posttoday

ปั่นกระแส"นายกสำรอง"แค่เกมสร้างแรงกดดันให้"ประยุทธ์"บอบช้ำ

09 พฤษภาคม 2565

โดย...มงคล บางประภา, เอกราช สัตตบุรุษ 

*************************

ยังไม่ทันเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร 22 พฤษภาคม สถานการณ์การเมืองบ้านเราก็ร้อนฉ่า ด้วยกระแสการขย่มเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ซึ่งแน่นอนภายหลังการเปิดประชุมสภา ก็จะมีการพิจารณงบประมาณ 2566 จากนั้น พรรคฝ่ายค้านอาจยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทันที ล็อกเป้าเชือด พล.อ.ประยุทธ์ให้จนมุมคาเวทีสภา เพราะเมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญ นายกฯจะยุบสภาไม่ได้

ทั้งนี้ บนสมมุติฐานของฝ่ายค้านว่า เกมโค่นนายกฯ ภาค 2 ในเวทีซักฟอก อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง แถมตอนนี้มีกระแสข่าวเรื่องการต่อรองให้โหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโหวต พิจารณางบประมาณ 2566 ต่อด้วยการโหวตไม่โหวตนายกในเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคการเมืองก็จะมีการต่อรองกันสูง ซึ่งช่วงนี้ก็มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวของนักการเมืองบางกลุ่ม เช่น นักการเมืองกลุ่ม 16 ของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเล็ก ดอดไปกินข้าวกับพรรคเพื่อไทย กระแสเรื่องนายกสำรอง การที่พรรคเศรษฐกิจไทยชู พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุววรณ เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงการที่ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ออกมาเขียนบนเฟซบุ๊กตัวเองเรื่องการถูกซื้อตัวของส.ส.บางคนราคาประมาณ 5-30 ล้านบาท ไม่ให้สนับสนุนนายกรัฐมนตรีในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แน่นอนเมื่อเปิดสมัยประชุมปั๊บมีเรื่องต้องโหวต รัฐบาลก็มีสิทธิล่วงได้ตลอดเวลา เพราะเป็นกฎหมายสำคัญ เพราะปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลหลับกลางอากาศมีพร้อม คือปัจจัยที่ ส.ส.ออกจากพรรคพลังประชารัฐ 21 คน (ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) และที่ยังเหลือข้างในพรรคพลังประชารัฐอีก เหมือนกระสุนอยู่ในรังเพลิงแล้ว ขึ้นอยู่จะกดไกปืนหรือไม่ หรือเรียกง่ายว่ากบฎ

ทั้งนี้ ได้คุยกับนักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์และผู้ที่ติดตามการเมืองอย่างคร่ำหวอด ถึงความเป็นไปได้ในการต่อรอง และโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุการเมืองกับตัวพล.อ.ประยุทธ จนต้องหล่นจากเก้าอี้ และให้พล.อ.ประวิทย์เป็นนายกฯ ก่อนจะครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 หรือไม่

นักวิชาการมองเกมการเมือง ทั้งปล่อยข่าวนายกฯ สำรอง ซื้อตัว ส.ส. เป็นการต่อรองผลประโยชน์ภายในพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่าจะเกิดผลได้จริง เชื่อฝ่ายค้านยังไม่อาจล้มรัฐบาลจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ แต่หวังตีกระทบนายกฯ ให้น่วมเพื่อผลการเลือกตั้งครั้งหน้า 

นายวันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ตนมองปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ น่าจะยังทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงได้ยาก เป็นเพียงทำให้นายกรัฐมนตรีเกิดการบอกช้ำทางการเมืองให้มากที่สุด เพราะหลายคนมีความกังวลว่าหากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป อาจทำให้กลุ่มการเมืองต่างๆ เติบโตได้ลำบาก แม้แต่พรรคที่อยู่ใกล้ชิดกับ 3 ป. หรือกลุ่มที่อยู่กับพรรคพลังประชารัฐก็ไม่มีอำนาจต่อรอง ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงใช้สถานการณ์ยืนมือจากการวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายค้าน รวมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมา 'นวด' นายกรัฐมนตรี

"คนที่ออกตัวแรงที่สุดคือร้อยเอกธรรมนัส พงษ์เผ่า ออกมาเปิดตัวอย่างไม่ปิดบังความรู้สึกว่าพร้อมจะสนับสนุนพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยไม่กล่าวถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเลย เพราะการโยนชื่อพลเอกประวิตรออกมามันทำให้กลุ่มร้อยเอกธรรมนัสและกลุ่มการเมืองอื่นๆ มีอำนาจในการต่อรอง ได้มากกว่าที่มีชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นผู้นำทางการเมือง ดังนั้นถ้าสังคมเออออไปด้วยฝ่ายการเมืองเล่นด้วย องคาพยพที่หวั่นไหวที่สุดคือคนรอบตัวที่ได้ประโยชน์จากพลเอกประยุทธ์มาตลอดเกือบ 8 ปี" นายวันวิชิตกล่าว

นายวันวิชิต กล่าวว่าในอีกมุมหนึ่งแม้ว่า 3 ป. จะเหนียวแน่นอย่างไร เรื่องนี้พลเอกประวิตรจะมีแต่ได้ไม่มีอะไรเสีย เท่ากับสะท้อนว่าตัวเองเป็นโซ่ข้อกลางที่เชื่อมกับกลุ่มผลประโยชน์ได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นภาพและเครดิตที่พลเอกประยุทธ์ไม่มี

นายวันวิชิต กล่าวว่าเรื่องการซื้อตัว ส.ส. 5 ถึง 35 ล้านบาทนั้น คิดว่า 10 กว่าเดือนสุดท้ายของรัฐบาลจะมาทุ่มทรัพยากรอะไรขนาดนั้นคงไม่ใช่ ฝ่ายค้านคงไม่เล่นเกมได้ไม่คุ้มเสียแบบนี้ รอให้มันมีตัวเลขคณิตศาสตร์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งที่มีอำนาจสูงกว่าน่าจะเป็นตอนนั้นมากกว่า ดังนั้นจึงคิดว่าเรื่องนี้น่าจะถูกปล่อยออกมาจากฝ่ายเดียวกันคือฝ่ายรัฐบาล เพื่อนำไปสู่ความต้องการอยากจะปรับ ครม. หวังจะได้เข้ามามีส่วนเกาะเกี่ยวกับกลไกในการปรับโยกย้ายข้าราชการในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งจะให้ผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปมากกว่า โดยเฉพาะการโยกย้ายแต่งตั้งผู้ว่าราชการ 31 จังหวัด ที่ครบเกษียณอายุราชการ รวมทั้ง ผบ.ตร. ผบ.เหล่าทัพ เห็นได้จากการมีข่าวปล่อยว่าจะเปลี่ยนตัว ผบ.ทบ. มาประมาณ 2 สัปดาห์แล้ว กลุ่มที่มีเซ้ต์ทางการเมืองก็จะเกาะเกี่ยวประโยชน์ตรงนี้ ถ้าตัวเองมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงได้ก็จะได้ประโยชน์ นำไปสู่แต้มต่อความได้เปรียบหรือการคุมกลไกการเลือกตั้ง โดยมองว่าพลเอกประวิตรจะสามารถคุมกลไกการเลือกตั้งได้ชัดเจนกว่าพลเอกประยุทธ์ ขณะที่พลังประชารัฐ และ ฝ่ายสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เองก็รู้ว่าแม้จะมี ส.ว. 250 คนเป็นก้างขวางคอทำให้จำใจต้องสนับสนุนแต่ก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปขายทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

"ทีมที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เองก็ไม่ไว้วางใจว่า จะมีการปรับ ครม. ตามที่มีการตกลงไว้ แม้จะมีการพูดว่ารอให้ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อน จึงเกิดปรากฏการณ์ยกเรื่องนายกฯ สำรอง นายกฯ รักษาการขึ้นมาพูด" นายวันวิชิตกล่าว

นักรัฐศาสตร์ กล่าวอีกว่า ในขณะที่ฝ่ายค้านเขาก็มองว่าการเอามาแฉกันเองของกลุ่ม 16 ทำให้เขาได้ข้อมูลเอาไปใช้ในศึกซักฟอกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ฝ่ายค้านเองก็มองออกว่าเขาไม่ได้ประโยชน์อะไรกับการเข้าไปร่วมเออออกับการเล่นเกมการเมืองภายในของรัฐบาล จึงเห็นความระมัดระวังของฝ่ายค้าน ไม่ได้ออกมาขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ เพราะไม่ต้องการให้ส่งผลต่อการเลือกตั้ง กทม. ห่วงว่าจะเกิดคะแนนสงสารนายกฯ เป็นแรงเหวี่ยงกลับมา

ต่อข้อถามว่า สถานการณ์แบบนี้คิดว่าโอกาสที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะล่มเพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจมีแค่ไหนนั้น นายวันวิชิต กล่าวว่า คิดว่ารัฐบาลไม่ได้กังวลตรงนั้นแล้ว อยู่ที่ตัวพล.อ.ประยุทธ์จะมีความเป็นห่วงลำดับของการได้คะแนนไว้วางไว้วางใจมากกว่า และคนที่จะเสียหายหรือเสียหน้า กลับเป็นตัว พล.อ.ประวิตร ถ้าไม่สามารถล้อบบี้ประสานงานให้คะแนนของ พล.อ.ประยุทธ์มาอันดับ 1 อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ของสาม ป.จบไปโดยปริยาย

"เชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสำคัญ กฎหมายงบประมาณ แม้กระทั่งประเด็นนายกฯ อยู่ครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์น่าจะผ่านพ้นโดยไม่มีอุปสรรค เพราะมีการโยนหินถามทางด้วยการให้ ประธานศาลรัฐธรรมนูญสามารถต่ออายุไปได้อีก 5 ปีแล้ว ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเชื่อมโยงกับประเด็นการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของพลเอกประยุทธ์ก็เป็นได้" นายวันวิชิตกล่าว

"ดังนั้นคำว่า 'นายกสำรอง' นั้นไม่ได้มีความจำเป็นอะไรเลย เป็นแค่การสร้างแรงกดดันทางการเมือง ให้คนแวดล้อมของคนทั้งสอง ป. (ประยุทธ์ ประวิตร) เกิดความระแวงกันเองมากกว่า ขณะที่พลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตรน่าจะคุยกันแล้วว่าไม่มีอะไร และเรื่องนี้ยังกลายเป็นสถานการณ์ไปกลบเรื่องอื้อฉาวอื่นๆ อย่างประเด็นค่าครองชีพปัญหาเศรษฐกิจกลับถูกฝ่ายการเมืองพูดถึงน้อยลง" นายวันวิชิตกล่าว

ต่อข้อถามว่าหากประเมินวันนี้ว่าโอกาสที่รัฐบาลนี้อยู่ครบเทอมมีแค่ไหนนั้น นายวันวิชิตกล่าวว่า เชื่อว่าโอกาสที่จะอยู่ครบเทอมยังเต็มร้อยอยู่ เพราะคงจะยากที่จะมีการทุ่มเทตัดแขนตัดขาเพื่อล้มรัฐบาลด้วยเวลาที่เหลืออยู่เพียงเท่านี้

นายกสำรองเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้

ด้านนายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า กระแสการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นเพราะกำลังจะเข้าสู่การเปิดสมัยประชุมหน้า จึงเห็นชื่อของนายกสำรองการเคลื่อนไหวของพรรคจิ๋ว ถามว่ากระบวนการเหล่านี้ท้ายสุดจะเป็นผลได้จริงหรือไม่ซึ่งบอกได้ว่าไม่ง่ายเลย

"ในกรณีเกิดนายกฯ สำรองมันต้องใช้เงื่อนไขเยอะ ประการแรกต้องใช้เสียงของ ส.ส. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสภาที่จะเปิดญัตติให้มีนายกฯ คนนอกบัญชี นั่นแปลว่า ส.ส. รัฐบาลเกือบทั้งหมดทุกพรรค ต้องไม่เอาลุงตู่แล้ว ซึ่งมันคงเป็นเรื่องที่ยาก เงื่อนไขที่ 2 จะต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของทั้งสภาผู้แทนและวุฒิสภา หรือ 500 เสียงจาก 750 เสียง หากปลดล็อคสำเร็จยังต้องมาสู่ขั้นตอนที่ 3 คือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ซึ่งก็ต้องใช้เสียงค่อนข้างมากเหมือนกัน จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยที่จะทำให้เกิดนายกฯ นอกบัญชีได้"

นายยุทธพรกล่าวว่ากรณีที่มีการปล่อยข่าวของพรรคจิ๋วนั้นต้องบอกว่านี่คือโค้งสุดท้ายของพรรคจิ๋วแล้ว เพราะการเลือกตั้งที่เปลี่ยนกติกาใหม่โอกาสที่พรรคจิ๋วจะได้กลับมาก็คงยาก ซึ่งก็คงจะมี 'การแจกกล้วย' (สำนวนทางการเมืองว่ามีการจ่ายเงินให้ ส.ส. สนับสนุนรัฐบาลเป็นรายคน ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน) อย่างที่คุ้นเคยกัน

"ตอนนี้ทุกคนจับตาไปที่พรรคเศรษฐกิจไทยซึ่งเป็นพรรคตั้งใหม่แต่ก็ย้ายมาจากพรรคพลังประชารัฐ เลขาธิการพรรคคือร้อยเอกธรรมนัสก็เคยมีบทบาทในการเดินเกมล้มนายกฯ เมื่อปลายปีที่แล้วมาครั้งหนึ่งจึงถูกจับตาว่าจะมีการเดินเกมเพื่อล้มนายกฯ อีกหรือไม่ เผอิญว่าชื่อนายกฯ นอกบัญชีคือพลเอกประวิตร ซึ่งมาจากที่ประชุมของพรรคเศรษฐกิจไทยด้วย จึงทำให้กระแสเหล่านี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมา แต่ผมคิดว่ามันคงไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้นได้จริง" นายยุทธพรกล่าว

นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ผู้นี้กล่าวว่าในมุมของฝ่ายค้านเขาก็มีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าไม่รับรองความชอบธรรมให้กับพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลชุดนี้ ตาม 6 ประเด็นที่ฝ่ายค้านยกร่างไว้สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งที่หลายเรื่องก็ไม่ใช่ประเด็นใหม่แต่เคยพูดถึงกันมาแล้ว ขณะที่ฝ่ายค้านเองก็ ต้องการรอให้กฎหมายงบประมาณผ่านก่อนเนื่องจากกฎหมายงบประมาณมันไม่ได้ได้ประโยชน์เฉพาะฝ่ายรัฐบาลฝ่ายค้านก็ได้ประโยชน์ในการผ่านงบประมาณลงในพื้นที่ของตนเองด้วย

"ฝ่ายค้านอาจจะรอจนกระทั่งผ่านเรื่องประเด็นนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้วถึงจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ได้ เพราะการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจก่อน อาจจะมีผลทำให้นายกฯ ไม่สามารถยุบสภาได้ แต่ถ้ารอจนมีคำวินิจฉัย นายกฯ 8 ปีออกมาแม้คำวินิจฉัยจะเป็นคุณแต่ก็จะได้แรงกดดันทางสังคมมาเสริมในสภาด้วย

ต่อข้อถามว่าประเมินสถานการณ์แล้วรัฐบาลชุดนี้จะอยู่ครบเทอมหรือไม่นั้น นายยุทธพรกล่าวว่า ส่วนตัวกลับเชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ปล่อยให้ครบเทอม โดยใช้เงื่อนไขความแตกต่างของการยุบสภาที่ส่งผลทางการเมืองให้เกิดประโยชน์กับตรเอง เช่นความแตกต่างกันของระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง และเงื่อนไขเวลาของการย้ายพรรคเปลี่ยนขั้ว ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการยุบสภาก่อนครบเทอมเพียง 1 วันก็เป็นไปได้ หรือยุบเมื่อไหร่ก็ได้ก่อนวันที่ 23 มีนาคม 2566

"เชื่อว่าพอผ่านการประชุมเอเปคไป การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดขึ้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงเทคนิคเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่า" นายยุทธพรกล่าว

ช่วงที่ผ่านมาเกิดกระข่าวการเปลี่ยนตัว “นายกรัฐมนตรี” หนาหู โดยกลุ่มพรรคเล็กปัดเศษ ที่เรียกกลุ่มตัวเองว่า “กลุ่ม 16” ที่มีออกมาข่มขวัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่าจะไม่ยกมือโหวตให้ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากเคลียร์ข้อทุจริตที่ค้างคาใจไม่ได้ พุ่งเป้าไปที่โครงการท่อส่งน้ำในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์นั่งเก้าอี้ประธานคณะบอร์ดอีอีซี เห็นชอบให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้ชนะการประมูล เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุด 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี ว่ามีเรื่องที่มี “เงื่อนงำทุจริต”

ส่วนอีกด้านคือพรรคเศรษฐกิจไทย ที่มี พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ลูกน้องคนสนิทของ พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรค แพ็กคู่กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เป็นเลขาธิการพรรค มี ส.ส.ในมือ 16 คน ที่สามารถโหวตในสภา ก็ออกมาสนับสนุนพล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ หากเกิดอุบัติเหตทางการเมือง

ทั้งนี้ ส.ส.กลุ่ม 16 ที่รวมบรรดา ส.ส.พรรคเล็ก เมื่อดูรายชื่ออาจมี ส.ส.ไม่ครบ 16 คน ตามอ้าง ประกอบด้วย นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติไทย นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย นายสุภดิช อากาศฤกษ์ นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ นายภาสกร เงินเจริญกุล นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี นายนพดล แก้วสุพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท นายสมัคร ป้องวงษ์ ส.ส.สมุทรสาคร พรรคชาติพัฒนา นายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน นางบุญญาพร นาตะธนภัทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังชาติไทย

นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการรับประทานอาหารร่วมกับ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ว่า เป็นการนัดทานข้าวปกติ เพื่อขอคำยืนยันต่อการเกาะติดการหาผู้ดำเนินการในโครงบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่า 2หมื่นล้านบาท ของพรรคฝ่ายค้าน เบื้องต้นได้รับคำยืนยันว่าจะนำเรื่องดังกล่าวยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะแม้รัฐบาลจะชะลอการลงนามในสัญญาจ้างกับบริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้างจำกัด เพื่อเป็นผู้ดำเนินการในโครงการดังกล่าวแล้ว แต่เชื่อว่าหากไม่มีแรงกดดันคงลงนามไปแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลหวั่นไหวพอสมควร อย่างไรก็ดีการหารือระดับแกนนำพรรค อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะยังคงเกิดขึ้นช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ และนายยุทธพงศ์จะแถลงรายละเอียดอีกครั้งวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย จะเข้าร่วมหารือระดับแกนนำด้วย

“นอกจากนั้นยังมีการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานการประปาส่วนภูมิภาค ที่ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ให้คัดค้านจ้างบริษัทเอกชนเข้าดำเนินการบริหารจัดการน้ำสู่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด เพราะเหมือนกับรัฐบาลทุบหม้อข้าวหม้อแกงเขา ให้บริษัทเอกชนมาดำเนินกิจการ ทั้งที่อีสวอร์เตอร์ เป็นบริษัทที่มีรัฐวิสาหกิจถือหุ้นใหญ่” นายพิเชษฐ กล่าว

นายพิเชษฐ กล่าวด้วยว่า กรณีเรื่องการหาผู้บริหารท่อส่งน้ำ ที่รัฐบาลให้เหตุผลว่าเลือกบริษัทวงษ์สยาม นั้นเพราะให้ผลตอบแทนแก่รัฐที่สูงกว่า ซึ่งตนมองว่าไม่ถูกต้อง เพราะบริษัทเอกชนรายดังกล่าวเข้ามาแบบไม่มีต้นทุนเหมือนบริษัทอีสวอร์เตอร์ ที่ลงทุนวางท่อให้กับรัฐ เมื่อ 29 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นการพิจารณาคัดเลือกจึงควรพิจารณาในเรื่องดังกล่าวด้วย อีกทั้งตนมองว่าเรื่องดังกลาวต้องหาผู้รับจ้างใหม่ผ่านการประกวดราคาโดยอีบิดดิ้งและเชิญบริษัทใหญ่ที่มีประสบการณ์ ทั้ง อีสวอร์เตอร์, ช.การช่าง, การประปานครหลวง, การประปาส่วนภูมิภาค เข้าร่วม ซึ่งตนเชื่อว่าจะทำให้รัฐได้ผลตอบแทนที่มากกว่า 2.5หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจได้มากถึง 3หมื่นล้านบาท ด้วย

นายพิเชษฐ กล่าวด้วยว่าสำหรับการพิจารณาลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น เบื้องต้นจะพิจารณาข้อมูลของฝ่ายค้านว่าสามารถชี้ชัดว่าผู้บริหารทำความเสียหายให้ประเทศมากขนาดไหน ทั้ง โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด รถไฟฟ้า เรือดำน้ำที่ไม่มีเครื่องยนต์ รัฐบาลต้องนำเอกสารมาแสดงต่อสภา และฝ่ายค้านต้องตรวจสอบให้เต็มที่

“ผมอยู่ฝ่ายรัฐบาล แต่ไปกินข้าวกับฝ่ายค้าน ถือเป็นมิติใหม่เพื่อเรียกศรัทธาคืนมาให้กับรัฐสภา มีแค่คนบอกว่าผมทำสภาล่ม ไม่คุ้มเงินเดือน แต่ผมจับมือฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบสิ่งที่เป็นความเสียหาย เมื่อผ่านการอภิปรายคนเป็นรัฐบาลรอบหน้า จะทำโครงการต้องระวัง เพราะมีตรวจสอบเพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดินทางอ้อม ส่วนประโยชนือะไรผมไม่สนใจ” นายพิเชษฐ์ กล่าว

เมื่อถามว่าส.ส.ในกลุ่ม16 เมื่อบวกกกับกลุ่มของร.อ.ธรรมนัส อีก 18 เสียง จะมีพลังล้มรัฐบาลได้หรือไม่ นายพิเชษฐ กล่าวว่า กลุ่มของตนมี16+2 เชื่อแน่ว่าเมื่อรวมกันรัฐบาลอยู่ไม่ได้แน่ แต่ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เมื่อถามว่ามองว่าปัจจัยอะไรที่จะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้บ้าง นายพิเชษฐ กล่าวว่า คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนประเด็นอื่นๆ เช่น วาระนายกฯ ห้ามดำรงตำแหน่งเกิน8 ปี , ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประะจำปี ล้มไม่ได้ ที่ผ่านมาไม่เคยมีการล้มรัฐบาลผ่านการลงมติไม่ผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณ อย่างไรก็ดีตนเชื่อว่านายกฯ ที่แสดงเจตนารมณ์อยู่ในวาระจนถึงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (เอเปค) ปลายปี2565 นั้น จะประคองให้ไปถึงจุดนั้น โดยการถอดชนวนในประเด็นต่างๆ แต่กรณีของงานบริหารท่อส่อน้ำนั้น จะยื่นให้กรรมาธิการของสภาฯ ตรวจสอบ เช่น กมธ.กิจการสภาฯ กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ตรวจสอบ

เมื่อถาม เกิดอุบัติเหตุจนถึงหลุดเก้าอี้ นายพิเชษฐ กล่าวว่า "ยาก เพราะท่านอยู่ได้ ซึ่งส.ส.กลุ่ม16+2 เคยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดัน ร่างพ.ร.บ.บำนาญผู้เกษียณอายุ ซึ่งรัฐบาลระบุว่าจะผลักดันเข้าสภาฯซึ่งพวกผมต้องดูแลให้ท่านอยู่ไปจนกว่าร่างกฎหมาประกาศใช้ เพราะนายกฯ ต้องลงนามเพราะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน เหตุผลที่พรรคเล็กต้องการผลักดัน เพื่อเป็นผลงานที่สามารถนำไปหาเสียงกับผู้สูงอายุ 12 ล้านคนในการเลือกตั้งครั้งหน้าและทำให้พรรคเล็กได้กลับเข้าสภา ซึ่งผมไม่สนใจเรื่องกล้วย แต่สนใจผลงานที่จะเกิดขึ้นในสภา"

ด้าน นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคเศรษฐกิจไทย กล่าวว่า การที่เราลงพื้นที่หนักมาก แน่นอนว่าเราต้องการที่จะได้ส.ส.มากขึ้น คำว่าลงพื้นที่เยอะเราทำแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนที่จะมาอยู่พรรคนี้ แต่ตอนนี้เข้มข้นขึ้น เพราะท่านหัวหน้า กับท่านเลขาฯพรรคเน้นย้ำให้พบชาวบ้านเยอะๆ แล้วจะเถียงไม่ได้เลยว่าระยะเวลาการเป็นส.ส.เหลือน้อยแล้ว คือเหลือไม่ถึงปี ก็ต้องแอ็คทีฟมากกว่าเดิม ถามว่าจะเกิดอุบัติทางการเมืองก่อนหรือไม่ ผมอยู่การเมืองมานาน เอาเป็นว่าถ้าเราเป็นส.ส. 1 สมัย อยู่เกินสองปีก็ว่านานแล้ว ที่เหลือเป็นกำไรแล้ว เพราะตอนนี้อยู่มา 3 ปีกว่า ผมมองว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ เราพร้อมในการเลือกตั้ง

นายไผ่ กล่าวต่อว่า การที่ท่านเลขาฯพูดสนับสนุนพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นนายกฯสำรองหรือนายกฯคนนอกนั้น ออกมาในลักษณะนักข่าวถามมากกว่า แต่อย่างที่ทุกคนรู้เส้นทางข้างหน้า จะมีการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการอยู่ในวาระ 8ปี ซึ่งเราไปสั่งศาลไม่ได้ แต่เราคิดได้ว่าถ้ามีเหตุการณ์อย่างนี้จะต้องทำอย่างไร เราคิดก่อนเฉยๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แล้วผมถามว่าคนที่จะเข้ากับทุกคนได้ในสภา เป็นคนที่มีบารมี มีพระเดชพระคุณ ก็ต้องยอมรับว่าพล.อ.ประวิตร เป็นคนนั้นในมุมของเรา เข้ากับทุกพรรคได้ ไม่เช่นนั้นใครจะมายกมือให้ เพราะถ้ามีเหตุการณ์นี้ก็เป็นวิกฤตการเมือง ที่เราคิดก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นแบบนั้น วันนี้เราคิดแบบนี้ก็เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนรู้ ไม่พูดวันนี้ ก็ต้องพูดสักวัน

ส่วนจุดยืนเรื่องการพิจารณาพรบ.งบประมาณ เอามาเล่นการเมืองว่าจะไปล้มรัฐบาล มันไม่ถูกต้อง เพราะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านและประเทศต้องการ ยิ่งด้วยภาวะโควิดเป็นเรื่องสำคัญ ผมคิดว่าคงไม่ถึงขั้นนั้นหรอก ยกเว้นมีเรื่องที่รับไม่ได้จริงๆ แต่คิดว่าคงไม่มี แต่ส่วนเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ต้องรอดูกัน พรรคเศรษฐกิจไทยจะเป็นคลายๆ คนให้คะแนนมากกว่า วันนี้ยังไม่เห็นข้อมูลฝ่ายค้าน จะให้ตอบว่าหนุนใครคงจะตอบยาก

นายไผ่ กล่าวต่อว่า ส่วนกับกลุ่ม 16 ของนายพิเชษฐ์ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เรายังไม่ได้คุยอะไรกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่เราจับตาอยู่ ปัญหาของกลุ่ม 16 คือเกิดจากเขามีปัญหาภายในพรรคกันเอง เราไม่ได้เป็นคนทำ เราก็ได้แต่จับตาดู ยังไม่ได้พูดคุยกัน จะรวมหรือไม่รวมยังบอกไม่ได้ ต้องดูสถานการณ์ตอนนั้น แต่จะจำนวนเสียงไม่ว่าจะเป็นของกลุ่ม 16 หรือพรรคเศรษฐกิจไทย ก็มีผล เป็นอย่างนี้ก็ดี เราจะได้เรียกร้องอะไรได้บ้าง