posttoday

ครม.ปูสัญจรเช็กเรตติ้งทักษิณ

13 มกราคม 2555

เปิดศักราชปี 2555 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เปิดศักราชปี 2555 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

เปิดศักราชปี 2555 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดูท่าเอาจริงเอาจังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับแผนปูพรมจัดให้มีประชุม ครม.นอกสถานที่ หรือ “ครม.สัญจร” ถึงขั้นกางปฏิทิน มอบหมายผู้รับผิดชอบไปวางแพลนสร้างภาพใหญ่ทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน

เริ่มจากวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ 14-15 ม.ค. เหินฟ้าพา ครม.ปิ๊กบ้านเกิดนายกฯ จ.เชียงใหม่ ถัดจากนั้นระหว่างวันที่ 20-21 ก.พ. มอบหมาย “อินทรีอีสาน” พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม รับเป็นเจ้าภาพจัดที่ จ.ขอนแก่น หลังแอ่วเหนือเบิ่งอีสาน ถึงคราวล่องทะเลใต้ ระหว่างวันที่ 19-20 มี.ค. โดยมอบหมายให้ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะรัฐมนตรีคนใต้จัดหาจังหวัดใหญ่ๆ ไว้รองรับ ซึ่งเจ้าตัวเลือกในใจขณะนี้อยู่ระหว่าง จ.นครศรีธรรมราช หรือสุราษฎร์ธานี ก่อนตบท้ายเดือน เม.ย. หลังงานรื่นเริงมหาสงกรานต์ ขึ้นมาปักหลักประชุม ครม.สัญจรภาคกลาง ระหว่างวันที่ 2324 เม.ย. มอบหมาย เผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน หาสถานที่ ถ้าเป็นไปตามการให้เกียรติหนีไม่พ้น จ.นครปฐม ในฐานะเจ้าของพื้นที่

การวางแผนล่วงหน้า ล็อกตัวผู้รับผิดชอบ เลือกเฟ้นจังหวัดให้ลงตัว จึงไม่ใช่แค่รายการจ่ายตลาดแล้วจากไป แต่นี่จะเป็นการทุ่มทุนจัดมหกรรมบริหารประเทศโดยหวังผลกำไรสูง

ทั้งนี้ แนวคิดจัดประชุม ครม.สัญจร มิใช่เพิ่งกำเนิดในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่โด่งดังเปรี้ยงปร้างมาตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้ามาบริหารประเทศในปี 2548 โดยกำหนดให้ประชุม ครม.นอกสถานที่ 12 เดือนต่อครั้ง ส่วนจังหวัดใดถูกหวยรับเป็นเจ้าภาพจะมีการยกเหตุผลผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สศช. เป็นจังหวัดนำร่องในการพัฒนาภูมิภาคบ้าง หรือไม่ก็เป็นจังหวัดแถวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์ภาคบ้าง กลบข้ออ้างคัดเลือกจังหวัดตามความต้องการนายทุน หัวคะแนนพรรคที่ต้องการของบพัฒนาพื้นที่ไปโดยพลัน

ครม.ปูสัญจรเช็กเรตติ้งทักษิณ

และของฝากจาก ครม.สัญจรทุกครั้ง นอกจากมติ ครม.ที่เกี่ยวกับโครงการลงทุนในจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแล้ว ผลพลอยได้ปรากฏตามหน้าสื่อจะเน้นหนักไปทางภาพกิจกรรมผู้นำประเทศ ตั้งแต่ภาพพี่น้องประชาชนยกขบวนต้อนรับพรึ่บ สวมกอดคล้องพวงมาลัยท่วมหัวผูกผ้าขาวม้าล้นเอว หรือไม่ก็เกิดรูปแบบฮือฮา ไม่ว่าจะเป็นการออกมติ ครม.ในโบกี้รถไฟ ล่องเรือรบหลวงเพื่อสัญจรเกาะช้าง ถกหารือกันบนเครื่องบิน หรือแม้แต่ถ่ายทอดสดนั่งประชุมชาวบ้านในลักษณะเรียลิตีโชว์ดังที่เคยติดหูติดตาอย่าง “อาจสามารถโมเดล” ทำให้เห็นภาพผู้นำโชว์ไอเดียแก้จน

การบริหารประเทศด้วยรูปแบบ ครม.สัญจรจึงถือว่าได้ผล ได้ผลสามด้าน ด้านแรก คณะผู้บริหารเข้าถึงประชาชน ด้านที่สอง ได้ภาพชุดสวยงามผ่านสื่อสารมวลชน และเมื่อนำทั้งสองด้านมารวมกันย่อมขยายฐานคะแนนนิยมภูมิภาคให้แข็งปึ้ก

รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ประสบความสำเร็จด้วยการดึงดูดประชาชนให้เข้ามาเสพติดจากนโยบายประชานิยม และเมื่อลงไปปฏิบัติจะด้วยการแสดงภาวะผู้นำสั่งการบรรดาข้าราชการในพื้นที่ การนั่งคลุกฝุ่นปั้นข้าวเหนียวเปิบปลาร้ากับประชาชน สร้างความใกล้ชิดมีผลให้เกิดอาการคลั่งไคล้หลงใหลตามมา ถึงแม้เวลานี้จะไม่ได้เป็นผู้นำประเทศ แต่ทุกลมหายใจของพี่น้องในต่างจังหวัด โดยเฉพาะเหนืออีสานก็ยังหายใจเข้าออกเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ

จึงไม่แปลกที่ต้นตำรับ ครม.สัญจรจะถูกปัดฝุ่นผ่านสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ไม่ว่าจะเป็น นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกฯ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่ปัจจุบันจัดแจงทำหน้าที่พิธีกรสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ผ่านช่อง 11 สื่อสารแนวคิด ครม.สัญจรไปถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์

บวกกับประเมินแล้ว นับตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกโค่นล้ม การปลุกระดมประชาชนให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย บ้านเมืองไม่สงบ การบริหารงานรัฐบาลแต่ละชุดไม่คล่องตัว ทำให้การเข้าไปสัมผัสประชาชนเป็นไปด้วยความลำบาก ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาจนถึงรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งแทบไม่มีความเคลื่อนไหวในลักษณะนำ ครม.ลงพื้นที่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพราะเกรงกระแสต่อต้านรุนแรงนั่นเอง

เมื่ออยู่ในภาวะกล้าๆ กลัวๆ ผลที่ตามมารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่สามารถกุมหัวใจคนเหนือและอีสานได้อย่างเบ็ดเสร็จสักที

คำกล่าวของ วิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข และแกนนำพรรคเพื่อไทย สายภาคกลาง ต่อที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 10 ม.ค. “ขอให้ยึดโมเดล ครม.สัญจร ด้วยการกระจายตามภูมิภาคเช่นนี้ไว้ตลอดไป เพราะสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ จะลงไปพบประชาชนต่างจังหวัดก็ยังทำไม่ได้ แต่รัฐบาลนี้ทำได้” เป็นการตอกย้ำให้ยิ่งลักษณ์รับรู้เช่นกันว่า ครม.สัญจรเป็นรูปแบบที่มาถูกทางในช่วงเวลาต้องเดินเกมรุกชิงมวลชน

อย่าลืมว่า ช่วงปลายปี 2554 มหาอุทกภัยถล่มเมือง การบริหารจัดการภาครัฐต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วม ถูกน้ำซัดหายไปจากความมั่นใจประชาชน นายกฯ ยิ่งลักษณ์ อยู่ในสภาพ “เอาไม่อยู่” นอกจากพี่น้องจังหวัดภาคเหนือ ภาคกลาง ลอยคอเป็นเวลานาน ยังตามมาด้วยน้ำป่าถล่มภาคใต้รับปีใหม่เข้าอีก โดยนายกฯ ไม่ได้ตัดสินใจลงแก้ปัญหาทันท่วงที ฝ่ายค้านรุมอัดกลางสภาแก้ไขปัญหาไม่ทั่วถึงตอดเก็บกินคะแนนนิยม

ตามมาด้วยสารพัดม็อบยาตรามาถล่ม ที่สำคัญล้วนเป็นฐานเสียงพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น ม็อบแท็กซี่ ม็อบขนส่ง คัดค้านการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี หรือแม้แต่ม็อบยางพาราราคาตก ผสมโรงด้วยอาการหงุดหงิดสถาบันการเงินหลัง ครม.ผ่านความเห็นชอบ พ.ร.ก.การกู้เงินก็ดูจะไม่เป็นผลดี

อีกปัญหาใหญ่ของรัฐบาล คือ การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่แม้แรงต้านวันนี้จะยังไม่มีเสียงดังนัก แต่ก็เหมือนกำลังบ่มเพาะตัวไปพร้อมกับสารพัดปัญหาการเรียกร้องปากท้องที่มารวมศูนย์อยู่ใจกลางเมืองใหญ่

ยิ่งลักษณ์ไม่ใช่ทักษิณ แต่เมื่อได้รับการโคลนนิงจึงต้องทำให้ได้เหมือนทักษิณ ทั้งรูปแบบและวิธีการ การสานต่อ ครม.สัญจรทั้งรูปแบบและวิธีการ จึงมีความเชื่อว่าได้ผลต่อการเสริมภาพแกร่งให้รัฐบาลกลบภาพความอึมครึมปั่นป่วนที่เห็นเด่นชัดและใกล้ก่อตัว

ยิ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจับยัดเข้าสภาในไม่ช้า จัดเป็นโปรเจกต์สำคัญ มีความหมายต่อการเปิดทางเอื้อประโยชน์ให้อดีตนักการเมืองรวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ กลับคืนสู่อำนาจ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องอาศัยพลังมหาชน ด้วยการวัดใจลงประชามติ เมื่อเป็นเช่นนี้การเดินแผนปูพรม ครม.สัญจรก็เหมือนเป็นการเช็กเรตติ้งความมั่นใจแต่เนิ่นๆ

ช้าไม่ได้การณ์ ต้องเร่งตอกเสาเข็มในหัวใจประชาชนต่างจังหวัด หวังสร้างแต้มต่อให้รัฐบาลที่กำลังเสียรังวัดจากการตัดสินใจแก้ปัญหาปากท้อง และเสริมเกราะป้องกันสถานการณ์การเมืองที่จะเกิดขึ้นอีกระลอก