posttoday

ฝุ่นตลบ!!! 10มุ้งการเมืองพปชร.เปิดศึกชิงเก้าอี้รัฐมนตรีสะเทือนตั้งรัฐบาล

29 พฤษภาคม 2562

"พปชร."ป่วนหนักกลุ่มการเมืองแห่ทวงเก้าอี้รัฐมนตรีส่งผลกระทบแผนเจรจาพรรคร่วมสะดุด

"พปชร."ป่วนหนักกลุ่มการเมืองแห่ทวงเก้าอี้รัฐมนตรีส่งผลกระทบแผนเจรจาพรรคร่วมสะดุด

ถึงนาทีนี้ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กลายเป็นพรรคที่มีปัญหามากที่สุด เนื่องจากการเกลี่ยตำแหน่งโควต้ารัฐมนตรีกันไม่ลงตัว จนไปกระทบพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่ม 3 มิตรของ "สมศักดิ์ เทพสุทิน" แกนนำกลุ่มที่ไม่ยอมยกเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้พรรคประชาธิปัตย์ ส่งผลให้การเจรจากับพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีข้อยุติ และทำให้การประชุมคณะกรรมการบริหารและส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะต้องพิจารณาว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ ต้องเลื่อนออกไปเพราะยังไม่ชัดเจนว่าจะโควต้ากระทรวงใดบ้าง

ความไม่ชัดเจนเรื่องโควต้ารัฐมนตรีของพรรคพปชร.นอกจากจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาแล้ว ยังส่งผลทำให้พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งมีอยู่ 10 ที่นั่งน้อยใจไปด้วยพร้อมกับออกมาขู่ว่า ถ้าพรรคพปชร.ยังนิ่ง ไม่ตอบรับอะไรเลย ตามที่พรรคชาติไทยเสนอไปก็จะขอทำหน้าที่เป็นกลางคือไม่ร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน

ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นเอกภาพในพรรคพลังประชารัฐนั่นคือ การมีกลุ่มมุ้งการเมืองมากในพรรคจำนวนมาก ซึ่งว่ากันตามจริงแล้วพรรคพลังประชารัฐเกิดขึ้นเป็นการรวมตัวหลวมๆของกลุ่มทหารและนักการเมือง ซึ่งบางคนมาอยู่เพราะถูกดูด ถูกบีบ และมาด้วยเงื่อนไขสารพัด และเมื่อลงสนามเลือกตั้ง ทางกลุ่มคสช.สายบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และกลุ่มของ นายณัฐพล รับผิดชอบเรื่องทุนที่ใช้ในการเลือกตั้ง

ครั้นเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา หัวหน้ากลุ่มมุ้งการเมืองก็รวบรวมส.ส.ทั้งในพื้นที่จังหวัด หรือบางคนก็ไปตกเบ็ดจังหวัดอื่นมารวมกันเป็นกลุ่มก้อน เพื่อทวงเก้าอี้รัฐมนตรีทันที โดยไม่สนว่าทุนที่ใช้ในการเลือกตั้งเป็นทุนใคร เพราะรู้ว่าทุกเสียงทุกคะแนนมีความหมาย ทำให้ส.ส.ทุกคนมีค่าตัว เพราะการตั้งรัฐบาลปริ่มน้ำทุกเสียงมีค่า จึงทำให้เกิดความโกลาหลขึ้นในพรรค แม้แต่พล.อ.ประวิตร ก็เอาไม่อยู่

สำหรับกลุ่มการเมืองในพรรคพลังประชารัฐประกอบด้วย 1. กลุ่มทหาร นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร ซึ่งกลุ่มนี้ ต้องโควต้ากลาง คือ พล.อ.ประวิตร เป็นรองนายกรัฐมนตรีควบรมว.กลาโหม "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ

2.กลุ่มนายสมคิด ประกอบด้วยอดีตรัฐมนตรี 4 ยอดกุมาร ที่ลาออกไปตั้งพรรคพลังประชารัฐคือ "อุตตม สาวนายน" หัวหน้าพรรค ซึ่งเวลานี้ถูกจัดวางเป็นรมว.คลัง "สุวิทย์ เมษินทรีย์" รองหัวหน้าพรรค ซึ่งจองเก้าอี้ รมว.อุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม "สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" เลขาธิการพรรค เดิมถูกวางให้นั่งรมว.พาณิชย์ต่อไปแต่เมื่อประชาธิปัตย์ขอไปคุมแทนถึงเวลายังไม่มีเก้าอี้ชัดเจนเช่นเดียวกับ "กอบศักดิ์ ภูตระกูล" โฆษกพรรคซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ยังไม่มีตำแหน่งลง แต่ "สมคิด" การันตี 4 คนนี้ต้องมีเก้าอี้ เพราะเป็นคนที่ลาออกจากรัฐมนตรีมาลุยการเมืองก่อนใคร ถือว่าเสียสละต้องตอบแทน

3.กลุ่มอดีตกปปส.นำโดย "ณัฐพล ทีปสุวรรณ" และ "พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์" ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่รับผิดชอบเรื่องทุนเลือกตั้ง และยังโชว์ผลงานทำให้ชนะเลือกตั้งได้ส.ส.กทม.มา 11 ที่นั่ง ซึ่ง "ณัฐพล" ถูกวางเป็นรมว.พลังงาน ส่วน "พุทธิพงษ์" ยังไม่ชัดเจนว่าคุมกระทรวงใดแต่ต้องได้รัฐมนตรี

4.กลุ่มสามมิตร นำโดย"สมศักดิ์ เทพสุทิน -สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" และกลุ่ม"สุชาติ ตันเจริญ" ซึ่งว่ากันว่ามีส.ส.ทั้ง2ระบบในสังกัดราว 20 คน ซึ่งกลุ่มนี้วางให้"สมศักดิ์" เป็นรมว.เกษตรและสหกรณ์ "พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ" หลานชาย "สุริยะ" เป็นรมว.อุตสาหกรรม และขอตำแหน่งอื่นๆให้กับสมาชิกในกลุ่มอีก

5.กลุ่มร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ซึ่งได้รวบรวบกลุ่มส.ส.ในภาคเหนือ อาทิ พะเยา 2 คน ตาก 2 คน แม่ฮ่องสอน 1 คนและปาร์ตี้ ซึ่งเวลานี้ตัวเลขอยู่ประมาณ10 คน ขอจอง รมช.มหาดไทย

6.กลุ่มชลบุรี ของ นายสนธยา คุณปลื้ม มี 6 คน ซึ่งเดิมมีการสัญญาก่อนเลือกตั้งว่าจะให้รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ไปบริหารจัดการ แต่เวลานี้กลายเป็นว่ าโควต้านี้กลับไปอยู่ที่พรรคภูมิใจไทย จึงต้องหากระทรวงใหม่ให้กลุ่มชลบุรี

7.กลุ่มโคราช ของ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากจ.นครราชสีมา ถึง 6 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว"รัตนเศรษฐ"และเมื่อรวมกับนายวิรัช เป็น7 คน ซึ่งต้องได้รัฐมนตรีว่าการ หนึ่งกระทรวง ซึ่งนายวิรัช ต้องการนั่งเป็นรัฐมนตรีเอง

8.กลุ่มเพชรบูรณ์ นำโดย นายสันติ พร้อมพัฒน์ ซึ่งย้ายมาจากพรรคเพื่อไทยท่ามกลางกระแสถูกพลังดูด และสามารถชนะเลือกตั้ง ยกจังหวัด5คน ซึ่งรวมถึงนายสันติ เป็น 6คน ซึ่งต้องได้รัฐมนตรี1ตำแหน่งเช่นกันโดยนายสันติ ต้องการเป็นรมว.พัฒนาสังคมฯ

9.กลุ่มกำแพงเพชร ของ นายวราเทพ รัตนากร ซึ่งย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย และสามารถกลับมาได้ยกจังหวัด 4ที่นั่ง ซึ่งทางกลุ่มต้องการรัฐมนตรีให้ พ.ต.ท. ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ คนสนิทของนายวราเทพ

10.กลุ่ม 13 ส.ส.จังหวัดภาคใต้ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.ครั้งแรก และได้รวมตัวกันเรียกร้องขอให้มีการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ1ตำแหน่งและรมช.1ตำแหน่ง

ทั้งหมดนี้จึงทำให้การจัดสรรโควต้ารัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐปั่นป่วนจนทำให้ไม่สามารถไปเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นได้ และนี่เป็นสัญญาณให้เห็นว่าการตั้งรัฐบาลปริ่มน้ำย่อมทำให้เกิดการต่อรองตลอดเวลาและอาจล่มลงในไม่ช้า