posttoday

นับถอยหลังลุ้นรายวัน... เปิดเมืองสู่เฟส 2

09 พฤษภาคม 2563

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

********************

ไม่ต้องรอถึงวันที่ 17 พ.ค. ที่รัฐบาลจะตัดสินว่า จะคลายล็อคเฟส 2 ผ่อนปรนทำกิจกรรมอื่นๆ ได้มากขึ้น

เอาให้ชัวร์อีกที น่าจะอยู่ในช่วง 5 วันนี้คือ ระหว่างวันที่ 9-15 พ.ค.ที่จะรู้ว่า หมู่หรือจ่า เพราะ 7 วันพอดีจากที่รัฐบาลเริ่มปลดล็อคผ่อนคลายทำกิจกรรมได้เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา

แต่แนวโน้มรัฐบาลเปิดเมืองแน่ รวมถึงเตรียมปลดล็อคห้างสรรพสินค้า 14-15 พ.ค. นี้เร็วกว่ากำหนด

เราได้เห็นประชาชน เริ่มออกมาใช้ชีวิต ออกกำลังกาย เปิดร้านค้า ขายของ ร้านตัดผม มีความหวังที่จะไม่อดตาย กลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติ

ตัวเลขผู้ป่วยดูดียืนหลักเดียวมาร่วมสัปดาห์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (ศบค.) ยืนยันว่า ที่ผ่านมาหลายมาตรการได้ออกมาเพื่อปิดช่องทุกอย่าง ทั้งการตรวจหาเชื้อเพิ่ม ล็อคดาวน์ ควบคุมการเดินทางเข้าออก สแกนกลุ่มเสี่ยงแรงงานต่างด้าว กลุ่มศาสนาที่เดินทางกลับสามจังหวัดภาคใต้ กระทั่ง คนไทยที่ขึ้นเครื่องเดินทางกลับจากต่างประเทศในแต่ละวัน

จนเกิดผลสำเร็จผู้ป่วยลดลง เป็นข่าวดีรายวัน

แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจไป

ย้อนกลับอีกที หลังจากเริ่มคลายล็อควันแรก 3 พ.ค. ปรากฏรูรั่วหลายจุดที่น่ากังวลว่า ตัวเลขผู้ป่วยจะพุ่งกลับ ไปสู่การระบาดระลอกสองหรือไม่

ก็จากนโยบายที่ไม่ชัดเจน ความประมาทของฝ่ายปฏิบัติที่เปิดช่องจนไม่สามารถคุมความอัดอั้นของผู้คนที่ถูกกักตัวมานานได้

พอคลายล็อคก็ออกจากบ้าน ทั้งความจำเป็นกลับภูมิลำเนา ความอึดอัดที่มีมานาน แห่ออกไปเที่ยวต่างจังหวัด และต้องเดินทางกลับไปทำงานตามปกติ

ผู้คนไม่น้อยเมินคำสั่งรัฐบาล ออกเดินทางไปต่างจังหวัดวันที่ 1 พ.ค. วันแรกของเทศกาลหยุดยาว 6 วัน ถนนไปภาคเหนือ อีสาน คราคร่ำด้วยผู้คน ยอดคนเดินทางพุ่งเทียบจากสัปดาห์ก่อนหน้ามากถึง 2 แสนคน

ที่จ.ภูเก็ต แรงงานตกค้างออกเดินทางจากเกาะหลายพันคนจากยอดที่แจ้งไว้ 4 หมื่นคน จนในช่วงเย็น เจ้าหน้าที่ต้องรีบปิดเกาะกลัวสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดไปจังหวัดอื่น ที่จ.ตราด พบว่า มีคนเดินทางมาเที่ยวจำนวนมากเช่นกัน จนเจ้าหน้าที่ต้องย้ำว่า ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นจะไม่ให้ข้ามจังหวัด และต้องกักตัว 14 วัน

เป็นภาพที่ตกใจ คาดไม่ถึงว่า ผู้คนจะออกกันทะลักมากมายขนาดนี้ ทั้งที่ ศบค.เสนอให้ย้ายวันหยุดนักขัตฤกษ์ในเดือนพ.ค. ที่มี 4 วันออกไปก่อน เพราะกลัวภาพที่เกิดอย่างที่เห็น แต่ครม.กลับไม่เห็นด้วยและคงเทศกาลวันหยุดตามเดิม มั่นใจว่า คุมสถานการณ์ได้

นี่คือ การประเมินสถานการณ์ผิดพลาดของรัฐบาล ศบค.บอกว่า ผลจากการแห่เดินทางครั้งนี้จะสะท้อนอีกทีในอีก 14 วันถัดไป หรือ วันที่ 15 พ.ค.ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดระลอกสองหรือไม่

บททดสอบแรกยังไม่ทันไร วันต่อมาก็เกิดปรากฎการณ์ แห่ไปซื้อเหล้า เบียร์กันจนแม็คโครแทบแตก หลังจากปลดล็อคให้กลับมาขายได้

ภาครัฐ ศบค.รู้ดีอยู่แล้วว่า เมื่อปลดล็อคแล้ว จะเกิดอาการระเบิดของผู้คน แต่ก็พลาดท่าง่ายๆ

บทเรียนที่เกิดขึ้น นึกว่าจะปิดช่องโหว่ในกิจกรรมอื่นที่เตรียมปลดล็อคเพื่อไม่ให้เกิดการรวมตัวของผู้คน แต่ก็มาสยองอีกรอบกับการที่ ผู้คนหลั่งไหลเบียดเสียดกันไปขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสไปทำงานเมื่อวันที่ 5 พ.ค. วันทำการแรกที่เริ่มคลายล็อค

กระทรวงคมนาคมรายงานว่า วันนั้น มีผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มถึง 2 เท่าตัวหรือ เกือบ 4 แสนคน จากสภาวการณ์ช่วงวันศุกร์ที่ 1 พ.ค. ก่อนคลายล็อคที่มีเพียง 188,989 คน

ชั่วโมงเร่งด่วนทั้งรอบเช้า เย็น ไม่มีการเว้นระยะห่าง ไปทำงานกลับบ้าน แน่นกันทั้งขบวน ไหล่ชนไหล่ หายใจรดต้นคอ ถ้าใครคนนึงเกิดมีเชื้อไวรัสโควิดขึ้นมา ก็คงแพร่กันเป็นร้อย อย่าลืมว่า ปกติแล้วผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการจะมีเกือบ 30-50% โอกาสเล็ดรอดแพร่เชื้อเกิดขึ้นทุกวินาที

ปัญหาของเรื่อง มาจากนโยบาย Work From Home (WFH) ที่ภาครัฐเคยย้ำเป็นมาตรการสำคัญ แม้จะบอกว่า จะคงอยู่ แต่ในทางปฏิบัติมันคลายล็อคไปพร้อมๆกัน ทั้งเอกชน หรือ แม้แต่หน่วยงานรัฐเองก็เหอะ เพราะเห็นว่า ปลดล็อคออกนอกบ้านได้แล้ว ตัวเลขผู้ป่วยลดลง เมื่อผ่อนปรนก็เดินทางมาทำงานได้ ขณะที่ กทม. และ ผู้บริหารรถไฟฟ้า ลืมคิดว่า ผู้คนจะมาโดยสารกันมืดฟ้ามัวดินเช่นนี้ จึงไม่มีมาตรการรองรับ ทั้งการจัดระเบียบ ระยะห่าง จำกัดจำนวนคนต่อเที่ยว การเพิ่มรอบวิ่งให้ถี่ในชั่วโมงเร่งด่วน

มารู้อีกก็เกิดเหตุไปแล้ว 2 แสนคนที่โดยสารพรวดเพิ่มในวันเดียวยิ่งกว่าชุมนุมทางการเมือง ก็ภาวนาว่า จากนี้ขอไม่ให้มีการแพร่เชื้อ

ท่านโฆษก ศบค.บอกว่า เราทำดีมาตลอด ถ้าการ์ดตก แค่วันเดียว วินัยความร่วมมือที่ทำมาเป็นเดือนก็อาจเป็นศูนย์

เรื่องนี้โทษประชาชนไม่ได้ คงเป็นภาครัฐ กทม.ที่การ์ดตกเอง เมื่อภาครัฐไม่เน้นย้ำนโยบาย WFH อย่างจริงจัง ไม่ส่งสัญญาณให้เข้มแข็ง หลายองค์กรจึงยืดหยุ่น คนก็ต้องเดินทางมาทำงาน แต่ก็ถือว่า แก้ปัญหาได้เร็ว กทม. –รถไฟฟ้า ตั้งหลักได้ ส่งเจ้าหน้าที่มาจัดระเบียบโดยสาร เว้นระยะห่างเข้ม จำกัดจำนวนคนในแต่ละเที่ยว และเพิ่มขบวนรถไฟฟ้าในช่วงเร่งด่วน

ที่ขัดกันในตัวเอง คือ รัฐบาลบอกว่าเพื่อแก้ปัญหานี้ ต้องหาทางออกด้วยมาตรการทำงานเหลื่อมเวลา ให้เข้าช้า เข้าสายลดการมาออกันที่ระบบขนส่งสาธารณะ แล้วภาครัฐจะเอาอย่างไรกับนโยบาย WFH หัวใจสำคัญในยุค new normal ทั้งที่ สถานการณ์โรคระบาดตอนนี้ยังประมาทไม่ได้ อะไรที่ยังต้องขึงตึงก็ควรต้องคงไว้

ผู้คนเลยก่นด่าในโลกออนไลน์ถึง “ภาพสยองรถไฟฟ้า” ทำไมไม่คุมให้ดี ทีเดินทางกลับต่างจังหวัดหาว่าผิด ดื่มเหล้าหาว่า มั่วสุมผิด แย่งซื้อเหล้าผิด นั่งร้านอาหารผิด คนแห่กลับบ้านผิด นั่งชายหาดผิด ไปรับของแจกข้าวสาร ผิด แล้วนี้มันคืออะไร ถ้าแน่นเอี๊ยดอย่างนี้ เปิดห้าง เปิดร้านอาหาร ให้เขาทำมาหากินเถอะ!!!!

ขอบอกว่า การโดยสารสาธารณะเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงที่อาจมีการแพร่ระบาดได้สูงมากกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น เช่นเดียวกับ การนั่งเรือในคลองแสนแสบก็เกิดประเด็นน้องๆรถไฟฟ้าเหมือนกัน เพราะมีคนกลับมาใช้บริการมากกว่า 1 เท่า จากช่วงล็อคดาวน์ 5,000-6,000 คนต่อวัน ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 กว่าคนต่อวัน ประชาชนเองให้ความร่วมมือ สวมแมสทุกคน ภาครัฐต้องเข้มงวด จัดเจ้าหน้าที่มากำชับ ควบคุมการเว้นระยะห่างทุกจุดให้ดีๆ อย่าการ์ดตกเด็ดขาด

ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่ต้องรีบปิดจุดอ่อนก่อนจะสายเกินแก้ เช่น ตลาดสด ตลาดนัดตามชุมชนนับพันๆ แห่งในกทม. หรือ ในจังหวัดที่ระบาด ซึ่งทางกายภาพตลาดนัด ไม่เอื้อต่อการเว้นระยะห่างอยู่แล้ว หลายวันที่ผ่านมาหลายแห่งก็มีภาพออไปซื้อของ หนักกว่าไปนั่งกินในร้านอาหารด้วยซ้ำ

แน่นอนเป็นเรื่องที่เราต้องเห็นใจ และสนับสนุนให้ผู้ค้าขายทำมาหากิน เพื่อความอยู่รอด แต่ก็ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ที่ออกมา ผลกระทบส่วนรวม เพราะหากมีแพร่ระบาดรอบสองถึงวันนั้นต้องปิดเมืองไปอีกนาน

ก่อนจะผ่อนคลายเฟส1จะไปเฟส 2 วันที่ 17 พ.ค. ต้องร่วมมือทั้งสองฝ่าย ประชาชนและเจ้าหน้าที่ ธรรมชาติของมนุษย์ก็ถูกขึงตึงซักพัก ก็ต้องการการผ่อนปรน การขอความร่วมมืออาจไม่เข้มข้นเท่ากับมีกติกา บทควบคุมจากเบาไปหนัก ตอนนี้เราเริ่มเห็นบางคนหย่อนๆ ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่าง ทุกฝ่ายต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้ และต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด อย่าลืมว่าเราอยู่ในภาวะไม่ปกติทั้งโลก

ถ้าภายใน 5 วันนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่พุ่งขึ้น ทั้งที่เราเปิดคาง มีรูรั่วให้เห็นหลายจุดแล้ว ก็ต้องบอกว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยอาจน้อยลงจริงอย่างที่หวังไว้ก็ได้ เพราะหลายคนยังกังวลผู้ติดเชื้อแฝงที่ไม่แสดงอาการ

ถ้าไม่ตายน้ำตื้นเหมือนที่หลายประเทศเผชิญ โอกาสที่เราจะกลับมาเดินหน้า ใช้ชีวิตได้ปกติได้เร็วก็มีเมื่อนั้น