% ของจีดีพี

กรณ์ จาติกวณิช สส.พรรคฝ่ายค้านยังพยายามจี้ปมเรื่องการออก พ.ร.ก.จะทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ไม่ได้สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลชี้แจงในการออก พ.ร.ก. เพราะไม่มีความไม่ชัดเจนการใช้เงินดอกเบี้ยและเงินต้น หาก ธปท.หารายได้มาใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่เพียงพอ จะต้องแก้ไขอย่างไร ใครจะมารับผิดชอบ

ข้อทักท้วงของกรณ์นั้นรัฐบาลต้องตอบให้ชัด

หนึ่ง ถ้ากู้เงิน แล้วน้ำจะไม่ท่วม...จริงหรือ

สอง การที่รัฐบาลพยายามสร้างกระแสว่าถ้าไม่มี พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท รัฐบาลจะทำงานไม่ได้ น้ำท่วมก็จะเป็นความผิดของฝ่ายค้านและศาลรัฐธรรมนูญจริง ใช่เป็นการปลุกกระแสที่ขาดความรับผิดชอบหรือไม่

ประการต่อมาการเสนอ พ.ร.ก.กู้เงินก้อนมหึมา 3.5 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลมีแผนการลงทุนที่ชัดเจน แผนการเบิกจ่าย ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามนิยามรัฐธรรมนูญในการออกกฎหมายในรูป พ.ร.ก.หรือไม่

ใช่หรือไม่ว่า รัฐบาลสามารถกู้เงินได้ตามใจชอบโดยไม่สนวินัยทางการคลัง

นี่คือโจทย์ที่รัฐบาลต้องตอบ และต้องหาเหตุผลมาฝ่าด่านออกไป

นอกจากนี้ การเก็บเงินค่าต๋งจากธนาคารพาณิชย์ ยังส่งผลทำให้ธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนเพิ่ม ทำให้ลูกค้าของธนาคารได้รับผลกระทบ เพราะธนาคารผลักภาระมาให้ลูกค้าเงินฝากได้ดอกเบี้ยน้อย ขณะที่ลูกค่าเงินกู้ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่ม

ที่สำคัญ ธนาคารพาณิชย์ไม่รู้ว่าต้องถูกเรียกเก็บค่าต๋งในอัตราเท่า เป็นเวลานานกี่ปี

ขณะที่การไปลดเงินนำส่งของธนาคารพาณิชย์ให้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ยังเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ทำให้ผู้ฝากเงินถึง 60ล้านบัญชี ไม่มีหลักประกันความเสี่ยงที่มากพอ ในกรณีที่สถาบันการเงินมีปัญหา

ยังไม่รวมถึงประเด็นการออก พ.ร.ก.ที่เป็นการแทรกการทำงานของ ธปท. การสร้างวัฒนธรรมการแก้ไขหนี้ที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากมีรัฐบาลอื่นเข้ามาบริหารประเทศ ก็อาจจะมีการโอนหนี้ประเทศไปให้ ธปท.ใช้อีก

เงื่อนปมต่างๆ ที่ฝ่ายค้านยื่นฟ้องศาล ทำให้รัฐบาลต้องออกแรงฝ่าวงล้อมค่ายกลออกมาให้ได้

ถึงวันนี้ รัฐบาลรู้ดีว่า การอ้างว่ารัฐบาลมีอำนาจออก พ.ร.ก.อย่างเดียวไม่เพียงพอโดยเฉพาะกับการออก พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้ฟูฯ เพราะมีหลายประเด็นที่รัฐบาลยังต้องชี้แจงให้เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่านี้

เช่น มีกลไกอะไรที่เป็นรูปธรรมให้เชื่อมั่นหรือตรวจสอบได้ว่า ธนาคารพาณิชย์จะไม่ผลักภาระลูกค้า เพราะลำพังถูกวันนี้กลไกดอกเบี้ยก็แถบไม่ทำงานอยู่แล้ว

ดังจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา ธปท.ลดดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ไม่ลดดอกเบี้ยเงินกู้

และต่อไปในอนาคตธนาคารพาณิชย์ถูกเก็บค่าต๋งมีภาระเพิ่มขึ้น รัฐบาลจะมีอะไรมาเป็นหลักประกันให้เห็นว่า ธนาคารพาณิชย์จะไม่ผลักภาระเพิ่มให้ลูกค้า

หรือจะเป็นประเด็นว่า ต้องเก็บค่าต๋งธนาคารพาณิชย์กี่ปี รัฐบาลก็ยังตอบไม่ได้ หรือว่าจะเก็บอัตราเท่าไร ถึงแม้ว่านี้จะมีการเคาะอัตราออกมาแล้ว แต่ก็เป็นอัตราเบื้องต้นใช้ระยะแรก 3 ปี หลังจากนั้นจะมีการทบทวนใหม่ ซึ่งแนวโน้มต้องมีภาระเพิ่มขึ้น

ปัญหาบางส่วนของการออก พ.ร.ก.โอนหนี้ ยังเป็นบ่วงที่รัฐบาลต้องแก้ทั้งขึ้นทั้งล่องอีกหลายตลบ

หากชี้แจ้งไม่เข้าตาศาล แก้ปมฝ่ายค้านไม่หลุด พ.ร.ก.ถูกตีตก รัฐบาลก็สิ้นมนต์ขลังในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แม้จะอ้างมุดดินดำน้ำว่าทำใหม่ออกเป็น พ.ร.บ.ได้ก็ตาม

หรือหาก พ.ร.ก.ผ่านมีผลบังคับใช้ ก็ยังมีปัญหาแก้ไม่ตกอีกมาก แม้ว่ารัฐบาลพยายามจัดระบบให้เห็นว่ามีการดำเนินการอย่างเป็นระบบเดินหน้าไปได้มาก

แต่หลังฉากรัฐบาลยังซุกปัญหาไว้ใต้พรมอีกมาก ซึ่งจะเป็นระเบิดเวลากระตุกเศรษฐกิจให้รัฐบาลปวดหัวแก้ไม่ตก