posttoday

นักการเมืองรุกป่า ต้องจัดการมาตรฐานเดียวกัน

07 ธันวาคม 2562

ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

**************************

การดำเนินคดีกับนักการเมืองข้อหารุกป่าสงวนต้องทำอย่างจริงจังให้เป็นแบบอย่างให้เห็นว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านมักถูกดำเนินคดีข้อหารุกป่า โดนปรับ เข้าคุกเข้าตารางไปหลายราย ที่สำคัญ ยังเชื่อว่า มีนักการเมืองระดับชาติ ท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพล นายทุนอีกมากที่รุกป่า จับจองที่ดินหลวง สร้างคฤหาสน์ รีสอร์ทหรู ลอยนวลอยู่เหนือกฎหมาย

กรณี  ปารีณา ไกรคุปต์  ส.ส.พรรคพลังประชารัฐสังกัดรัฐบาล ถูกกรมป่าไม้เข้าแจ้งความ 4 ข้อหา รุกป่าสงวนเนื้อที่  46 ไร่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ในพื้นที่เขาสนฟาร์มที่เจ้าตัวทำฟาร์มไก่ 1,700 ไร่  ซึ่งเธอแจ้งบัญชีทรัพย์สินเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2562 ว่า มีรายได้จากการเลี้ยงไก่ 109.9 ล้านบาท และเลี้ยงวัว 6.7 แสนบาทต่อปี  แต่ก็มีรายจ่ายจากฟาร์มไก่ 107.7  ล้านบาทต่อปีเช่นกัน

โทษของการรุกป่าสงวน หากพบว่า ผิด ต้องจำคุก 2- 15 ปี ปรับ 1.5 ล้านบาท  ไม่เท่านั้น ที่ดินสปก.ที่ ปารีณา ถือครองอยู่ยังถูกริบคืนอีก 682 ไร่ เพราะได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ปารีณา ปัจจุบันอายุ 44 ปี เป็น สส.สมัยที่ 4  ย้ายสังกัดเข้าพรรคต่างๆทั้งพรรคไทยรักไทย พรรคชาติไทย เป็นทายาท “ทวี ไกรคุปต์” อดีตรมช.คมนาคม นักการเมืองฝีปากกล้า

สำหรับ ทวี ผู้พ่อ เคยสร้างวีรกรรมในพรรคประชาธิปัตย์ 20 ปีก่อน สมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล มี นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค  ตอนนั้น ทวี เป็น ส.ส.ราชบุรี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าตัวได้ออกมาขย่มนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หลังมีข่าวว่า ไม่พอใจที่ไม่ได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรี และตำแหน่งประธานกรรมาธิการกิจการคมนาคม เนื่องจากถูก นายสุเทพ สกัด นายทวีจึงเปิดศึกแฉ นายสุเทพ ในฐานะ รมว.คมนาคมว่าบริหารงานไม่โปร่งใสในโครงการสื่อสัญญาณความเร็วสูง หรือ เอสดีเอช  พร้อมทั้งออกมาท้าทีท้าต่อยคนในพรรค  จนพรรคประชาธิปัตย์ตั้งกรรมการสอบก่อนจะมีบทลงโทษด้วยการภาคทัณฑ์นายทวี หาว่าเคลื่อนไหวไม่สุจริต

กลับมาคดีรุกป่าของ ปารีณา  นอกจากเธอจะถูกยึดที่คืนแล้ว ยังพ่วงถูกเอาผิดคดีอาญาและอาจถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งในอนาคตอีก ขณะที่ ป.ป.ช.กำลังตรวจสอบว่า มีการแจ้งการถือครองที่ดินเป็นเท็จหรือไม่

นึกไม่ถึง “ดาวรุ่ง” ในซีกของพรรคพลังประชารัฐ ที่ออกมาวาดลวดลาย เป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล คอยต่อกรกับ “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ จะตกม้าตายอย่างรวดเร็ว สะท้อนว่า การจะตรวจสอบใคร ตัวเองต้องโปร่งใส ไม่มีบาดแผลก่อน และอย่าชะล่าใจว่า การเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแล้วจะมีอำนาจรัฐคอยช่วยเหลือ ซึ่งแม้แรกเริ่มคดีนี้พรรคพลังประชารัฐทำท่าจะออกมาปกป้อง “ปารีณา”ว่าไม่ผิด แต่เมื่อผลตรวจสอบพบว่า มีการรุกที่จำนวนมาก จึงยากที่จะอุ้มได้ มิฉะนั้น เรือสนิมเหล็กจะพังลำ

กรณี “ปารีณา” เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินคดีให้เป็นเยี่ยงอย่าง หัวหน้ารัฐบาลต้องส่งสัญญาณให้สังคมเห็นว่า เอาจริงกับพวกรุกป่า โดยเฉพาะพวกนักการเมืองระดับชาติ นักการเมืองท้องถิ่น นายทุน ที่มักหลุดรอดคดีด้วยเหตุมีอำนาจรัฐคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

“ปารีณา”อาจไม่ใช่กรณีเดียวที่ถูกดำเนินคดีครั้งนี้  “ศรีสุวรรณ จรรยา” นักร้อง ยังได้ยื่นเรื่องให้เอาผิด 10 ส.ส.จากพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน หลังพบว่านักการเมืองเหล่านี้ถือครอบครองที่ดินคล้ายกับปารีณา คือ  มีการครอบครองที่ดินประเภท ภ.บ.ท.5 และ ส.ป.ก. กันเป็นจำนวนมาก ขาดคุณสมบัติของการมีสิทธิครอบครอง

ที่ดิน ภ.บ.ท.5 หรือ ภาษีบำรุงท้องที่ เรียกกันว่า “ภาษีดอกหญ้า” เป็นเพียงเอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่  ไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิครอบครองที่ดิน เพราะเจ้าของที่ดินก็ยังคงเป็นของราชการ และส่วนมากก็เป็นที่ป่าสงวน  สส.บางรายกลับถือครองเป็นร้อยเป็นพันไร่

ส่วนที่ดินประเภท ส.ป.ก.  เจตนารมณ์ของกฎหมาย กำหนดไว้ชัดเจนว่าผู้ที่จะมีสิทธิยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินปฏิรูป ต้องเป็นเกษตรกรเป็นหลัก มีฐานะยากจน รายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี หรือต้องเป็นบุตรของเกษตรกรเท่านั้น น่าประหลาดที่ว่า นักการเมืองกลับเข้าไปถือครองได้  กรณีปารีณาอ้างว่า ตนเองเป็นเกษตรกรเพราะทำฟาร์มไก่จึงฟังไม่ขึ้น

บทเรียนที่เคยเกิดขึ้นมีให้เห็น ประเด็นการแจกที่ดิน สปก. ครั้งอื้อฉาวสั่นคลอนรัฐบาลมาแล้ว สมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย ต้องยุบสภา เพราะนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมช.เกษตรขณะนั้น แจกที่ดินสปก. ให้กับกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดตัวเอง ทั้งที่ไม่เข้าข่ายเป็น เป็นเกษตรกร จนฝ่ายค้านนำมาเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อ 25 ปีก่อน

รัฐบาลคสช. ที่ผ่านมา มีนโยบายจัดระเบียบที่ดินสปก.ทั่วประเทศ หลังพบช่องโหว่ บรรดานายทุน นักการเมือง เข้าไปถือครองผิดกฎหมาย เป็นจำนวนมาก สำนักงานส.ป.ก.ระบุว่า ระหว่างปี 2558-2559  มีที่ดิน ส.ป.ก. 40 ล้านไร่ทั่วประเทศ มีการจัดสรรให้เกษตรกรไปใช้ทำประโยชน์ไปแล้ว 36 ล้านไร่ เหลือที่ยังจัดสรรไม่ได้ 4 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีการรังวัดแล้ว 2 ล้านไร่ และทยอยจัดสรร ส่วนอีก 2 ล้านไร่ที่ยังไม่ได้รังวัด และยังไม่เข้าระบบตรงนี้ที่เป็นปัญหารุกที่ เพราะมี ส.ส. นักการเมืองและ ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นถือครองไปสร้างรีสอร์ท ที่พัก

ไม่น้อยทีเดียว ที่ส.ป.ก.เกือบ 2 ล้านไร่ ที่เป็นช่องว่างให้ นายทุนครอบครองอย่างผิดกฎหมาย แถมยังไม่ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวทั้งหลาย ไปทำบ้านพัก ร้านอาหาร ซื้อที่ต่อจากชาวบ้านและสะสมเป็นแปลงขนาดใหญ่ เซ้งต่อกันราคาแพง 

การรุกที่ป่าสงวนจำนวนมาก สะท้อนถึงความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และไม่เสมอภาค เพราะไม่สามารถเอาผิดกับกลุ่มนายทุน นักการเมือง รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐอีกจำนวนมาก ที่รวมหัวกันเป็นอาชญากรเศรษฐกิจ  แม้ว่า ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เริ่มมีการทำคดีฟ้องรุกป่าขึ้นศาล เอาผิดให้บ้าง แต่ก็ยังน้อยเมื่อเทียบการรุกที่ป่าสงวนที่เกิดขึ้นจริง

ขบวนการรุกป่ามีกันเกลื่อน เรียกได้ว่า แตะที่ไหน ก็เจอการกระทำผิดกฎหมายที่นั่น เน้นพื้นที่วิวสวยๆ เช่น  อ.วังน้ำเขียว อ.ปากช่อง อ.เขาใหญ่ นครราชสีมา หรือ ในเชียงใหม่ จันทบุรี เพชรบูรณ์ ภูเก็ต กาญจนบุรี เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

นักการเมือง นายทุน ผู้มีอำนาจเหล่านี้ แจกจ่ายผลประโยชน์ให้ข้าราชการประจำเพื่ออนุญาตให้ถือครองที่ดิน โดยมิชอบ ทำโรงแรม สนามกอล์ฟ ที่จอดเฮลิคอปเตอร์  สนามแข่งรถ เปิดสวนสนุก ทำสวนน้ำ

แม้กรมป่าไม้บอกว่า ปี 2561 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น จากมาตรการของ คสช. ที่ป้องกันและปราบปรามการบุกรุกป่าเข้มข้นและ นโยบายทวงคืนผืนป่าที่ยึดคืนพื้นที่ป่าจากนายทุน โดยพบว่า ปี 2561  ไทยมีผืนป่าอยู่ 102.4 ล้านไร่ เทียบกับปี 2560 อยู่ที่ 102.1 ล้านไร่  เพิ่มขึ้น 3.3 แสนไร่ หรือเท่ากับจ.ภูเก็ตทั้งจังหวัด

แต่เชื่อว่า ผู้อยู่เหนือกฎหมาย ยึดที่หลวง บุกรุกป่า กลั่นแกล้งชาวบ้าน ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ถูกดำเนินคดี  รัฐบาลจึงไม่ควรลูบหน้าปะจมูกทำคดีปารีณาเป็นแค่ไฟไหม้ฟางเท่านั้น

******************************